เบื้องหลัง AI สัญชาติไทย ท้าชนมาแล้วทุกปัญหา

Loading

เบื้องหลังของ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทำให้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

ฟุตบาทพังเสียหาย สายไฟรกรุงรัง ทุกปัญหาที่ถูกแจ้งเข้ามาผ่าน LINE จะถูกวิเคราะห์ แยกแยะ ด้วยฝีมือ AI จุดไหนที่แก้ไขได้ทันที ปัญหาไหนต้องใช้อำนาจตัดสินใจ รอจัดสรรงบประมาณ ด้วยความสามารถของ AI ทำให้กรุงเทพ รับมือกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาได้มากขึ้นถึง 8 เท่า หรือมากกว่า 2 แสนเรื่อง ในเวลาเพียง 6 เดือน

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าทีมวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เล่าว่า จุดเริ่มต้นของ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ มาจากวิจัยและพัฒนาด้านจราจรอัจฉริยะ เมื่อ 16 ปีก่อน ตั้งแต่ยุคที่ Google Map ในประเทศไทยยังไม่มีฟีเจอร์บอกสภาพจราจร

โจทย์ในการวิจัยของกลุ่มห้องปฏิบัติการขนส่งจราจรอัจฉริยะในยุคนั้น เริ่มจาการเอาแผนที่ Google Map มาใส่เส้นสี เพิ่มระดับความติดขัด โดยดึงข้อมูลจาก กทม. เข้ามาใส่อยู่บนแผนที่ ทำให้คนเห็นว่าถนนเส้นไหนมีระดับความติดขัดมากน้อยอย่างไร นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Traffy ที่แปลงมาจากคำว่า Traffic

“จุดเริ่มต้นนั้นทำให้ประเทศไทยมีระบบจราจรบนหน้าเว็บใช้งานตั้งแต่ยุคที่โทรศัพท์มือถือยังเป็นระบบใช้จาวา J2ME เป็นซิมเบียนในยุคที่โนเกียโด่งดังจนพัฒนามาเป็น iOS และ Android ในตอนนี้” ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เล่า

หลังจากที่ทำวิจัยเรื่องจราจรมาระยะหนึ่ง คำว่าขนส่งและจราจรอัจฉริยะได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นส่วนหนึ่งของ Smart City เมืองอัจฉริยะ ในส่วน Smart Mobility ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ขนส่ง จราจร และการเดินทาง ซึ่งหนึ่งในโจทย์ใหม่ที่ทีมวิจัยได้รับคือการเข้าไปแก้ปัญหาขยะให้กับ เทศบาลป่าตอง ภูเก็ต จังหวัดนำร่องที่ต้องการเปลี่ยนตัวเองเป็นเมืองอัจฉริยะ

ขยะล้นเมืองที่เคยเป็นปัญหาท้าทายของเมืองท่องเที่ยว ทั้งการจัดเก็บ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่งกลิ่นเหม็นและมีผลต่อภาพลักษณะ มีความต้องการระบบไอทีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ด้านการจัดการ

“คนทั่วไปกว่า 90% มีโทรศัพท์มือถือที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ถ้าเรามีแอปพลิเคชั่นที่ทำให้คนสามารถเข้าถึงปัญหานี้ได้คนน่าจะอยากใช้ ทีมวิจัยเลยตัดสินใจทำเป็นแอปที่ชื่อว่า Traffy Fondue เริ่มใช้เป็นครั้งแรกที่เทศบาลป่าตอง”

ทีมวิจัยจากเนคเทคได้เข้าไปพัฒนาแพลตฟอร์ม Trafy Waste ระบบติดเซนเซอร์ที่รถขยะ ช่วยให้รู้ได้ทันทีว่า เทศบาล หรือ อบต. นั้นมีจัดเก็บขยะอยู่กี่จุด และแต่ละจุดมีระยะเวลา และช่วงเวลาจัดเก็บอย่างไร โดยระบบสามารถบอกผู้ใช้งานได้โดยการแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือหากเกิดเหตุผิดพลาด ระบบก็สามารถแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ ทำให้กระบวนการจัดเก็บขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

: แพลตฟอร์มพลิกโฉมเมือง

จากจุดเริ่มต้นมาจนถึงวันที่ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ไม่ได้จำกัดแต่การจัดการปัญหาขยะ แต่กลายมาเป็นแพลตฟอร์มพลิกโฉมบริหารจัดการเมือง ช่องทางรับเรื่องราวร้องเรียนจากประชาชนที่รองรับทุกปัญหา ไม่ว่าจะถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ฟุตบาทพัง มอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร สายไฟระโยงระยาง ปัญหาใดๆ ของเมืองก็สามารถแจ้งเข้ามาได้

ดร.วสันต์ บอกว่า ทราฟฟี่ ฟองดูว์ ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ ตามโจทย์ที่ได้รับจนสามารถใช้งานร่วมกับกับเทศบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ กว่า 2,800 แห่ง โดยเมืองที่ทำให้แพลตฟอร์มเป็นที่รู้จักคือ กรุงเทพมหานคร ในยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่มีความจริงจังและตั้งใจที่จะใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเมืองที่สะสมมานาน

หลังจากที่ กทม. เริ่มให้ทุกเขต ทุกสำนักเข้ามาใช้งาน ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เพียงเดือนแรกเจ้าหน้าที่แต่ละเขตสามารถเข้าถึงปัญหาจากจุดบน Heat map และแก้ไขได้ทันทีสำหรับปัญหาที่จัดการได้ ส่วนปัญหาใหญ่ที่ต้องการอำนาจตัดสินใจ รอประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือต้องการงบประมาณ AI จะช่วยแยกแยะสถานะของปัญหาให้เป็นหมวดหมู่

AI ที่ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ พัฒนาขึ้น ทำได้ตั้งแต่โจทย์ง่าย ไปจนถึงโจทย์ที่ซับซ้อนมากๆ โดยเลือกที่จะเปลี่ยนจากการใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น มาเชื่อมต่อผ่าน LINE ที่ใช้งานง่าย และผู้ใช้มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีโดยไม่ต้องลงโปรแกรมใหม่ อีกทั้งเป็นระบบถามตอบ ที่สามารถระบุรายละเอียดปัญหา แชร์ตำแหน่งที่ชัดเจน และส่งรูปภาพหน้างานเข้ามาได้ ทำให้ง่ายสำหรับคนแจ้ง และเจ้าหน้าที่ในการตัดสินใจจัดการปัญหา และสามารถแจ้งเตือนความก้าวหน้าให้กับผู้แจ้งปัญหาทุกครั้งที่มีการอัปเดตในระบบ

“AI คือความฉลาดที่ปกติอยู่ที่คนแต่เราไปให้คอมพิวเตอร์ฉลาดขึ้นใกล้เคียงกับคน จากช่วงเวลาปกติที่ก ทม. จะรับแจ้งปัญหาผ่านช่องทางต่างๆ กว่า 1 แสนเรื่องในแต่ละปี หลังจากที่มีแพลตฟอร์มเพิ่มเข้ามาทำให้สามารถรับเรื่องร้องเรียนได้มากถึง 2 แสนเรื่อง ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนหรือเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า”

ดร.วสันต์ ยอมรับว่าความสำเร็จของ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ เกิดจากความเข้าใจผู้ใช้งาน ผู้แจ้ง ผู้รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย แต่ดีกว่าทำไปแล้วไม่ตอบโจทย์ หลังจากนี้ยังคงมีโจทย์ท้าทายเข้ามาอีกมากที่ต้องพัฒนาต่อเพื่อรับกับความต้องการใหม่ๆ ที่มีความสำคัญและเร่งด่วน

อนาคตเขาหวังว่า ทุกคนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะได้ใช้งานทราฟฟี่ ฟองดูว์ ที่เข้ามาช่วยให้เจ้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น ข้อมูลที่มีสามารถใช้บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีระบบ และยั่งยืน เช่น ถ้าพบขุดที่ฝาท่อแตกซ้ำทุก 3 เดือน อาจต้องหันกลับมามองว่าปัญหาอยู่ที่วัสดุที่ใช้หรือสาเหตุอะไรกันแน่ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด จากฐานข้อมูลสถิติที่ผ่านการวิเคราะห์

: เทคโนโลยีแห่งความหวัง

อนาคต AI จะทำได้เก่งเท่าคนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือสุดท้ายอาจจะเก่งกว่าคนก็เป็นได้ เพราะล่าสุดแชตบอตอัจฉริยะอย่าง ChatGPT ของ OpenAI ก็เพิ่งได้รับเงินสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ถึง 3 แสนล้านบาท อีกทั้งสอบผ่าน นักกฏหมาย แพทย์ และบัญชีในอเมริกา

ดร.วสันต์ มองว่า นี่คือจุดตั้งต้นไม่ใช่จุดสุดท้าย ในฝั่งนักวิจัย AI เข้ามาช่วยทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น เช่น ช่วยหาโค้ด เขียนอัลกอรีทึมอะไรบางอย่างได้ จากเดิมที่ต้องใช้เวลาค้นหาผ่านเว็บไซต์ เปลี่ยนมาถาม AI ก็ได้คำตอบในทันที แต่ถ้าต่อไปใครที่ใช้เครื่องมือไม่เป็น ไม่เก่ง อาจจะกลายเป็นคนที่ด้อยกว่า หรือทำได้ไม่ดีเท่าก็อาจจะถูกแทนที่ได้

สุดท้ายในฐานะนักพัฒนา AI เขามองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เป็นสาขาแห่งอนาคต ที่มีความต้องการมากขึ้น โดยที่ความรู้ไม่ใช่ข้อจำกัด เพราะสามารถเข้าถึงได้ผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่ต้องเสียเงิน อุปสรรคสำคัญอยู่ที่เวลาที่ทุ่มเทให้กับมัน

เขามองว่าโจทย์ความต้องการใช้งาน AI มีอยู่ทั่วโลก ไม่ได้จำกัดแค่ในไทยเท่านั้น บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง Google และ Apple เองก็เริ่มกันมาพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยเชื่อว่าในอีก 1-2 ปี จะได้เห็นการใช้งาน AI ในหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ และต่อยอดได้มากขึ้น

แหล่งข้อมูล

https://www.techhub.in.th/techhub-insight-platform-ai-traffy-fondue/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210