โรงพยาบาลไฮเทคทั่วโลกเริ่มใช้หุ่นยนต์ ‘ผ่าตัด’ คนไข้

Loading

โรงพยาบาลไฮเทคทั่วโลกเริ่มใช้หุ่นยนต์ ‘ผ่าตัด’ คนไข้ ว่าแต่ทำแบบนี้ ‘ดีกว่า’ ผ่าตัดแบบเดิมอย่างไร?

หลายอาชีพในโลกมีความกังวลว่า ‘หุ่นยนต์’ จะมาแย่งงานในหลายๆ มิติ อย่างไรก็ดีหนึ่งในอาชีพที่ดูจะไม่กลัวหุ่นยนต์มาแย่งงานเลยคือกลุ่มอาชีพหมอ โดยเฉพาะหมอผ่าตัดหรือที่เรียกกันว่าศัลยแพทย์

ทุกวันนี้โรงพยาบาลไฮเทคๆ ทั่วโลกเริ่มนำเสนอความไฮเทคด้วยการโชว์ผลงานผ่าตัดของหุ่นยนต์ เช่นที่โรงพยาบาล King Faisal Specialist Hospital & Research Centre (KFSH&RC) ซาอุดีอาระเบีย ก็เพิ่งโชว์ผลงานการผ่าตัดของหุ่นยนต์เมื่อกลางปี 2024 ว่า หุ่นยนต์ผ่าตัดหัวใจของโรงพยาบาลนั้นทำการผ่าตัดไปกว่า 400 ครั้งแล้ว และผู้ที่ได้รับการผ่าตัดนั้นมีอัตรารอดชีวิตถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ทีเดียว และในฝั่งอเมริกาในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีการเคลมว่าใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้ผู้ป่วยได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก

เราคงจะไม่ลงไปพูดถึงรายละเอียดเชิงเทคนิคของการผ่าตัด แต่เราจะมาที่คำถามง่ายๆ ว่า ทำไมต้องใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด? หุ่นยนต์ผ่าตัดนี้ ‘ปลอดภัย’ หรือไม่?

ถ้าจะตอบคำถามหลังก่อน คือพวกเครื่องมือทางการแพทย์ทั่วๆ ไปจะมีกฎระเบียบด้านความปลอดภัยสูงอยู่แล้ว คือถ้าไม่ปลอดภัยจริงๆ คงไม่มีใครกล้าเอามาใช้ผ่าตัด ดังนั้นถ้าเราเชื่อในระบบมาตรฐานความปลอดภัย เรื่องนี้ก็ข้ามไปได้เลย

นี่จึงนำเรามาที่คำถามแรก ทำไมต้องใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด? มันดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิมอย่างไร?

ในปัจจุบัน การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นั้นโดยรวมไม่ได้มีนวัตกรรมการผ่าตัดใหม่ๆ หรือพูดง่ายๆ คือไม่ได้ทำการผ่าตัดอะไรที่มากกว่าที่มนุษย์ทำได้อยู่แล้ว และนั่นคือมาแทนที่การผ่าตัดแบบเดิมตรงๆ แต่ข้อดีของหุ่นยนต์คือ การผ่าตัดนั้นต้องเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใหญ่มาก

ถ้าจะให้อธิบายเร็วๆ การผ่าตัดอวัยวะภายในแบบเดิมๆ นั้นต้องผ่าเปิดช่องท้องช่องอกอะไรก็ว่าไป และแผลจะใหญ่แน่นอน แต่มันต้องทำ ไม่อย่างนั้นจะไม่เห็น และผ่าตัดไม่ได้ แต่พอใช้หุ่นยนต์ การผ่าตัดใหญ่ๆ แบบนั้นไม่จำเป็น และการเจาะแค่รูเล็กๆ ให้หุ่นยนต์สามารถใส่เครื่องมือเข้าไปผ่าตัดอวัยวะที่ต้องการได้ก็เพียงพอ

ทำให้ผลของการผ่าตัดนั้นผู้ป่วยจะมี ‘แผล’ ที่เล็กมาก และส่งผลให้หลังผ่าตัดไม่ต้องฟื้นตัวให้แผลสมานกันยาวนานแบบการผ่าตัดตามจารีต และเขาก็บอกว่ามันเป็นการลดต้นทุนการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัดลงแทบจะครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ถามว่าจะนำไปสู่อะไร คำตอบคือในระยะยาวมันจะลดต้นทุนการผ่าตัดลงอย่างมหาศาลมาก และทำให้การผ่าตัดทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้นสุดๆ

และถ้าถามต่อไปว่าแบบนี้หมอไม่กลัวหุ่นยนต์แย่งงานหรือ? คำตอบคือ ถ้าพูดถึงความต้องการผ่าตัดในยุคปัจจุบันที่ล้นมือหมอมากๆ หมอไม่น่าจะมองว่าหุ่นยนต์มาแย่งงานเท่ากับมา ‘ช่วยงาน’

หรือพูดง่ายๆ การใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัดในปัจจุบัน ทุกฝ่ายก็น่าจะมองตรงกันว่าเป็นตัวช่วยในการขยายบริการทางการแพทย์ มากกว่าจะมาแทนที่สถานะด้านวิชาชีพของหมอ

ความน่าสนใจคือ ในอาชีพที่ความต้องการบริการล้นและบริการไม่ทัน คนในวิชาชีพมักจะไม่มองว่าเทคโนโลยีใดๆ ที่เข้ามามันจะมา ‘แย่งงาน’ และนั่นก็ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ผ่าตัดเท่านั้น พวก AI ช่วยคัดกรองมะเร็ง หรือกระทั่งหุ่นยนต์ครอบฟันก็ล้วนดูจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากมนุษย์ผู้ ‘ทำงาน’ แบบเดียวกับพวกมันมาก่อนทั้งนั้น

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1101471078207894&set=a.811136580574680


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210