การค้นพบ “HeLP” (Hevea Latex Polysaccharide) สารชีวโมเลกุลใหม่จากเซรั่มน้ำยางพารา ถือเป็นความก้าวหน้าในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งสำคัญของประเทศไทย เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภาคเอกชน และทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สารดังกล่าว มีคุณสมบัติช่วยปรับสมดุลระดับเซลล์ และยังสามารถพัฒนากระบวนการสกัดในระดับอุตสาหกรรมได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก นับเป็นก้าวสำคัญของไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ (Biorefinery) ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต
ทีมนักวิจัยไทยนำโดย รศ.ดร.เภสัชกร ฐณะวัฒน์ พิทักษ์พรปรีชา และคณะ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ดำเนินการภายใต้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพจากน้ำยางพาราสู่เชิงพาณิชย์ (CERB) โดยได้รับทุนสนับสนุนรวมกว่า 200 ล้านบาท จากหน่วยงานสำคัญในสังกัด อว. เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน), หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
HeLP เป็นสารชีวโมเลกุลประเภทโพลิแซ็กคาไรด์ที่สกัดจากเซรั่มน้ำยางพารา ซึ่งไม่เคยถูกระบุหรือใช้งานในอุตสาหกรรมใดมาก่อน เป็นของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตยางแผ่น/ยางแท่งที่ถูกเททิ้งไปปีละนับล้านลิตร แต่กลับซ่อนคุณค่าทางชีวภาพอย่างมหาศาลไว้ภายใน จากการศึกษาพบว่า HeLP สามารถปรับสมดุลระบบทางเดินอาหารด้วยบทบาทเป็นพรีไบโอติก เสริมภูมิคุ้มกันในระดับเซลล์ผ่านกลไก “Gut-Microbiota-Immune-Brain-Axis” มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากแอลกอฮอล์ และแสดงศักยภาพในการต้านเซลล์มะเร็งผ่านระบบภูมิคุ้มกันเจ้าบ้าน
การค้นพบ HeLP ได้ถูกนำไปจดสิทธิบัตรแล้วทั้งในและต่างประเทศ และอยู่ในระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็น “อาหารใหม่” (Novel Food) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขณะเดียวกัน ม.อ.ร่วมกับบริษัท อินโนซุส จำกัด ได้เดินหน้าสร้างโรงงาน Biorefinery เซรั่มน้ำยางพารามาตรฐาน GMP แห่งแรกของโลก ซึ่งมีกำลังการผลิต HeLP สูงถึง 5,000 กิโลกรัม/เดือน จากวัตถุดิบเซรั่มวันละ 20,000 ลิตร โรงงานนี้จะไม่เพียงผลิต HeLP เท่านั้น แต่ยังสามารถต่อยอดสู่เวชสำอาง (Cosmeceuticals) อาหารฟังก์ชัน (Functional Foods) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Supplements) วัสดุนาโนชีวภาพ และอื่นๆ
HeLP ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพแบบครบวงจร ตามแนวทาง BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) และยังตอบสนอง Sustainable Development Goals (SDGs) เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทย เป็น “ทรัพย์สินใหม่ของสวนยาง” ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ (เกษตรกร) กลางน้ำ (กระบวนการสกัด) จนถึงปลายน้ำ (ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์)
การค้นพบ HeLP ไม่ใช่แค่ผลงานวิจัยธรรมดา แต่คือนวัตกรรมเศรษฐกิจชีวภาพของไทย ที่จะนำองค์ความรู้ของนักวิทยาศาสตร์ไปสู่ชีวิตจริงของประชาชน เป็นการยกระดับขีดความสามารถ ผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการของภาคการผลิตไทยในอนาคต
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/05/18/hevea-latex-polysaccharide-from-latex-serum/