ESG: โอกาสทองหรือภาระขององค์กร?

Loading

ความมั่งคั่งและคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นเป้าหมายสำคัญที่ประเทศต่างๆ ตั้งไว้มาเสมอ เทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศพัฒนาแล้วให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

แม้ก่อนหน้านี้หลายคนอาจไม่ตระหนักถึงผลกระทบจากการใช้ทรัพยากรเกินพอดี แต่ปัญหาต่างๆ กำลังส่งผลต่อชีวิตมนุษย์โดยตรง เช่น ภัยพิบัติจากน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ของภาคเหนือในปี 2567 ที่คาดว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูง เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบระยะยาวจากการทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากสิ่งแวดล้อมแล้ว ความเสียหายจากการขาดธรรมาภิบาลก็เป็นปัญหาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การทุจริตหรือการเอาเปรียบสังคม ซึ่งองค์กรที่เคยได้คะแนนประเมินธรรมาภิบาลสูง แต่ปัญหาเพิ่งปรากฏขึ้น ทำให้สาธารณะเริ่มตั้งคำถามถึงความยั่งยืนระยะยาวและความโปร่งใสขององค์กรในรายงาน ESG

ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงเรียกร้องให้ภาคเอกชนรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นโดยคำนึงถึง ESG ซึ่งประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนถึงความยั่งยืนและจริยธรรมขององค์กรในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของ ESG คือ การที่หลายองค์กรมักเน้นเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม (E) เช่น การลดการปล่อยคาร์บอนตามกฎระเบียบ โดยที่แนวคิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน (Sustainable Transformation) นั้นมีมิติที่ลึกซึ้งกว่า ซึ่งหมายถึงการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ที่ส่งผลกระทบต่ำต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงสร้างผลกำไรได้

ตลาดกำลังเคลื่อนไปรับรู้ ESG มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงานและมีกำลังซื้อมากขึ้น องค์กรต้องรับรู้ถึงต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบความเสี่ยงด้านสังคมขององค์กรในตลาดทุนและตลาดเงินที่สูงขึ้น รวมถึงปัจจัยทางบวก เช่น ความก้าวหน้าของ Digital, AI และ IoT ทำให้องค์กรสามารถใช้ข้อมูลที่ไม่เคยมีมาช่วยใช้ตัดสินใจได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ภาครัฐทั่วโลกต่างมีมาตรการส่งเสริมเพื่อมุ่งสู่ ESG ออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงแหล่งทุนและบริการทางการเงินที่สนับสนุนความยั่งยืนที่เป็น Green Finance และ Green Insurance มากขึ้นทั้งในระดับประเทศและสากล ซึ่งช่วยสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านด้าน ESG เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ในไทยเอง ภาคเอกชนเริ่มปรับตัวสู่ความยั่งยืน โดยมักได้รับแรงกดดันจากห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนจากต่างประเทศ เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อมเริ่มถูกนำมาใช้ แม้ว่าผลลัพธ์ในภาพรวมยังไม่ชัดเจน แต่ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาสู่ ESG

โจทย์ของเอกชนจึงไม่ใช่ทำเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐาน ESG แต่ทำเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันจากการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน คำถามสำคัญคือทำอย่างไร ขอยก 3 ตัวอย่าง คือ

บริษัทเบียร์แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษที่จำหน่ายเบียร์ที่ทำจากขนมปังเหลือทิ้งซึ่งทำให้ต้นทุนถูก ลดขยะอาหาร โดยเน้นรสชาติที่ดีเพราะมองว่าผู้บริโภคยังให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

อีกกรณีเป็นบริษัทพลังงานในเยอรมันพัฒนาการผลิตเคมีภัณฑ์ใหม่ที่ใช้พลังงานสีเขียว ลด Carbon Footprint ของวัสดุทดแทน โดยเทคโนโลยีทำให้สามารถใช้ไฟฟ้าเหลือใช้จากการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นธุรกิจใหม่

กรณีสุดท้ายเป็นร้านเสื้อผ้ามือสองในประเทศไทยที่นำเสื้อผ้ามือสองมาเพ้นต์ลายสร้างมูลค่าเพิ่มจากงานศิลปะและสร้างธุรกิจหมุนเวียนมูลค่าสูง

หากองค์กรจะอยู่รอดในตลาดอนาคตได้ ผู้บริหารควรตั้งคำถามสำคัญว่าองค์กรพร้อมที่จะปรับตัวหรือเปลี่ยนผ่านเพื่อความสมดุลระหว่างผลประกอบการและความยั่งยืนหรือไม่

การลงทุนพัฒนาธุรกิจ บุคลากร และเทคโนโลยีที่ทำอยู่นั้นเพียงพอหรือไม่ในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน การเปลี่ยนผ่านนี้ผู้บริหารจะบริหารความขัดแย้งระหว่างเป้าหมายระยะสั้นกับระยะยาวอย่างไร หากเราเลือกไม่ดำเนินการบางเรื่องในขณะนี้ เรามีกลไกในการบริหารผลกระทบความเสี่ยงอย่างไร และเรามั่นใจได้มากน้อยเพียงใดว่ากลยุทธ์ที่เรากำลังใช้เพื่อนำพาองค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านจะประสบความสำเร็จ

ESG ไม่ใช่เพียงแค่ในการปฏิบัติตามกฎ แต่เป็นหัวใจของการสร้างธุรกิจใหม่ที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายของยุคสมัยได้ การเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องลงมือทำทันทีด้วยแนวทางและเป้าหมายที่วัดได้ ธุรกิจจึงจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/environment/1152189


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210