แนวคิดในการสร้าง “ย่านนวัตกรรม” หรือ Innovation District ได้ถูกนำมาปรับใช้ในหลายประเทศ ด้วยจุดประสงค์ในการวางแผนและออกแบบพื้นที่และสังคมเมือง ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในแต่ละพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการภาคเอกชน ภาคสถาบันการศึกษา และภาคสังคม เพื่อพัฒนาเมืองหรือย่านให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมให้รวมกันเป็นคลัสเตอร์
โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือ และกลไกที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยรอบ ในแต่ละย่านนั้นจะมีพื้นที่เชื่อมต่อถึงกัน มีหน่วยงานหรือบริษัทที่มีหน่วยวิจัยหรือศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพใหม่ๆ ให้กับคนในพื้นที่
โดยอีกหนึ่งประเทศต้นแบบที่นำแนวคิดนี้ไปสร้างย่านนวัตกรรมจนประสบความสำเร็จ นั่นคือ ประเทศสิงคโปร์ และย่านนวัตกรรมของสิงคโปร์ที่ได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ นั่นคือ Jurong Innovation District ซึ่งบทความเรื่อง “สำรวจ Jurong Innovation District ย่านนวัตกรรมที่สิงคโปร์ใช้เตรียมความพร้อม ขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ของโลก” ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ถอดบทเรียนการพัฒนาย่านนวัตกรรมแห่งนี้ที่สิงคโปร์ไว้อย่างน่าสนใจ โดยประเทศไทยเองก็สามารถนำมาปรับใช้เพื่อพัฒนาย่านนวัตกรรมในบ้านเรา อย่างย่านนวัตกรรม 7 ย่าน ที่เกิดขึ้นแล้วในกรุงเทพฯได้เช่นกัน
Jurong Innovation District ย่านนวัตกรรม ที่ก่อร่างสร้างให้ สิงคโปร์ เป็นชาติที่มีนวัตกรรมมากที่สุดในเอเชียอาคเนย์
‘สิงคโปร์’ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้าน ‘นวัตกรรม’ มากที่สุดในเอเชียอาคเนย์ (South-East Asia) โดยในหน้าประวัติศาสตร์การก่อร่างสร้างประเทศ สิงคโปร์ได้พัฒนาบ้านเมืองจากเกาะเล็กๆ ที่ไม่ได้มีต้นทุนทางภูมิประเทศอะไรโดดเด่น แต่สามารถพัฒนาตัวเองจนติดอันดับดัชนีนวัตกรรม TOP 10 ของโลกติดต่อกันนานหลายปี
โดยปี 2023 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ก็ได้คว้าอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งเพิ่มจากเดิม 2 อันดับ โดยปัจจัยที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐ (Government effectiveness) และความมั่งคงในการทำธุรกิจ (Operational stability for businesses) ที่สิงคโปร์มีคะแนนนำมาเป็นอันดับ 1 บ่งชี้ได้ว่าความสำเร็จในการเดินเกมพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมของสิงคโปร์นั้นได้มีการส่งเสริมโดยภาครัฐที่เข้มแข็ง
นอกจากการส่งเสริมให้ประเทศเดินหน้าด้วยนวัตกรรม สิงคโปร์ยังตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างการขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้แผนกลยุทธ์เพื่อมุ่งเป้าไปถึงหมุดหมาย สิ่งที่สิงคโปร์ผลักดันให้เกิดขึ้น คือ ย่านนวัตกรรมจูร่ง (Jurong Innovation District) เพื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจสมัยใหม่ ที่มีการส่งเสริมทักษะแห่งอนาคต สร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำให้เกิดการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมบนสภาพแวดล้อมที่ผสมผสานความสะดวกสบายให้เข้ากับพื้นที่ธรรมชาติ ตอบโจทย์เมืองแห่งความยั่งยืน แต่ก่อนที่จะไปดูความน่าสนใจภายในย่าน อยากให้มาดูเหตุผลกันก่อนว่าทำไมสิงคโปร์ถึงเลือกพื้นที่แห่งนี้มาพัฒนาต่อยอดกัน !?
ย้อนกลับไปในปี 2016 ก่อนที่จะถูกพัฒนามาเป็นย่านนวัตกรรม ที่แห่งนี้เคยเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีจุดแข็งด้านการขนส่งเพราะมีทำเลติดกับท่าเรือ ทำให้ Supply Chain มีความต่อเนื่อง และเมื่อประเทศตั้งเป้าเพื่อไปถึงการเป็นผู้นำอุตสาหกรรม จึงได้ริเริ่มพัฒนาเพิ่มทั้งในมิติของความพร้อมในการสร้างนวัตกรรม ที่สำคัญยังปรับปรุงย่านนี้ให้เหมาะสำหรับการเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งภายในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี ย่านนี้ก็ค่อยๆ มีการพัฒนาจนมีศักยภาพมากมาย โดยมีการแบ่งสัดส่วนขอบเขตเครือข่ายต่างๆ ให้มีการพัฒนา นวัตกรรม ได้อย่างชัดเจน
เริ่มต้นที่การพัฒนาศักยภาพคน ซึ่งจัดอยู่ในขอบเขตของเครือข่าย Talent & Training
การพัฒนาย่านต้องมีสถาบันการศึกษาเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งนอกจากจะมี Nanyang Technological University (NTU) มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีแล้ว ในย่านนวัตกรรมนี้ยังถูกเสริมให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีกขั้น จาก The Advanced Manufacturing Training Academy (AMTA) ที่เข้ามารับบทบาทในการ Foresight มองหาองค์ความรู้และทักษะใหม่ที่จำเป็นในอนาคต เพื่อใช้ต่อยอดพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเพิ่มเติม และยังมี The Bosch Rexroth Regional Training Center (BRRTC) ที่ช่วยในการอบรบทักษะต่างๆ ให้ผู้คนมีความพร้อมสำหรับการสร้างนวัตกรรม
ส่งเสริมการศึกษา พร้อมต่อยอดสู่งานวิจัยผ่านเครือข่าย Research & Development
งานวิจัยถือว่าเป็นจุดแข็งของนวัตกรรม ย่านนวัตกรรมจูร่งจึงได้มีการจัดเตรียมหลายหน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น A*STAR, Innovation & Learning Centre รวมไปถึง SJ Campus ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะ คอยเอื้อให้เกิดการต่อยอดงานวิจัยที่มาพร้อมกับพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรมแบบ Facility ที่ครบครัน ทั้งห้องทำงาน ห้องทดลอง ห้องจัดประชุมหลากหลายขนาด ซึ่งเป็นเหมือน Co-Working Space ที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ สร้างความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการนำเสนอขาย
จัดให้มี Technology Providers หรือผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี ที่จะรับหน้าที่ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ
ในย่านนวัตกรรมจูร่งจึงมีการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลากหลายสาขา โดยทำหน้าที่ช่วยในการประเมินความพร้อมของการนำเทคโนโลยีต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนาและใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น Sodick Singapore Techno Centre ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ, Makino ผู้นำอุตสาหกรรมด้านการออกแบบเครื่องจักร และ ISDN Software Business ที่จะช่วยในการปรับปรุงซอฟต์แวร์ของแต่ละธุรกิจให้มีความเหมาะสมตามแต่ละแนวทางที่ต้องการ
นอกจากผู้นำด้านเทคโนโลยี ยังมีการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต Factories of the Future เพื่อส่งเสริมการสร้างย่านให้มีความเป็นอยู่ที่ทันสมัย มีนวัตกรรมคอยขับเคลื่อนการใช้ชีวิตให้สะดวกสบายและยั่งยืน ตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมี SATS Food Hub เป็นตัวการหลักในการส่งเสริม ด้านโลจิสติกส์ที่ใช้หุ่นยนต์ เครื่องจักรกล และอากาศยานไร้คนขับ ก็จะมี YCH Group เป็นผู้สนับสนุนทั้งการให้เงินและความรู้ และที่เพิ่งเปิดตัวไปก็คือศูนย์ Hyundai Motor Group Innovation Center ที่จะใช้สร้างความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์แห่งอนาคต เพื่อเตรียมรองรับในการเติบโตไปสู่เมืองอัจฉริยะ
แม้ในขอบเขตการทำงานทั้งหมดจะมีบทบาทหลากหลายและแตกต่างกัน แต่หมุดหมายในการพัฒนาย่านนวัตกรรมจูร่งนี้ก็สามารถเดินหน้าไปยังทิศทางเดียวกันได้ด้วยการจัดงาน JTC kicks off Jurong Innovation District Day งานประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดถึงแผนพัฒนาต่างๆ โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการอภิปราย สร้างเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ ให้มีศักยภาพ หลอมรวมโลกของอุตสาหกรรม นวัตกรรม เข้ามาอยู่ในการใช้ชีวิต จนทำให้ Jurong Innovation District กลายเป็นย่านที่มีความพร้อมสำหรับขับเคลื่อนสิงคโปร์ไปสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างแท้จริง
อัปเดต ย่านนวัตกรรมในไทย ที่พร้อมต่อยอดสู่การเป็น Ecosystem สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่
ดังที่ได้เกริ่นไว้ว่าในประเทศไทยก็มีการปรับเอาแนวคิดการสร้าง “ย่านนวัตกรรม” มาใช้เช่นกัน โดยมี สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ซึ่งในตอนนี้ ในกรุงเทพมหานคร มีย่านนวัตกรรมเกิดขึ้นแล้วทั้งหมด 7 ย่าน และยังมีการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ย่านนวัตกรรมสวนดอก (เชียงใหม่) ย่านนวัตกรรมขอนแก่น ย่านนวัตกรรมภูเก็ต ย่านนวัตกรรมอู่ตะเภา ย่านนวัตกรรมบางแสน ย่านนวัตกรรมพัทยา ย่านนวัตกรรมศรีราชา ซึ่งดำเนินการตามศักยภาพแต่ละพื้นที่ และสำหรับย่านนวัตกรรมในกรุงเทพฯ ประกอบด้วยย่านต่างๆ ดังนี้
ย่านนวัตกรรมโยธี เป็นศูนย์รวมด้านการแพทย์ สาธารณสุข และหน่วยงานราชการซึ่งให้บริการสาธารณะในระดับประเทศหลายแห่งในพื้นที่เดียวกัน จึงได้รับการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมเพื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์
ย่านนวัตกรรมรัตนโกสินทร์ พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและชั้นนอกตามแนว คูเมืองเดิม (คลองหลอด) เป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีความสำคัญทางการค้าและประวัติศาสตร์ จึงได้รับการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมเพื่อการสืบสานและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์
ย่านนวัตกรรมปทุมวัน พื้นที่สวนหลวง สยามแสควร์ ถนนพระราม 4 ราชประสงค์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า ธุรกิจ และการบริการ รวมถึงการศึกษาย่านใจกลางเมือง ได้รับการพัฒนาย่านนวัตกรรมเพื่อธุรกิจการค้า
ย่านนวัตกรรมคลองสาน เป็นพื้นที่ศูนย์กลางของฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นแหล่งชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจดั้งเดิม เชื่อมต่อกับพื้นที่เศรษฐกิจใจกลางเมือง จึงได้รับการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมเพื่อการสืบสานและสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม
ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท เป็นศูนย์รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องหนัง และเย็บผ้าจึงได้รับการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมเพื่อธุรกิจการค้า
ย่านนวัตกรรมลาดกระบัง พื้นที่จดุยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งคมนาคมหลักของประเทศ และเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นที่ตั้งของท่าอากาศยานนานาชาติและศูนย์โลจิสติกส์กระจายสินค้าไปทุกภูมิภาค จึงได้รับการพัฒนาเป็นย่านนวัตกรรมเพื่อการขนส่งและโลจิสติกส์
ย่านนวัตกรรมอารีย์ เป็นย่านนวัตกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึกในสาขาอารีเทค (ARI Tech) ซึ่งประกอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) การพัฒนาเครื่องจักรกลขั้นสูง (Robotics) เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Immersive) และการเชื่อมโยงหรือส่งข้อมูลด้วยระบบอินเทอร์เน็ต (IoTs) นับเป็นอีกหนึ่งย่านนวัตกรรมที่เกิดจากการขับเคลื่อนของภาคเอกชนที่เห็นความสำคัญของ “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีต่อระบบนวัตกรรมไทยในอนาคต
การใช้แนวทาง “ย่านนวัตกรรม” มาเป็นกลไกสร้างความโดดเด่นและศักยภาพในการพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม จึงถือเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตวิถีใหม่ รองรับการเติบโตของนวัตกร ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัพให้รวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์ ก่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล แต่อย่างไรก็ดี ภารกิจนี้จะประสบความสำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เดินหน้าพัฒนาย่านนวัตกรรมตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวมานี้อย่างจริงจัง เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/06/12/lesson-learn-from-jurong-innovation-district-singapore/