เมื่อเครื่องบิน 1 ลำ ทำการบินในแต่ละเที่ยวบิน กิจกรรมนั้นๆ ได้สร้างของเสียทั้งในรูปแบบการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้จำนวนมหาศาล และ ของเสียจากบริการในห้องโดยสาร แต่หากคำนวนจากระยะทาง เวลาทำการบิน และจำนวนผู้โดยสารในแต่ละไฟล์ ก็จะพบว่า สัดส่วนทรัพยากรและของเสียไม่ได้สูงเลย แต่หากสายการบินต่างๆให้ความสำคัญกับดูแลสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งต่อธุรกิจการบินนั้นๆและภาพรวมสภาพแวดล้อมด้วย
อาริญา ปราสาททองโอสถ กรรมการบริษัทฯ และประธานคณะทำงานส่วนรับผิดชอบ ต่อสังคม บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมษณ์พิเศษกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กลยุทธ์ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่มีส่วนร่วมรักษ์โลกอย่างยั่งยืน และสอดรับกับพันธกิจของภาคอุตสาหกรรมการบินโลก ในการมุ่งสู่เป้าหมาย “Fly Net Zero Carbon” ภายในปี 2050 ทางสายการบิน มีแผนที่จะลดก๊าซคาร์บอนโดยมี 2 ระยะคือ 1.ระยะสั้น 1-2 ปี 2.ระยะกลาง 3-4 ปี และระยะยาว 5 ปีขึ้นไป หนึ่งในแผนนั้นซึ่งได้ดำเนินการภายใต้แคมเปญ “Love Earth, Save Earth” โดยการแยกขยะ ซึ่งสายการบินเตรียมตั้งถังคัดแยกขยะ ภายในห้องรับรองผู้โดยสาร (บูทีคเลาจน์) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเดือนก.ย. 2566 โดยจะต่อยอดการตั้งถังคัดแยกภายใต้โครงการ ณ สนามบินภายใต้การดำเนินงานของบริษัท เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิล ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายการลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบในอนาคต
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วม ให้ผู้โดยสารได้ตระหนักถึงการจัดการขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง โดยมีการจัดตั้งจุด Drop Box ภายในห้องรับรองผู้โดยสารบูทีคเลาจน์ สำหรับรับคืนขวดน้ำดื่มพลาสติก PET ไร้ฉลาก ซึ่งสามารถลดขยะและต้นทุนจากการไม่ต้องติดฉลากได้ จากนั้นจะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการแปลงเป็นเส้นใยพลาสติกสำหรับการผลิตเสื้อผ้าโดยจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกและใช้ประโยชน์จากขวดพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุดควบคู่กัน
อาริญา เล่าอีกว่า ในส่วนชุดยูนิฟอร์มที่มีตราสัญลักษณ์บริษัท ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว นำไปเข้าสู่กระบวนการอัพไซคลิ่ง (Upcycling) พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่ให้เกิดของเสียตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการธุรกิจ อย่างเช่น ผ้ากันเปื้อนผืนใหม่ จากเส้นใยรีไซเคิล สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานให้บริการภายในห้องรับรองผู้โดยสารใช้สวมใส่ เพื่อตอกย้ำถึงนโยบายด้านการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ
“กระบวนการอัพไซคลิ่ง นำเอาชุดยูนิฟอร์มที่ไม่ได้ใช้ จำนวน 150 กิโลกรัม มาคัดแยกเฉดสีและผ่านเข้าสู่กระบวนการทำเป็นผ้าผืนใหม่โดยไม่ผ่านการฟอกย้อม เพื่อหลีกเลี่ยงการส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการทำลายชุดยูนิฟอร์มด้วยวิธีแบบเดิม ด้วยนวัตกรรมการผลิตที่ไม่ทำร้ายโลก ได้แก่ ผ้ากันเปื้อน กระเป๋าผ้า และกระเป๋าใส่แก้วน้ำ จำนวนรวม 300 ชุด ซึ่งคิดเป็นปริมาณที่สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับ 307.44 กิโลกรัม และช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ 1,826 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน”
ด้านการดูแลชุมชนที่ได้เข้าไปทำธุรกิจได้แก่การสร้างประโยชน์จากชุมชนรอบสนามบินที่บางกอกแอร์เวย์สดูเเล อย่างที่ ตราด สมุย และสุโขทัย ด้วยโครงการชุมชนสัมพันธ์ ส่งเสริมอาชีพชุมชน ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด -19 ทำ ให้หลายครอบครัวในชุมชนตระหนักถึงการมีแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รูปแบบการทำงานคือการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการประกอบอาชีพที่ชุมชนสนใจ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรม นำความรู้ไปดำเนินการ หรือพัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพเสริม และสร้างรายได้จริงในอนาคต
ขณะเดียวกันได้ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรและของเสีย เช่น โครงการ “แยกขยะได้ประโยชน์” เพื่อส่งเสริมเรื่องการคัดแยกขยะในชุมชน ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์ ตะแกรงคัดแยกขยะ และสนับสนุนความรู้ เรื่องการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ผ่านกระบวนการฝึกอบรม เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในกระบวนการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและยังได้สนับสนุนอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพให้แก่สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุและผู้พิการที่จะสามารถช่วยลดต้นทุนหมุนเวียนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่อย่าง Net Zero ต้องเริ่มจากความตั้งใจและการลงมือทำจริงจากจุดเล็กๆ ซึ่งความพยายามทั้งลดขยะและจัดการของเสียให้เหมาะสมจะเป็นก้าวสำคัญสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้
แหล่งข้อมูล