โลกธุรกิจในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ในการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน แนวคิด ESG (Environmental, Social, and Governance) เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้วในปัจจุบัน แต่สิ่งที่กำลังพัฒนาไปอีกขั้นที่สำคัญคือการออกกฎหมาย Supply Chain Act ของสหภาพยุโรป
Supply Chain Act เป็นภาคบังคับของการทำธุรกิจที่ยั่งยืน โลกธุรกิจจึงกำลังเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วไปสู่ยุคแห่งความรับผิดชอบที่มากขึ้นของภาคธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ESG เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นให้บริษัทคำนึงถึงผลกระทบของการดำเนินธุรกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล โดยไม่ได้มองแค่ผลกำไรทางการเงินเพียงอย่างเดียว นักลงทุนและผู้บริโภคต่างให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีการดำเนินงานตามหลัก ESG มากขึ้น
แม้ว่า ESG จะเป็นแนวคิดที่ดี แต่การนำไปปฏิบัติยังคงเป็นไปตามความสมัครใจของบริษัท ทำให้หลายฝ่ายมองว่าแค่ ESG และการตรวจวัดโดยตัวชี้วัด (ESG Rating) ต่างๆ ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง รวมทั้งมีกรณีการฟอกเขียว (Greenwashing) และธรรมาภิบาลจอมปลอมเกิดขึ้นจนเป็นข่าวมากมาย
Supply Chain Act หรือชื่อเต็มคือ “Corporate Sustainability Due Diligence Directive” (CSDDD) เป็นกฎหมายของสหภาพยุโรปที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2567 และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีเวลาสองปีในการนำกฎหมายไปบังคับใช้ในระดับประเทศ
กฎหมายใหม่นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบังคับให้บริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจในสหภาพยุโรป ต้องตรวจสอบและรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานของตน
กฎหมายนี้ไม่เพียงแต่ครอบคลุมบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในยุโรปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริษัทต่างชาติที่มีการดำเนินธุรกิจในตลาดยุโรปด้วย
หัวใจสำคัญของ Supply Chain Act คือการบังคับให้บริษัทต้องดำเนินการตรวจสอบสถานะอย่างรอบด้าน (Due Diligence) ในห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งหมายถึงการระบุ ป้องกัน บรรเทา และรายงานผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการทุจริต ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์หรือบริการสู่ผู้บริโภค ซึ่งทำให้ครอบคลุมบริษัทคู่ค้าและซัพพลายเออร์ทั้งหมดด้วย
ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตเสื้อผ้าแบรนด์หรูแห่งหนึ่งในยุโรป ภายใต้กฎหมายนี้ บริษัทจะต้องตรวจสอบว่าโรงงานผลิตในเอเชียที่เป็นซัพพลายเออร์ของตนมีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมหรือไม่ มีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับหรือไม่ มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมหรือไม่ ต้องตรวจสอบไปถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เช่น ฝ้ายที่ใช้ในการผลิตเสื้อผ้า ว่ามีการเพาะปลูกอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่
หรือบริษัทผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในยุโรปจะต้องไม่เพียงแต่ดูแลการผลิตในโรงงานของตนเองเท่านั้น แต่ยังต้องตรวจสอบว่าซัพพลายเออร์ที่จัดหาชิ้นส่วนต่างๆ ให้กับบริษัท ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดก็ตาม
มีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่มีการทุจริต หากพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น บริษัทจะต้องดำเนินการแก้ไขและอาจต้องรับผิดทางกฎหมายหากไม่สามารถจัดการปัญหาได้
การเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีการดำเนินงานหรือมีคู่ค้าในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งอาจมีมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า บริษัทเหล่านี้จะต้องลงทุนในการตรวจสอบและปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างจริงจัง
Supply Chain Act ไม่เพียงกำหนดให้บริษัทต้องตรวจสอบและรายงานเท่านั้น แต่ยังกำหนดบทลงโทษสำหรับบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายด้วย ซึ่งอาจรวมถึงการปรับเงินจำนวนมาก หรือในกรณีร้ายแรง อาจถึงขั้นห้ามดำเนินธุรกิจในสหภาพยุโรป
กฎหมายในลักษณะเดียวกับ EU Supply Chain Act กำลังเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะมีรายละเอียดและขอบเขตที่แตกต่างกันไป แต่วัตถุประสงค์หลักคือการส่งเสริมความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทานและการดำเนินธุรกิจ เช่น Supply Chain Due Diligence Act ของเยอรมนี California Transparency in Supply Chains Act ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา Transparency Act ของนอร์เวย์ เป็นต้น
ประเทศไทยเองโดยเฉพาะบริษัทที่ค้าขายกับบริษัทในสหภาพยุโรปจะต้องปรับตัวตามกฎหมายฉบับนี้ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ในอีก 2 ปีข้างหน้านี้
นอกจากนี้ ประเทศไทยควรศึกษาแนวคิดของกฎหมายฉบับนี้และพิจารณาปรับใช้กับประเทศไทยในอนาคต เพราะแนวคิด ESG ตัวชี้วัด ESG rating หรือรายงานความยั่งยืนต่างๆ คงไม่เพียงพอต่อการปรับธุรกิจและสังคมสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
การทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ตรวจสอบย้อนกลับได้ และมีผลบังคับใช้จริงทางกฎหมาย จะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ช่วยลดกรณีหลอกลวงผู้บริโภคและนักลงทุนกันอย่างที่เป็นข่าวที่ผ่านมาหลายกรณี
แหล่งข้อมูล