‘น้ำมันขึ้นราคา’ ทุกข์ของคนใช้รถ และปัจจัยท้าทายของการดัน พลังงานสะอาด เป็นทางเลือกช่วยชาติ

Loading

ทุกข์ของคนใช้รถยุคนี้ คงไม่มีอะไรหนักไปกว่าการรู้ข่าว ‘น้ำมันขึ้นราคา’ กันทุก 2-4 วัน เพราะในตอนนี้หลายคนต้องกลับมาใช้รถเพื่อเดินทางกันแล้ว หลังเกิดการปรับมาตรการหลายด้านเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงน่าเป็นห่วง

และการปรับราคาน้ำมันครั้งนี้ ก็ไม่ได้ส่งผลแค่กับคนใช้รถทั่วไปเท่านั้น หากแต่เมื่อน้ำมันดีเซล ราคาพุ่งสูงขึ้นเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งอย่างมีนัยสำคัญด้วย

แล้วต้นสายปลายเหตุของภาวะ ‘น้ำมันขึ้นราคา’ คืออะไร แล้ววิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อวงการพลังงานในภาพรวมอย่างไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกัน

ต้นเหตุของ ‘น้ำมันขึ้นราคา’ ที่ต้องทำความเข้าใจ

ดังหลักฐานที่เห็นประจักษ์ว่าช่วงนี้สถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งขึ้นต่อเนื่องอย่างน่าตกใจ เพราะแค่เดือนกันยายนเพียงเดือนเดียวปรับขึ้นถึง 6 ครั้ง ต่อกรณีนี้ โฆษกกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่าปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งมีปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง จึงส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทย

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นยังมีสาเหตุจากกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมัน ยังคงใช้แนวทางค่อยเป็นค่อยไปในการฟื้นฟูผลผลิตในช่วงการระบาดใหญ่ โดยตกลงที่จะส่งออกน้ำมันดิบเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงเดือนเมษายน 2565 ทำให้อุปสงค์น้ำมันตึงตัว อีกทั้งสหรัฐฯยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันดิบได้ทันกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

รวมทั้งมีปัจจัยด้านราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากจีนลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าและโรงงานหลายแห่งในเอเชีย ทำให้มีการหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซธรรมชาติ

ดังนั้น ในตอนนี้ จึงกล่าวได้ว่า ไม่เพียงแค่ประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับวิกฤต ‘น้ำมันขึ้นราคา’ แต่วิกฤตนี้กระทบกับแทบทุกประเทศทั่วโลกทีเดียว

สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่ง รายงานว่า ช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีภาพประชาชนกรุงลอนดอน ต่อแถวยาวเหยียดหน้าปั๊มน้ำมันเพื่อรอคิวเติมน้ำมัน หลังอังกฤษต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำมัน ถึงแม้ว่าทางการจะยืนยันว่ามีน้ำมันเพียงพอไม่ได้ขาดแคลนแต่อย่างใด แต่ความกังวลของชาวเมืองก็ไม่ได้น้อยลง โดยในรายงานระบุด้วยว่าในบางพื้นที่เกิดการทะเลาะวิวาทกันเพื่อแย่งเติมน้ำมันด้วย

นอกจากนี้ ในหลายประเทศก็อดตื่นตระหนกไม่ได้เมื่อเทศกาลคริสต์มาสปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรุงลอนดอนของอังกฤษ ไปจนถึงนครลอสแอนเจลิส ของสหรัฐอเมริกา อาจขาดแคลนอาหารและสินค้าหลายชนิด เนื่องจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานหรือ ซัพพลายเชนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบ ทั้งจากปัญหาการขนส่ง รวมไปถึงความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งสูงในช่วงที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

ชี้ 6 ปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก

ดังที่เกริ่นไปแล้วว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่ไทยเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งราคาจะขยับมาก หรือน้อย นั้นขึ้นอยู่กับการจัดเก็บภาษี ระบบการเก็บเงินเข้ากองทุน หรือการอุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน เห็นได้จากประเทศเพื่อนบ้านเรา อย่างเช่น มาเลเซีย ที่มีการอุดหนุนราคาน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันถูกว่าในประเทศไทยนั่นเอง

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่จะขยับขึ้นหรือขยับลง ซึ่ง กระทรวงพลังงาน ได้อธิบายไว้ 6 ข้อดังนี้

1 สภาพเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันเมื่อเศรษฐกิจเติบโต ความต้องการใช้น้ำมันจะสูงขึ้นราคาน้ำมันก็อาจจะสูงขึ้น

2 กำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันและโรงกลั่น หากการผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากความต้องการลดลงน้อยกว่ากำลังการผลิต หรือหากผู้ผลิตน้ำมันปรับเพิ่มอัตราการผลิต ทำให้มีปริมาณน้ำมันในตลาดเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงได้เช่นกัน

3 ฤดูกาลกับสภาพภูมิอากาศ  ความต้องการใช้น้ำมันจะผันแปรไปตามฤดูกาลหรือสภาพภูมิอากาศ เช่น ในฤดูหนาว จะมีราคาสูงกว่าฤดูร้อน เพราะจะมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่ให้ความอบอุ่น

4 ภูมิรัฐศาสตร์มีผลต่อราคาน้ำมัน หากเกิดความไม่สงบหรือความขัดแย้งในบริเวณประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างที่เป็นข่าวบ่อยครั้ง จะเกิดอุปสรรคในการขนส่ง อาจจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเข้าสู่ตลาดลดลง

5 อัตราแลกเปลี่ยน หากเกิดการผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลหลักกับเงินสกุลท้องถิ่นที่ใช้ในการซื้อขายน้ำมัน จะทำให้ต้นทุนในการซื้อขายเปลี่ยนไปด้วย

6 เทคโนโลยีการผลิตพลังงาน หากเทคโนโลยีพลังงานทดแทนสามารถผลิตได้เพียงพอและแข่งขันกับราคาน้ำมันได้ อาจส่งผลให้ความต้องการน้ำมันลดลง ราคาก็จะถูกลง

ความท้าทายที่เกิดจาก น้ำมันขึ้นราคา ต่อวงการพลังงานสะอาด

“ปัจจัยราคาพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลต่อเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในช่วงในช่วงปี 2065–2070” การสื่อสารเช่นนี้ของ ก็เพื่อที่จะอธิบายต่อว่า สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความท้าทายใน 2 ด้านคือ ราคาน้ำมัน ที่สูงกำลังเป็นแรงผลักให้เกิดการหาพลังงานทดแทนเพื่อลดความผันผวนที่อาจเกิดซ้ำในอนาคต

อีกด้านของผลกระทบจากราคาพลังงาน คือ ผลที่จะทำให้พลังงานทดแทนซึ่งมี วัตถุดิบจากพืชพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ หรือแม้แต่ไฟฟ้าสูงขึ้นจากฐานที่สูงอยู่แล้ว กลายเป็นอุปสรรคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกและของประเทศไทย

นที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวนจะเกิดขึ้นอีกนานแค่ไหน ไม่ทราบว่าจะเป็นภาวการณ์ระยะสั้นหรือระยะยาว และในส่วนของการใช้พลังงานทางเลือก มองว่าราคาจะไม่ใช่ตัวที่มากำหนดเป็นหลัก

การจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดหรือไม่นั้น ต่อจากนี้ไปจะไม่ใช่เรื่องของราคาอย่างเดียว ความกดดันจากกระแสโลก อาทิ ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะกดดันให้ทุกประเทศต้องร่วมมือกัน

“ทั้งนี้ เครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะมาช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน คือ เรื่องของพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) หรือ RE โดยเทรนด์ของราคา RE มีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อยๆ ตามเทรนด์ ที่เกิดขึ้นเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน ส่วนราคาพลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์ เซลล์ เริ่มปรับราคาลงมาด้วยตามความต้องการใช้งาน และเมื่อมีการผลิตมากขึ้น กลไกตลาดก็ทำงาน ส่งผลให้ราคาถูกลง สุดท้ายอีกไม่นานราคาพลังงานหมุนเวียนจะเท่ากับต้นทุนค่าไฟที่อยู่ในสายส่ง”

“เราอย่าลืมว่าไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เราคิดแค่ต้นทุนจากราคาเชื้อเพลิง แต่ไม่เคยเอาต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ต้นทุนด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาคิดคำนวณ ถือเป็นต้นทุนภายนอกที่เกิดขึ้น ตรงนี้ถ้าเกิดเอาคิดคำนวณรวมแล้วราคาเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอาจจะไม่ใช่ราคาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่อาจสูงขึ้นกว่านี้อีก”

“นอกจากนี้ ในทางกลับกัน ราคาพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขณะนี้ อาจดูเหมือนราคาสูง แต่ถ้ารวมประโยชน์ที่ได้จากการลดก๊าซเรือนกระจก ก๊าซคาร์บอน การรักษาสิ่งแวดล้อมจะคุ้มค่ากว่า ดังนั้น จึงต้องสื่อสารให้ผู้บริโภคและประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์ของพลังงานหมุนเวียน”

“แม้ว่าพลังงานที่เกิดจากก๊าซชีวมวล ชีวภาค ที่อาจจะราคาใกล้เคียงกับฟอสซิล แต่หากมองในมิติบวก ถึงแม้จะมีต้นทุนราคาแพงกว่ากลุ่มฟอสซิล แต่ต้องไม่ลืมว่านอกจากช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย”

“อย่างไรก็ตาม จากวันนี้ไปถึงอนาคต ตาม นโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน โดยต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน หรือ RE ไม่น้อยกว่า 50%”

“ถือว่ารัฐบาลได้ส่งสัญญาณแล้วว่า RE เป็นความหวังของประเทศและไม่ใช่ภาระของประเทศอีกต่อไป และจะเข้ามาเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อนต่างๆ”

อัปเดตวิธีประหยัดน้ำมัน ในยุค น้ำมันขึ้นราคา

เมื่อเรายังต้องอยู่ในยุคที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 ในขณะที่กลุ่มโอเปกยังคงยืนยันที่จะส่งออกน้ำมันดิบเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จึงได้แชร์เทคนิคการประหยัดน้ำมันแบบง่าย ๆ เพื่อฝ่าวิกฤตน้ำมันราคาแพงครั้งนี้ไปด้วยกัน

1 ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เปลี่ยนไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะในการเดินทาง โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากจะช่วยประหยัดค่าน้ำมันแล้ว ยังลดความเครียดจากปัญหาจราจรอีกด้วย

2 หากจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว การขับรถที่ความเร็วที่ 60 – 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง คืออัตราความเร็วที่เหมาะสมที่สุดในการประหยัดน้ำมันรถได้มากที่สุด ที่สำคัญช่วยทำให้ปลอดภัยลดอุบัติเหตุได้ด้วย

3 ตรวจเช็คสภาพรถและลมยางเป็นประจำเพื่อให้พร้อมใช้งาน การตรวจสอบลมยางทั้ง 4 เส้นเป็นประจำ ให้มีปริมาตรลมตามมาตรฐานที่กำหนด เพราะยางที่อ่อนเกินไปจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมันมาก

4 เลือกใช้การเดินเท้าในระยะที่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดน้ำมันแล้ว ยังได้ออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพของเราแข็งแรงขึ้น

5 เลือกซื้อสินค้าในชุมชนที่อยู่อาศัย เมื่อต้องการออกไปจับจ่ายใช้สอยซื้อหาอาหาร หรือสินค้าจำเป็นต่างๆ เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากการเดินทาง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/10/28/oil-price-rising-crisis-2021/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210