ก้าวสู่ยุค “รถยนต์ Hydrogen” พลังงานแห่งอนาคต

Loading

เป็นที่ทราบกันดี ว่าการคมนาคม และขนส่ง เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ทำให้ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก เชื่อว่า หากสามารถผลิต “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถช่วยลด “ก๊าซคาร์บอน” ที่เป็นสาเหตุสำคัญของ “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” และ “ภาวะโลกร้อน” ได้

และ “พลังงานไฮโดรเจน” คือส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติของ “สหรัฐอเมริกา” ที่ตั้งเป้าจะลดมลพิษจากการคมนาคม และขนส่ง ลง “ครึ่งหนึ่ง” ภายในปี ค.ศ. 2030

โดยมีการจัดสรรงบประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยเพื่อลดต้นทุน และสร้างฐานการผลิตเชื้อเพลิงจาก “พลังงานไฮโดรเจน”

ซึ่งในปัจจุบัน “พลังงานจากน้ำ” หรือ “ไฮโดรเจน” ถือเป็นหนึ่งใน “พลังงานทางเลือก” ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก และเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากรถยนต์มากกว่า 1,000 ล้านคันทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ “เชื้อเพลิงฟอสซิล”

ทุกวันนี้ บรรดาผู้ผลิตรถบรรทุก หรือรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ ได้เริ่มเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี “พลังงานไฮโดรเจน” กันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ผลิตเครื่องบิน รถไฟ และรถโดยสาร

อย่างไรก็ตาม “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” ที่ผลิตได้ทั่วโลกในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังต้องใช้ “ถ่านหิน” และ “ก๊าซธรรมชาติ” ในกระบวนการผลิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานที่เรียกว่า “บลูไฮโดรเจน”

“บลูไฮโดรเจน” คือ “ไฮโดรเจน” ที่เกิดจากการสกัด “ก๊าซธรรมชาติ” ก่อให้เกิด “คาร์บอนไดออกไซด์” จำนวนมาก ทำให้ในวันนี้ เรายังไม่สามารถพูดได้เต็มปาก ว่า “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” เป็น “พลังงานสะอาด”

อย่างไรก็ “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” กำลังพัฒนาเพื่อให้กลายเป็นส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราสามารถผลิต “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” จาก “พลังงานลม” และ “พลังงานแสงอาทิตย์” ได้มากขึ้น ก็จะทำให้ “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” มีความ “สะอาด” มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มี “ราคาที่ถูกลง”

เช่นเดียวกับ “เยอรมนี” ที่ “รถไฟพลังงานไฮโดรเจน” เริ่มวิ่งให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 ขณะที่บริษัทเครื่องบิน Airbus ของ “ฝรั่งเศส” ก็เริ่มนำ “ไฮโดรเจน” มาใช้

ส่วนใน “สหรัฐอเมริกา” มีการนำ “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” มาใช้กับ “รถโฟล์คลิฟต์” มากกว่า 50,000 คัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ “ไฮโดรเจน” ในอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางไกล เนื่องจาก “รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน” สามารถวิ่งได้ไกลกว่า “รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า”

รวมทั้งทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้ดีกว่า และเติมเชื้อเพลิงได้เร็วกว่าแบตเตอรี่ไฟฟ้าอีกด้วย

เราจึงได้เห็นว่า ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น General Motors Navistar หรือ J.B. Hunt มีแผนสร้าง “สถานีจ่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจน” สำหรับ “รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน” ภายในปี ค.ศ. 2030

ขณะที่ Toyota Volvo Daimler Kenworth และอีกหลายบริษัท เริ่มทดสอบ “รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน” แล้วเช่นกัน

โดยในปัจจุบัน มี “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” ราว 10,000 คันบนท้องถนนใน “สหรัฐอเมริกา” ส่วนใหญ่อยู่ในรัฐ “แคลิฟอร์เนีย” ซึ่งมี “สถานีจ่ายเชื้อเพลิงไฮโดรเจน” กว่า 50 แห่ง และมีแผนสร้างเพิ่มอีกหลายแห่ง

โดยบริษัท Toyota Honda และ Hyundai ต่างผลิต “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” ออกสู่ท้องตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เช่นเดียวกับ “แผนพัฒนาพลังงาน” ฉบับใหม่ที่ “รัฐบาลญี่ปุ่น” ได้ตราออกมา ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ “พลังงานหมุนเวียน” ไม่ว่าจะเป็น “พลังงานแสงอาทิตย์” หรือ “พลังงานลม”

ควบคู่ไปกับเทคโนโลยี Fuel Cell หรือ “แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน” และ “ไฮโดรเจน” เพื่อลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” 80% ในปี พ.ศ. 2593

Fuel Cell เป็นการใช้ “เชื้อเพลิงไฮโดรเจน” และระบบที่ทำปฏิกิริยาระหว่าง “ไฮโดรเจน” กับ “อ็อกซิเจน” ในอากาศ เพื่อกำเนิด “ไฟฟ้า” และ “พลังงานความร้อน”

การทำปฏิกิริยาระหว่าง “ไฮโดรเจน” กับ “อ็อกซิเจน” ทำให้เกิดน้ำร้อน เพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าไปขับเคลื่อนมอเตอร์

ทั้งนี้ “รถยนต์พลังงานไฮโดรเจน” จะเป็น Zero Pollution หรือมีมลพิษเท่ากับ 0 แปลไทยเป็นไทยก็คือ ไม่มี “คาร์บอนไดอ็อกไซด์”

โดย “กระทรวงสิ่งแวดล้อม” หรือ Ministry of Environment (MOE) ของ “ญี่ปุ่น” ได้ออกประกาศส่งเสริมให้มีการเดินหน้าใช้ “ไฮโดรเจน” อย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็น Life Cycle Assessment หรือ LCA Guideline เพื่อคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตไฟฟ้า

เพราะ “รัฐบาลญี่ปุ่น” มองว่า การส่งเสริม “พลังงานไฮโดรเจน” จะช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานในภาคการผลิตโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Fuel Cell สามารถผลิตพลังงานได้ดีกว่า “เชื้อเพลิงฟอสซิล”

ล่าสุด 7-11 ประเทศญี่ปุ่น และ Toyota ได้มีความร่วมมือในการดำเนินโครงการลดการปล่อยคาร์บอน ด้วยการใช้ Fuel Cell โดย Toyota จะส่งมอบ “รถบรรทุกเชื้อเพลิงไฮโดรเจน” สำหรับ 7-11 เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าทั้งหมด รวมถึง “เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน” ในร้าน 7-11 ทั่วประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น และของโลก อย่าง Toyota และ Honda กำลังพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย Fuel Cell เพื่อลดการใช้ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่ปล่อยคาร์บอน และหันมาใช้ “เชื้อเพลงไฮโดรเจน” กันในอนาคตนั่นเอง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/04/09/hydrogen-powered-vehicles-energy-of-the-future/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210