South China Morning Post รายงานว่า ความพยายามในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และนกสายพันธุ์ต่างๆ ของฮ่องกงกำลังพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI)
Robotics Cats เป็นสตาร์ทอัพด้าน AI ที่เพิ่งได้รับการยกย่องให้เป็น “ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมชั้นนำ” โดย UpLink แพลตฟอร์มของฟอรัมเศรษฐกิจโลกในระหว่างการประชุมประจำปีของ New Champions ที่เมืองต้าเหลียนของจีนแผ่นดินใหญ่ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ Robotics Cats มีศักยภาพในการประมาณจำนวนประชากรนกบางสายพันธุ์ได้แม่นยำขึ้นและตรวจสอบถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามที่ผู้เชี่ยวชาญและสตาร์ทอัพในท้องถิ่นกล่าว
ทั้งนี้ไฟป่าก่อให้เกิดภัยคุกคามที่สำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ป่า และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาทำลายพื้นที่ชนบทและพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล เพื่อควบคุมไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสียหาย ความสามารถในการตรวจจับการเกิดไฟป่าตั้งแต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญสูงสุด
น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ระบบตรวจจับไฟป่าจำนวนมากอาศัยการตัดสินใจด้วยมนุษย์ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลเสียที่ร้ายแรง เช่น ความล่าช้าในการแจ้งเตือนภัยผู้ที่เกี่ยวข้อง และสูญเสียงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์ เพราะในขณะที่รัฐบาลกำลังทุ่มเททรัพยากรในการดับเพลิงมากขึ้น ขนาดไฟป่าโดยเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“Robotics Cats จึงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วย LookOut โซลูชั่นที่บริษัทพัฒนาขี้นมา โดยใช้เทคโนโลยี SaaS ผสมผสานพลังของคอมพิวเตอร์วิทัศน์, AI และ IoT เทคโนโลยีของเราได้รับการพิสูจน์และใช้งานโดยรัฐบาลใน 10 ประเทศทั่วเอเชีย ยุโรป และอเมริกา โดยมีระบบตรวจสอบอัตโนมัติทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปรับปรุงความแม่นยำในการตรวจจับและเวลาตอบสนอง” ข้อความระบุในเว็บไซต์ของบริษัท
Andre Cheung Wai-kin ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพนี้กล่าวว่าทีมงานของเขาได้ร่วมมือกับทางการฮ่องกงเพื่อทำการสำรวจ การอนุรักษ์พลังงานและการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยด้วย AI
ด้วยระบบที่เกี่ยวข้องกับกล้องวงจรปิดขั้นสูง ผู้ใช้สามารถตรวจจับไฟป่าและนก ตลอดจนดำเนินการตรวจสอบถิ่นที่อยู่อาศัยแบบเรียลไทม์ได้
ระบบดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องมือตรวจจับไฟป่าอัตโนมัติที่ระบุไฟป่าในระยะเริ่มต้นโดยใช้คอมพิวเตอร์วิชันและการเรียนรู้เชิงลึก โดยดึงภาพจากไฟป่ามากกว่า 500,000 ภาพ
ในทำนองเดียวกัน ระบบตรวจจับนกด้วย AI อีกระบบหนึ่งใช้ภาพถ่ายหลายพันภาพเพื่อระบุสายพันธุ์นกและนับจำนวนนกโดยอัตโนมัติ
เพื่อทำการทดสอบ บริษัทได้ร่วมมือกับกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 สำหรับโครงการนำร่อง 12 เดือน เพื่อดำเนินการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่ขับเคลื่อนด้วย AI ในแหล่งที่อยู่อาศัยของพื้นที่ชุ่มน้ำใน New Territories ของฮ่องกง
แหล่งที่อยู่อาศัยดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากระยะไกลระหว่างเกิดพายุฝนฟ้าคะนองที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
“เราดีใจที่นกน้ำที่กำลังเกาะคอนดูเหมือนจะไม่เป็นอันตรายจากสภาพอากาศเลวร้าย จากประสบการณ์นี้ทำให้เราสามารถประเมินประสิทธิภาพของระบบในบางสถานการณ์ได้” Andre Cheung Wai-kin กล่าว
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ร่วมมือกับ WWF-ฮ่องกง ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนโครงการซึ่งกินระยะเวลา 15 เดือน ที่สวนนกในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Mai Po เมื่อเดือนพฤษภาคม 2022
จากนกนับพันตัวที่มาเยือนเขตอนุรักษ์ นกปากช้อนหน้าดำ นกยางใหญ่ และนกยางเล็ก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ล้วนเป็นนกประจำถิ่นของเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Mai Po
เมื่อวันที่ 24 มกราคมปีที่แล้ว ระบบตรวจพบไฟป่าที่ Kai Kung Leng ในอุทยานแห่งชาติ Lam Tsuen และได้ดับลงในวันถัดมา
Carmen K.M. Or ผู้จัดการฝ่ายวิจัยพื้นที่ชุ่มน้ำของ WWF-HK ซึ่งเป็นผู้นำทีมโครงการ กล่าวว่า AI สามารถให้ “โอกาสอันยิ่งใหญ่ในการส่งเสริมความพยายามในการอนุรักษ์”
เธอกล่าวว่า “ปัญญาประดิษฐ์สามารถระบุสายพันธุ์ได้อย่างแม่นยำ ดำเนินการเฝ้าระวังอัตโนมัติ และประมวลผลชุดข้อมูลขนาดใหญ่ได้ เราจึงสามารถจัดสรรกำลังคนสำหรับการตรวจสอบและตีความข้อมูลได้”
ด้าน Wang Yu-Hsing รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง (HKUST) กล่าวว่า “เนื่องจากองค์กรบางแห่งประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ระบบ AI จึงสามารถช่วยในงานที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น การสำรวจภาคสนามและการนับจำนวนสัตว์”
เขากล่าวเสริมอีกว่าระบบ AI สามารถทำงานได้ตลอดเวลา ทำให้การรวบรวมข้อมูลและการติดตามถิ่นที่อยู่อาศัยมีประสิทธิภาพสูงสุด
ก่อนหน้านี้ ทีมงานของเขาได้พัฒนาระบบติดตามนกด้วย AI เพื่อติดตามนกกระยางที่สวนสาธารณะเพนโฟลด์ในเขตซาทินของฮ่องกง
นอกจากนี้ โครงการในท้องถิ่นอื่นๆ ยังได้นำ AI มาใช้เพื่อการอนุรักษ์และปกป้องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ในเดือนมิถุนายน 2024 มูลนิธิเพื่อการอนุรักษ์โอเชียนปาร์คประกาศว่าได้ทดสอบการใช้โดรนและ AI เพื่อติดตามประชากรแมงดาทะเลในโคลนตม
“ซอฟต์แวร์ AI วิเคราะห์ภาพที่ถ่ายโดยโดรนและช่วยระบุแมงดาทะเลที่เพิ่งฟักออกมาซึ่งมีขนาดน้อยกว่า 1 ซม.” Cheung Siu-gin รองศาสตราจารย์ภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยซิตี้ ฮ่องกง (CityU) และผู้ประสานงานมูลนิธิกล่าว
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมเกษตร ประมง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (AFCD) ของฮ่องกงได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มเครื่องตรวจจับไฟไหม้บนเนินเขาด้วยความช่วยเหลือของ AI ในอุทยานแห่งชาติ
ตามข้อมูลของกรมฯ มีการบันทึกไฟไหม้บนเนินเขาประมาณ 233 ครั้งภายในหรือใกล้พื้นที่อุทยานแห่งชาติระหว่างปี 2013 ถึง 2023 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์นับไม่ถ้วน
โฆษก AFCD กล่าวว่าเนื่องจากอุทยานบางแห่งมีพื้นที่กว้างใหญ่ AI อาจลดภัยคุกคามจากไฟป่าบนเขาได้ด้วยการตรวจสอบอัตโนมัติแบบเรียลไทม์
แต่กระนั้นเทคโนโลยีนี้ยังคงมีข้อจำกัด เพราะความห่างไกลของแหล่งที่อยู่อาศัยบางแห่งอาจขัดขวางแหล่งจ่ายไฟและเครือข่ายโทรคมนาคมที่เสถียร
Andre Cheung Wai-kin กล่าวว่าสภาพแวดล้อมที่ท้าทายอาจส่งผลต่อการตรวจจับสัตว์ด้วย AI ได้เช่นกัน
“โดยพื้นฐานแล้ว ความแม่นยำจะลดลงเมื่อสัตว์ไม่อยู่ในที่ที่มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาจนำไปสู่การตรวจจับผิดพลาดและการนับผิด ซึ่งส่งผลต่อการรวบรวมข้อมูล” เขากล่าว
สำหรับ Robotics Cats ก่อตั้งขึ้นในเดือนกันยายน 2019 โดยในช่วงแรกเน้นที่การพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ จากนั้นเปลี่ยนมาพัฒนาซอฟต์แวร์ระหว่างการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลฮ่องกง
หัวเรือใหญ่ของ Robotics Cats เชื่อว่าความคิดริเริ่มของรัฐบาลสามารถส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีในการอนุรักษ์ได้
“รัฐบาลสามารถสร้างแพลตฟอร์มให้ภาคเอกชนค้นพบสตาร์ทอัพที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย สตาร์ทอัพได้รับเงินทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนา ภาคเอกชนมีระบบนิเวศที่เชื่อมโยงถึงกัน และรัฐบาลได้รับโซลูชันที่อาจช่วยส่งเสริมการปกป้องสิ่งแวดล้อม เราต่างมีความรับผิดชอบร่วมกันในการปกป้องธรรมชาติ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกคน เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้” เขากล่าวปิดท้าย
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/08/20/ai-protect-environment-forest-birds-in-hongkong/