เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพเพื่อคุณภาพชีวิต กระแสแรงไม่หยุดในยุคโควิดปีวัวทอง

Loading

สวัสดีปีใหม่ปีวัวทอง ท่านผู้อ่านทุกท่าน ในรอบปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์โลกจะต้องบันทึกเรื่องราวของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งได้สร้างผลกระทบกับสุขภาพ ชีวิตตลอดไปจนถึงเศรษฐกิจได้รับความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า New Normal หรือชีวิตวิถีใหม่ และได้พูดถึง Next Normal กันต่อไปว่า วิถีชีวิตของมนุษย์เราในยุคต่อไปจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรในโลกหลังจากนี้

เมื่อเรามาโฟกัสถึงโลกแห่งเทคโนโลยี นับว่าเป็นก้าวกระโดดมากในระยะเวลาเพียงปีเดียว เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสวนกระแสธุรกิจอื่นๆอย่างสิ้นเชิง ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ช็อปปิ้งออนไลน์ เอ็ม-คอมเมิร์ซ ช็อปปิ้งผ่านสมาร์ทโฟน หรือแม้แต่รับบริการคอลเซ็นเตอร์เพื่อรับออเดอร์ ทุกคนได้ให้ความสำคัญและมองเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกิจต่อไป เพราะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ปิดเมือง ห้างปิด ร้านค้า ตลอดไปจนถึงร้านอาหารปิดตัวลงป้องกันการแพร่ระบาด

ช็อปปิ้งออนไลน์เติบโตกระฉูด

มีการประเมินตัวเลขกันในธุรกิจค้าปลีกว่า อี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตสูงมาก โดยผู้ให้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่รายหนึ่งมียอดขายพุ่งกว่า 200,000 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่ยอดขายอยู่ในระดับ 40,000-50,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า

ธุรกิจต่างๆทั่วโลกถูกดันให้เร่งนำเอา “โซลูชันดิจิทัล” มาใช้ทดแทนการค้าแบบเดิมๆ การให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับประโยชน์ จุดเด่นเฉพาะของผลิตภัณฑ์นั้น มีความจำเป็นต้องใช้แนวทางดิจิทัลก่อน ตามด้วยอี–คอมเมิร์ซ ที่ต้องออกแบบมาให้ใช้ง่ายและอำนวยความสะดวก เช่น วิดีโอแชตบนหน้าเว็บ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยี augmented reality หรือความจริงเสริมมาใช้

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะสร้างประสบการณ์ใหม่แก่ผู้บริโภคที่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง การช็อปปิ้งด้วยตนเอง การจัดประชุมด้วยตนเอง หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ใช้ช่องทางดิจิทัล จะเป็นแนวทางยกระดับประสบการณ์ให้ผู้บริโภคขึ้นในระดับต่อๆไป

เทคโนโลยีด้านสุขภาพจะมาแรง

เป้าหมายของมนุษย์เราต้องมีชีวิตที่ดี เทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นนวัตกรรมต่อยอดจากพื้นฐานวิทยาศาสตร์สามารถนำมาพัฒนาคุณภาพของมนุษย์เราได้ มีการมองกันว่ายักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของโลกต่างมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านสุขภาพเพื่อใช้วิเคราะห์การดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านๆมา ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล, แอปเปิล, อเมซอน และไมโครซอฟท์

การร่วมมือระหว่างแอปเปิลกับกูเกิลพัฒนาเทคโนโลยี การติดตามผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ด้วยเทคโนโลยีบลูทูธ จากกรณีที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเห็นว่า เทคโนโลยีการติดตามผู้ติดเชื้อเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาด

การใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์มาคาดคำนวณตัวเลข R (R numbers) เป็นวิธีหนึ่งในการให้คะแนนไวรัสโควิด-19 หรือความสามารถในการแพร่กระจายของโรค และการทำนายการเกิดการแพร่ระบาดรอบสอง

แอปพลิเคชันต่างๆได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่น การนำมาคำนวณค่าออกซิเจนในเลือด การตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า การตรวจจับการล้ม ความเครียด ความเหงา การนอนหลับ ไปจนถึงการตรวจจับหลอดเลือดตีบได้รวดเร็ว เพื่อป้องกันการอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจในที่สุด

ขณะที่ Telemedicine การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบเรียลไทม์ เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO Conference ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ ง่าย สะดวกสบาย ประหยัดเวลา

ทั้งยังได้รับบริการเหมือนกับการมารับบริการที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยได้มีโรงพยาบาลหลายแห่งนำมาให้บริการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษา เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่อาการไม่รุนแรง หรือการปรึกษาติดตามผลการรักษาของโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน

เทคโนโลยีด้านสุขภาพจึงมีบทบาทมากขึ้นและมีแนวโน้มพัฒนาไปอีกไกลมาก

ดิจิทัลแบงกิ้งยกธนาคารมาไว้ที่มือถือ

การพัฒนาการบริการของธนาคารพาณิชย์ได้เข้าสู่ดิจิทัลแบงกิ้งอย่างสมบูรณ์ ถึงปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ 100% ต่อยอดจากการให้บริการบนอินเตอร์เน็ต ก้าวเข้าสู่โมบายแบงกิ้ง มีการพัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ให้บริการธุรกรรมการเงินครบวงจร ลูกค้าสามารถใช้บริการ “ถอน-โอน-จ่าย-ซื้อขายกองทุน-กู้เงิน” เรียกได้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นได้บนโลกออนไลน์

ลูกค้าของธนาคารไม่จำเป็นต้องใช้บริการสาขาอีกต่อไป การพัฒนาเทคโนโลยีการเงินมุ่งไปสู่อนาคต มีการนำ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาพัฒนาเพื่อช่วยจับพฤติกรรมการใช้ชีวิตจากการใช้จ่ายผ่านธุรกรรมการเงิน อาทิ ข้อมูลการช็อปปิ้งออนไลน์ พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า การใช้โปรโมชัน การเล่นเกม หรือข้อมูลตำแหน่งที่อยู่จากโทรศัพท์มือถือ นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์การบริการใหม่ เรียกว่ายิงตรง เจาะลูกไปยังลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ตรงเป้าหมาย

อีกทั้งยังปิดความเสี่ยงการอนุมัติสินเชื่อ หรือมีหนี้เสียในระดับต่ำ ทำให้การอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็ว และดอกเบี้ยราคาถูกลง นอกจากนี้ยังเป็นผลดีต่อกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถพิสูจน์ที่มาของรายได้ที่ชัดเจน เช่น ผู้ทำอาชีพค้าขาย ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายล้วนแต่เกิดผลดีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายลูกค้าได้รับสินเชื่อ ฝ่ายธนาคารปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดิจิทัลแบงกิ้ง แม้จะเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย สาขาของ ธนาคารหลายแห่งในจุดที่เกิดการแพร่ระบาดต้องปิดตัวลงไป แต่ก็ยังสามารถใช้บริการทางด้านดิจิทัลได้โดยไม่สะดุดลง และจะยิ่งเร่งรัดให้ลูกค้าของธนาคารได้เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

แอปเป๋าตังคนไทยต้องใช้ให้เป็น

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นแอปที่คนไทยใช้ทำธุรกรรมการเงินกันมากที่สุด สำหรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านแอปนี้ เป็นแอปที่ธนาคารกรุงไทยพัฒนาขึ้น โดยออกแบบให้ครอบคลุมธุรกรรมการเงินทุกประเภทเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนใช้รับสิทธิ์ในโครงการต่างๆ ไม่ว่าอาทิ ชิมช้อปใช้, เราเที่ยวด้วยกัน, ช้อปดีมีคืน และโครงการคนละครึ่งเฟสหนึ่งและเฟสสองผ่านผู้ใช้สิทธิ์ 15 ล้านราย

แอปนี้ใช้เทคโนโลยีหลายชนิด ทั้งการจดจำใบหน้า บิ๊กดาต้า ติดตามพิกัด ซึ่งเป็นแนวโน้มที่นำมาใช้กันอีกมาก นอกจากจะเป็นอี-วอลเลต หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังเป็นเฮลท์วอลเลตหรือกระเป๋าสุขภาพ รับสิทธิ์สุขภาพจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และการใช้สิทธิ์โครงการรัฐอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งคนไทยมีความจำเป็นจะต้องเรียนรู้ให้ได้และใช้ให้เป็นเพื่อรับสิทธิ์

เพราะในอนาคตเมื่อรัฐบาลมีบิ๊กดาต้านี้แล้วจะสามารถต่อยอดในโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

แหล่งข้อมูล
https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2005247


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210