‘ญี่ปุ่น’ สร้างสถานีรถไฟจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ แก้ปัญหาขาดคนดูแล

Loading

  • สถานีฮัตสึชิมะกลายเป็นสถานีรถไฟที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติแห่งแรกของโลก โดยใช้เวลาสร้างไม่ถึง 6 ชั่วโมง
  • เพื่อแก้ปัญหาแรงงานมีจำนวนลดลง ขาดคนบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟและอาคารสถานี
  • สถานียังคงต้องมีการตกแต่งภายใน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ เช่น เครื่องจำหน่ายตั๋วและเครื่องอ่านบัตรขนส่ง โดยมีกำหนดเปิดใช้อาคารใหม่ในเดือนกรกฎาคม

เนื่องจาก “ประชากรญี่ปุ่น” เริ่มมีอายุมากขึ้นและแรงงานมีจำนวนลดลง การบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทาง “รถไฟ” รวมไปถึงอาคารสถานีที่นับวันจะทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ จึงเป็นปัญหาที่ท้าทายมากขึ้นสำหรับผู้ให้บริการรถไฟ โดยเฉพาะสถานีในชนบทที่มีผู้ใช้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง

บริษัท West Japan Railway สร้างสถานีรถไฟที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อลดภาระการดูแลรักษาสถานี โดยสถานีแรกที่สร้างเสร็จไปเล้ว คือ สถานีฮัตสึชิมะ (Hatsushima) ในเมืองอาริดะ จังหวัดวากายามา ที่ให้บริการโดยรถไฟสายเดียวซึ่งมีรถไฟให้บริการ 1-3 เที่ยวต่อชั่วโมง โดยผู้โดยสารประมาณ 530 คนต่อวัน

สถานีฮัตสึชิมะกลายเป็นสถานีรถไฟที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติแห่งแรกของโลก

เมื่อรถไฟขบวนสุดท้ายออกเดินทางในเวลา 23:57 น. คนงานก็เริ่มดำเนินการสร้างสถานีแห่งใหม่ พวกเขามีเวลาเพียง 6 ชั่วโมง สำหรับสร้างสถานีรถไฟให้เสร็จก่อนที่รถไฟขบวนแรกจะมาถึง ซึ่งเป็นไปตามจำกัดที่เข้มงวด เพื่อไม่รบกวนตารางเวลาเดินรถ

West Japan Railway ร่วมกับบริษัทก่อสร้าง Serendix ในการพิมพ์ชิ้นส่วนและเสริมความแข็งแรงด้วยปูนคอนกรีตชนิดพิเศษ โดยชิ้นส่วนเหล่านี้พิมพ์ที่โรงงานในจังหวัดคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชูทางตะวันตกเฉียงใต้ และขนส่งไปทางตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 800 กิโลเมตร ไปยังสถานีฮัตสึชิมะ

ชิ้นส่วนถูกขนย้ายมาด้วยรถบรรทุก และใช้เครนขนาดใหญ่ในการยกแต่ละอันลงมา ให้คนงานนำชิ้นส่วนของสถานีที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติมาประกอบเข้าด้วยกัน ห่างจากสถานีเดิมเพียงไม่กี่เมตร

สถานีใหม่มีพื้นที่มากกว่า 9 ตารางเมตร สร้างเสร็จก่อนที่รถไฟขบวนแรกจะมาถึงในเวลา 5.45 น. ถึงวิธีการก่อสร้างจะใช้เทคโนโลยีสุดล้ำ แต่การออกแบบสถานีก็เชิดชูวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ภายนอกมีลวดลายตกแต่งอย่างส้มแมนดารินและปลากะพง ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของเมือง

รูปร่างโค้งมนคล้ายโดมของอาคารยังชวนให้นึกถึงสุนทรียศาสตร์ทางสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยสามารถผสมผสานกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน อีกทั้งการสร้างสถานีด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปสองเท่า และร่นระยะเวลาไปได้มาก เมื่อเทียบกับแบบเดิมที่ต้องใช้เวลาถึงสองเดือน

ถึงแม้จะสร้างเสร็จในเวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง แต่สถานียังคงต้องมีการตกแต่งภายใน รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ เช่น เครื่องจำหน่ายตั๋วและเครื่องอ่านบัตรขนส่ง โดยมีกำหนดเปิดใช้อาคารใหม่ในเดือนกรกฎาคม

บริษัทหวังว่าสถานีนี้จะช่วยให้เห็นว่าญี่ปุ่นสามารถรักษาการบริการรถไฟในพื้นที่ห่างไกลโดยใช้เทคโนโลยีใหม่และคนงานน้อยลงได้อย่างไร

“เราเชื่อว่าความสำคัญของโครงการนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในตอนนี้จำนวนคนที่มีจะลดลงอย่างมาก” เรียว คาวาโมโตะ ประธานบริษัท JR West Innovations หน่วยงานร่วมทุนของผู้ให้บริการรถไฟกล่าว

อาคารไม้หลังเก่าของสถานีฮัตสึชิมะ สร้างเสร็จในปี 1948 และเริ่มผุพังไปตามกาลเวลา แต่ปี 2018 เป็นต้นมา สถานีแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนระบบอัตโนมัติ เช่นเดียวกับสถานีขนาดเล็กอื่น ๆ หลายแห่งในญี่ปุ่น

โทชิฟูมิ โนริมัตสึ วัย 56 ปี ผู้จัดการที่ทำการไปรษณีย์ละแวกใกล้เคียง มีความรู้สึกทั้งสุขและเศร้าเกี่ยวกับอาคารใหม่นี้

“ผมรู้สึกเศร้าเล็กน้อยที่สถานีเก่าถูกรื้อถอน แต่ผมจะรู้สึกดีใจมากหากสถานีแห่งนี้สามารถกลายเป็นผู้บุกเบิกและเป็นประโยชน์ต่อสถานีอื่น ๆ ได้” โนริมัตสึกล่าว

สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยรถไฟทั่วญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ต้องการสำรวจจุดหมายปลายทางที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก โครงการนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกสบาย ทันสมัย ​​และยั่งยืนยิ่งขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1180565


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210