‘ขอนแก่นโมเดล 2021’ สมาร์ทซิตี้ที่เกิดขึ้นได้จริง ด้วยมือคนขอนแก่น

Loading

ทั้งที่ จังหวัดขอนแก่น มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งยังอยู่ตรงกลางของภาคอีสาน จึงเป็นเมืองศูนย์กลางของการพัฒนาในหลากหลายด้าน ทว่า การที่เมืองนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ก็ย่อมทำให้มีปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านระบบขนส่งมวลชน ซึ่งภาพของระบบขนส่งมวลชนในฝันของชาวขอนแก่นนั้น ถ้าต้องรองบประมาณจากส่วนกลางก็ต้องบอกตามตรงว่าคาดหวังไม่ได้จริงๆว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไร ก่อนที่การพัฒนาเมืองใหญ่แห่งภาคอีสานของไทยจะโตไปแบบไร้ทิศทาง ภาคเอกชนและราชการส่วนท้องถิ่นของขอนแก่นจึงลุกขึ้นมาระดมสมอง สรรพกำลัง ทั้งกาย ใจ และเงินทุน วางแผนพัฒนาเมืองด้วยมันสมองและสองมือ และนี่คือต้นกำเนิดของ ขอนแก่นโมเดล

โดยต้นแบบสมาร์ทซิตี้ ที่ได้รับการพูดถึงบ่อยครั้งนี้ ได้ใช้จุดแข็งในเชิงพื้นที่กับการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และแหล่งรวมสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ เพื่อผลักดันนวัตกรรมและผลงานวิชาการในด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับโมเดลพัฒนาเมืองที่เรียกว่า “ขอนแก่นโมเดล” ได้สำเร็จ

มาในวันนี้ ขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ พูดได้ว่ามีความ “เป็นรูปเป็นร่าง” ที่กล่าวขานถึงในนาม ‘ขอนแก่นโมเดล’ เรียบร้อยแล้ว จึงได้เวลาไปส่องความคืบหน้าของเมืองต้นแบบนี้กันอีกครั้ง

บอกเล่าความเป็นมา ของดรีมทีม “ขอนแก่นพัฒนาเมือง” ตัวจักรหลัก ขับเคลื่อน ขอนแก่นโมเดล

เมืองขอนแก่นเป็นหัวเมืองใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนประชากรมากกว่า 1.7 ล้านคน เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่มีผู้คนเข้ามาภายในตัวจังหวัด เพราะมีจุดเด่น คือ มีระบบการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ มีการแพทย์เป็นอันดับ 1 ของภูมิภาค รวมไปถึง การค้าขายสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่ทำให้มีผู้คนมากมายเข้ามาภายในตัวจังหวัดขอนแก่น

ขณะเดียวกัน เมืองก็มีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ ที่เราเรียกว่า Smart city

โดยจุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวกันของภาคเอกชนและบริษัทชั้นนำในรูปแบบของ กลุ่มรักบ้านเกิด ลงขันลงทุนพัฒนาเมือง โดยมีชื่อว่า บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT, 2560

นอกเหนือจากการจัดตั้งกลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT แล้ว การดำเนินการพัฒนาเมืองขอนแก่นยังมีการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 เทศบาล โดยประกอบไปด้วย เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลสำราญ เป็นต้น

โดยมีการจัดตั้งบริษัทขอนแก่นทรานซิส ซิสเต็ม ชื่อย่อ (KKTS.) ภายใต้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เพื่อคอยเป็นหน่วยงานประสานระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นกับภาคเอกชนในการผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นด้านของ Smart Mobility 1 ใน องค์ประกอบหลักที่สำคัญของหลักการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ของจังหวัดขอนแก่น

และเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพความสมาร์ทของเมืองต้นแบบนี้ เราขอยกความโดดเด่นของ ขอนแก่นโมเดล ใน พ.ศ. นี้ มาให้ได้อัปเดตให้ได้รู้กัน

Smart Mobility ออฟ ขอนแก่นโมเดล น้อยกว่านี้ คงไม่ได้

โครงการที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ ระบบรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งถือเป็นรถไฟฟ้ารางเบาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมเส้นทางทั้งหมด 5 สาย พาดผ่านพื้นที่สำคัญอย่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่พาณิชย์ และสถานที่ราชการ

หากระบบรถไฟฟ้ารางเบาสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้กว่า 40,000 คน และยังช่วยลดการปล่อยมลภาวะได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการพัฒนาพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวและแหล่งเรียนรู้อย่างพิพิธภัณฑ์ให้กับคนในจังหวัดอีกด้วย

แผนการของขอนแก่นไม่ได้มีเพียงแค่นี้ แต่ยังให้ความสำคัญกับการคมนาคมภายในเมืองเช่นกัน โดยมีทั้งโครงการพัฒนาการเชื่อมต่อรอบบึงแก่นนครด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ‘รถแทรมน้อย’ ซึ่งได้รับมอบมาจากญี่ปุ่น รวมถึงโครงการขอนแก่นซิตี้บัส ที่ให้บริการจาก บขส.3 และสนามบิน วิ่งเป็นเส้นทางวงกลมรอบเมือง บนรถบัสมีการให้บริการ WIFi กล้องวงจรปิด พร้อมทั้งยังแอปพลิเคชันติดตามตำแหน่งของรถอีกด้วย บริการทันสมัยขนาดนี้แต่คิดค่าโดยสารประชาชนทั่วไปเพียงแค่ 15 บาทตลอดสายเท่านั้น

Smart Living คุณภาพชีวิตดีๆ มีที่ขอนแก่น

โครงการ Khon Kaen Smart Health เป็นโครงการจากความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้ให้บริการสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยในขอนแก่น เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมารองรับการพัฒนางานสาธารณสุขในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ ทั้งแผนการพัฒนาระบบเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อทำให้การแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ระหว่างภาครัฐและเอกชนสามารถทำได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น

รวมถึงการพัฒนารถพยาบาลอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล IoT และเทคโนโลยีโรโบติกส์ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยเบื้องต้น หรือเริ่มรักษาฉุกเฉินได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล

และที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปีที่แล้วก็คือ สายรัดข้อมืออัจฉริยะ ซึ่งได้เริ่มใช้กับผู้สูงอายุในขอนแก่นแล้ว 500 ราย ช่วยให้ผู้สูงอายุรับทราบข้อมูลสุขภาพของตนแบบเรียลไทม์ เช่น การออกกำลังกาย การนอนหลับ ความดันโลหิต

นอกจากนี้ยังมีระบบหลังบ้านที่เชื่อมต่อกับศูนย์สั่งการอัจฉริยะอุบัติเหตุฉุกเฉิน (IOC) ของโรงพยาบาลขอนแก่น ที่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ของผู้สวมใส่ ทำให้หน่วยฉุกเฉินสามารถเข้าถึงผู้สูงอายุที่เกิดอุบัติเหตุได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ความสำเร็จของโครงการ Khon Kaen Smart Health ถือว่าไม่ธรรมดา การันตีด้วยรางวัล IDC Smart City Asia Pacific (SCAPA) ประจำปี 2561ทีเดียว

Smart Energy ต้นแบบการผลิตไฟฟ้าใช้เอง เกิดขึ้นจริงแล้วที่ ม.ขอนแก่น

อาคารสำนักงานของกองสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นอาคารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยในขณะนี้ ที่ริเริ่มแนวคิดอาคารพลังงานสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Energy Building) โดยมีหลักการคือ ปริมาณไฟฟ้าภายนอกที่นำมาใช้ เมื่อหักลบกับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เองแล้ว การคำนวณไฟฟ้าในแต่ละรอบปีต้องมีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งเลขศูนย์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเทคโนโลยีประหยัดพลังงานในอาคาร และอาคารต้องสร้างพลังงานเพิ่มขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง

หลังจากนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงและยกเครื่องอาคารใหม่ตามแผนแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือมีการใช้พลังงานในอาคารลดลงถึง 40% อีกทั้งพลังงานที่ใช้จริงประมาณ 60% ยังได้มาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเบื้องต้นอาคารสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ประมาณ 28,000 หน่วย/ปี เฉลี่ย 80 หน่วย/วัน หรือมีการผลิตไฟฟ้าได้เกินกว่าปริมาณการใช้งานประมาณ 8% เลยทีเดียว

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/07/01/khonkaen-smart-city-model-2021/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210