- ทีม iRAP Robot จาก มจพ. ซึ่งเป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยหลายสมัย ได้นำหุ่นยนต์กู้ภัย, หุ่นยนต์ขนาดเล็กที่พัฒนาใหม่, และโดรน 2 ลำ เข้าสนับสนุนภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ทันทีหลังเกิดเหตุการณ์
- ทีมได้ใช้หุ่นยนต์สแกนพื้นที่เพื่อสร้างแผนที่สามมิติของซากอาคารที่ถล่ม เพื่อให้หน่วยกู้ภัยใช้ในการประเมินสถานการณ์และวางแผนการช่วยเหลือ นอกจากนี้ ยังใช้โดรนติดตั้งเซ็นเซอร์ล่าสุดเพื่อสำรวจหาสัญญาณชีพของผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วน
- แม้จะประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับโลก แต่การปฏิบัติภารกิจกู้ภัยจริงเป็นครั้งแรกของทีม ทำให้เห็นถึงความท้าทายในการทำงานร่วมกับหน่วยกู้ภัยจริง รวมถึงข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่มี เช่น การขาดแคลนเซ็นเซอร์ที่สแกนทะลุคอนกรีตได้ อย่างไรก็ตาม ทีมพร้อมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปเพื่อสนับสนุนภารกิจกู้ภัยในอนาคต
หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 นอกจากจิตอาสาและสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมภารกิจกู้ภัยแล้ว หนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของการช่วยเหลือที่ทรงพลังคือการนำเทคโนโลยีสุดล้ำเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือ และนี่คือภารกิจของ iRAP Robot ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ดีกรีแชมป์โลกการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก World RoboCup Rescue หลายสมัย
นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและตึกถล่มต่อมา ทีม iRAP Robot ได้เข้าพื้นที่ทันที โดยเริ่มต้นภารกิจด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่สามมิติ โดยข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการนำหุ่นยนต์เข้าไปสแกนข้อมูลสภาพแวดล้อมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่
ต่อมาในช่วงราวหกโมงเช้าของวันที่ 29 มีนาคม 2568 ทีม iRAP Robot ได้อัปเดตโพสต์ในเฟซบุ๊กถึงความคืบหน้ากับภารกิจที่ใช้โดรนเพื่อสำรวจหาสัญญาณชีพ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุด
ส่งมอบแผนที่สามมิติ
ในค่ำคืนที่ผ่านมายังไม่สามารถบินโดรนเพื่อภาพถ่ายสามมิติได้ เพราะภารกิจหลักตอนนี้คือบินโดรนเพื่อสำรวจหาสัญญาณชีพ ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด ทางทีม iRAP เลยใช้การเดินสำรวจบริเวณรอบอาคารและใช้หุ่นยนต์สำรวจเพื่อสร้างแผนที่ในพื้นที่โซนกู้ภัย B นอกจากนี้ทางชุมนุมหุ่นยนต์ได้ให้พี่ๆ ทีมกู้ภัยยืม payload ที่มีอุปกรณ์ตรวจจับเวอร์ชั่นล่าสุดของ dji ใช้ในการสำรวจต่อไป
เวลา 2:45 ทีมงาน iRAP ได้เดินทางกลับมาจากพื้นที่อุบัติภัยกันเรียบร้อยแล้วหลังจากได้ส่งมอบแผนที่สามมิติให้กับพี่พี่ทีมกู้ภัยเพื่อใช้ร่วมในการประเมินสถาณการณ์เบื้องต้น และรออัปเดตภาพถ่ายสามมิติด้วยโดรนจากพี่ๆ อีกทีในเช้าวันนี้เพื่อนำมารวมกันเพื่อนำไปคำนวนปริมาตรของซากปรักหักพัง เพื่อนำไปใช้ในประมานค่าน้ำหนักของซากตึกดังกล่าว ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการดำเนินการในขั้นต่อๆ ไปของพี่ๆ ทีมกู้ภัยได้
แผนที่สามมิติที่เห็นในคลิปตอนนี้มาจาก นักศึกษาเดินถืออุปกรณ์ scan แผนที่ ร่วมกับหุ่นยนต์ที่สำรวจภายในสร้างขึ้นมาครับ ที่ได้ระยะกว้าง เพราะตัวเซนเซอร์ lidar ที่เราใช้มีระยะ scan ที่ 400m ครับ”
ทีมหุ่นยนต์+โดรนออกโรง!
อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ อินเทียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เล่าถึงภารกิจหลัก ณ ตอนนี้ว่าคือ iRAP Robot เป็นเสมือนกองหนุน มีหน้าที่สร้างแผนที่สามมิติให้หน่วยกู้ภัยใช้ในการประเมินร่วมการตัดสินใจ (ข้อมูลเมื่อเวลา 12.45 น. ของวันที่ 29 มีนาคม 2568)
“ตอนนี้ความคืบหน้าคือช่วงก่อนกลับ เมื่อคืนช่วงเวลาประมาณตีสามเราได้ส่งมอบแผนที่สามมิติให้หน่วยกู้ภัยที่ศูนย์บัญชาการร่วมที่อยู่ข้างใน และเรารอภาพถ่ายจากโดรนสามมิติอีกทีหนึ่งเพื่อรวมดีเทล เพราะเมื่อคืนภารกิจหลักของเขาจะเป็นการค้นหาผู้ประสบภัยก่อน เราไม่ได้เอาการสร้างแผนที่เป็นภารกิจหลัก เราก็เลยให้โดรนบินหาผู้ประสบภัยก่อน แต่พอช่วงเช้าเขาก็น่าจะทำภารกิจให้เราได้ เราจึงกำลังรอการประสานจากหน้างานอีกที ซึ่งตอนนี้ทางทีมงานของพวกเรากำลังสแตนบายอยู่ที่มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากจุดประสบภัย ถ้าทางนู้นแจ้งมาให้เราไปช่วย เราก็พร้อมจะออกไปช่วยทันที”
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่ากองซากตึกที่ถล่มลงมา แผนที่สามมิติจะคำนวณปริมาตรได้ว่ากองปูนเท่านี้จะมีปริมาตรเท่าไร และถ้าบวกกับการคำนวณความหนาแน่นของกองปูนดังกล่าวทางทีมกู้ภัยจะประเมินน้ำหนักของกองนั้นได้ และจะใช้ในการประเมินว่าจะรื้อถอนหรือขนย้าย
สำหรับเครื่องมือที่ iRAP Robot นำมาใช้ในภารกิจนี้ มีอยู่สามประเภทหลักๆ ได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัยสองตัว, หุ่นยนต์ขนาดเล็กที่ iRAP Robot เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และโดรนสองลำ
“หุ่นยนต์กู้ภัยทั้งสามตัวได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือครับ เพราะเราเป็นทีมที่แข่งหุ่นยนต์กู้ภัยมาตลอด เราเคยได้แชมป์ ROBO Cup มา 10 ครั้งแล้ว ซึ่งการแข่งขันก็มีการให้เราพัฒนาแผนที่สามมิติเป็นหนึ่งในภารกิจ นี่จึงเป็นการต่อยอด
ส่วนโดรนเกิดจากการที่เมื่อเรามีอุปกรณ์เพื่อเก็บแผนที่สามมิติได้ เราเลยอยากมีอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ทางอากาศเพื่อเก็บภาพจากมุมสูงได้ เราจึงสั่งซื้อมาเป็นครุภัณฑ์ ในภารกิจนี้เราคิดว่าถึงเราจะไม่ได้บินเอง ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งตัวเซนเซอร์ของเราเป็นตัวใหม่ล่าสุด เราเลยถอดเซนเซอร์ทิ้งไว้ให้เจ้าหน้าที่เขาได้ยืมไว้ใช้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญการบินโดรนก็บอกว่ามันชัดกว่าที่เขามีเยอะ พลังการซูมมันละเอียดกว่า
ผมคิดว่าในช่วงตีสามมาจนถึง ณ ตอนนี้ ถ้าเป็นการเจอผู้ประสบภัยจากโดรน น่าจะมาจากการใช้เซนเซอร์ของเราครับ แต่ก็ไม่ได้คอนเฟิร์มนะครับว่าเกิดขึ้นหรือยัง”
จากทีมแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัย สู่ภารกิจจริง!
อาจารย์ ดร.จิรพันธุ์ เปิดเผยว่า ถึงจะได้แชมป์มา 10 สมัย แต่ก็ใช่ว่าจะได้เผชิญสถานการณ์จริง เหตุตึกถล่มจากแผ่นดินไหวครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกของพวกเขาที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถเพื่อการกู้ภัยของจริง
“นี่เป็นครั้งแรกของพวกเราครับ ทางผู้ใหญ่ในมหาวิทยาลัย และกระทรวง อว. ได้สนับสนุนให้เราเข้ามาช่วย ทางเราก็ยินดีที่จะไป ผมต้องบอกก่อนว่าทุกครั้งที่มีการแข่งขันหรือทำกิจกรรมที่เป็นเทคโนโลยี จะค่อนข้างโดนแซะหน่อยว่างานพวกนี้มันใช้ไม่ได้จริง นี่คือ Pain Point ของพวกผมที่มันติดอยู่ในความรู้สึกด้วย พอมีเหตุการณ์นี้ ตัวเราน่ะพร้อมจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มานานแล้ว แต่ไม่เคยมีการติดต่อมาอย่างจริงจัง
และพอมาปฏิบัติภารกิจจริง ก็มีความแตกต่างจากการแข่งขัน คือการแข่งขันเราจะออกแบบโจทย์ได้ครอบคลุม แต่พอเป็นหน้างานจริง คนที่เราต้องให้ Priority สูงสุดคือหน่วยกู้ภัยจริงๆ แต่อุปกรณ์ของเรามันอาจยังไม่เหมาะกับพี่ๆ หน่วยกู้ภัย คนที่ใช้งานอุปกรณ์พวกนี้ยังเป็นแค่พวกผม มันเลยอาจจะไม่ได้เข้าไปในบางพื้นที่ที่พวกพี่ๆ เขาเข้าไป มันเหมือนว่า System ยังไม่ User Friendly ขนาดนั้น
อีกข้อคือพวกเซนเซอร์ที่เป็นเทคโนโลยี ประเภทเรดาร์ที่สแกนทะลุคอนกรีตได้ เซนเซอร์พวกนั้นเราก็ไม่มี เพราะราคาแพงมาก ของเราทำได้แค่สแกนออกมาเป็นสัดส่วน เป็นมิติต่างๆ เพื่อให้เห็นโครงสร้าง แต่ถ้าเรามีเซนเซอร์อื่นๆ มา Top on ก็จะเอาข้อมูลนั้นมาแปะในแผนที่สามมิติได้ แต่ก็มีอย่างหนึ่งที่เรากำลังทำวิจัย คือกล้องวัดอุณหภูมิที่ทำงานคู่กับแผนที่สามมิติ เราจะได้แผนที่สามมิติที่เป็นแผนที่ความร้อนออกมาครับ”
แหล่งข้อมูล