สมัครงานยุค GenAI ทางลัดของคนฉลาด หรือช่องโหว่ที่บั่นทอนความยุติธรรม?

Loading

เมื่อ GenAI กลายเป็นคู่หูสมัครงาน โลกของการจ้างงานก็ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป…“คุณใช้ ChatGPT ไหม?” กำลังกลายเป็นคำถามพื้นฐานในการสมัครงานยุคใหม่ และคำตอบของผู้สมัครงานแต่ละคนก็ดันไม่ตรงกันเสียด้วย

โจนาธาน ชาน (นามสมมติ) เด็กหนุ่มไฟแรงวัย 25 ปี ผู้ใกล้จบจากคณะเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์ข้อมูล เคยเชื่อว่าเขาเตรียมตัวมาดีสำหรับการสมัครงานในตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะการเขียนโค้ดในธนาคารท้องถิ่น จนกระทั่งวันทดสอบมาถึง และหน้าจอก็ขึ้นป๊อปอัปเตือนว่า “ห้ามใช้ AI ทุกชนิด ระบบจะติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตาเพื่อกันโกง”

จากคนที่เขียนโค้ดกับ ChatGPT จนคล่องมือ เขาถูกตัดขาดจากคู่หูของเขาทันที โชคดีที่โจนาธานเอาตัวรอดจากสนามสอบสุดโหด และคว้างานนี้ไปได้ ทว่าเขารู้ดีว่าประสบการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องปกติในยุคที่ GenAI แทรกตัวอยู่ในทุกซอกทุกมุมของโลกการทำงาน

ใช้ได้แค่ไหน? ในเมื่อ GenAI ไม่ใช่ “การโกง” แต่คือ “อาวุธลับ”

ในอีกมุมหนึ่ง เบนจามิน ลี (นามสมมติ) วัย 23 ปี นักศึกษาสื่อสารมวลชน กลับใช้ ChatGPT อย่างมั่นใจระหว่างทำแบบทดสอบแผนแคมเปญฝึกงาน เขาใช้มันเพื่อจุดประกายไอเดีย เขียนเรซูเม่ให้เข้ากับแต่ละตำแหน่ง และแม้กระทั่งถามว่า “จะใส่ชุดอะไรไปสัมภาษณ์งาน?”

เบนจามินบอกว่า “ตราบใดที่ไม่ก็อปมาแปะทั้งดุ้น มันก็แฟร์แล้ว” และนั่นคือมุมมองที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากใช้เป็นแนวทาง พวกเขามองว่า AI เป็นเพื่อนร่วมคิด ไม่ใช่ตัวแทน

ลิม ซิ ยี่ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้ GenAI เธอใช้ ChatGPT แปลอักษรจีนโบราณเป็นอังกฤษ เพื่อผ่านแบบทดสอบตำแหน่งนักวิเคราะห์เนื้อหา พอผู้สัมภาษณ์ชมผลงาน เธอก็สารภาพตรงๆ ว่าใช้ GenAI ช่วย และได้รับคำชมเรื่องความสามารถในการใช้เครื่องมืออย่างชาญฉลาด

เกมที่เปลี่ยนไป ใคร “ใช้ AI” ได้ดีกว่า กำชัย?

AI Singapore ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยภายใต้มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ถึงขั้นเปิดไฟเขียวให้ผู้สมัครใช้เครื่องมือ GenAI ในการประเมินทักษะก่อนสัมภาษณ์จริง

“AI คือส่วนหนึ่งของเวิร์กโฟลว์ใหม่ในโลกการทำงาน” โฆษกของ AI Singapore ระบุ พร้อมเสริมว่าองค์กรมีวิธีคัดกรองเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่แค่ใช้ได้ แต่ “เข้าใจและใช้เป็น” ต่างหากที่สำคัญ

ด้าน จอร์จ ลิม จากบริษัทจัดหางาน Robert Walters มองว่า ผู้สมัครงานควรใช้ AI เท่าที่จำเป็น และต้องให้ผลงานสะท้อนตัวตน ความสามารถ และเสียงของตนเองอย่างแท้จริง

เชี่ยวชาญ AI ยังไม่พอ ต้อง “แยกแยะ” ให้ได้

ซิม ยุน ยิ๋ง จากบริษัทจัดหางาน The Talent Detective ให้ความเห็นได้อย่างเฉียบขาดว่า
“AI ทำอะไรแทนเราได้เยอะ แต่การตัดสินใจที่เป็นมนุษย์ยังคงมีความหมาย”

เธอเล่าว่า ผู้สมัครที่ใช้ AI เขียนแคมเปญได้ดี อาจไม่โดนตัดสิทธิ์ หากเขามีวิจารณญาณพอจะรู้ว่าไอเดียไหนขายได้จริง และเหมาะกับแบรนด์จริงๆ

อีกด้านของสมรภูมิ บางองค์กรยังไม่ “เปิดใจ”

Dean Tong หัวหน้าทรัพยากรบุคคลของธนาคาร UOB กล่าวว่ากระบวนการรับสมัครงานของธนาคารได้รับการออกแบบมาเพื่อประเมินทักษะการคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการแก้ปัญหาของผู้สมัคร “เพื่อให้แน่ใจว่าการประเมินจะยุติธรรมและแม่นยำ เราไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องมือ AI ระหว่างการประเมินใบสมัครงานหรือการสัมภาษณ์ เพื่อรักษามาตรฐานการวัดทักษะของแต่ละคน” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่าอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลง และธนาคารเองก็เริ่มให้พนักงานเรียนรู้การใช้ GenAI อย่างมีความรับผิดชอบ

ส่วนบริษัทจัดหางาน Randstad ก็เลือกจะไม่ให้ AI เข้ามาปะปนในการคัดคน โดยเน้น “ความสามารถจริงของมนุษย์” เป็นหลัก

สรุป ไม่ว่าจะ Fair หรือ Foul? อยู่ที่ว่า “ใช้ AI ยังไง” มากกว่าแค่ “ใช้หรือไม่”

โลกการจ้างงานกำลังเปลี่ยนเกม จากการวัดว่า “คุณเก่งแค่ไหน” มาเป็น “คุณใช้เครื่องมือเก่งแค่ไหนและยังคงความเป็นตัวคุณไว้ได้หรือไม่”

ใครที่ใช้ GenAI เป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ตัวแทน ยังคงมีที่ยืน และอาจได้เปรียบด้วยซ้ำ เพราะในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง “การรู้จักใช้ AI อย่างรู้เท่าทัน” คือทักษะที่โลกงานวันนี้กำลังตามหา

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2025/05/25/genai-job-hack-vs-fairness/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210