- สหราชอาณาจักรเก็บภาษีเรือซูเปอร์ยอชต์และเครื่องบินส่วนตัว ได้ 2,682 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023 โดยจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ช่วยต่อสู้กับวิกฤติสภาพอากาศ
- เครื่องบินส่วนตัวก่อมลพิษมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ถึง 14 เท่าต่อผู้โดยสารหนึ่งคน และมากกว่ารถไฟถึง 50 เท่า
- ประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของโลกปล่อยคาร์บอนมากกว่าประชากรที่ยากจนที่สุด 66% แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลับเป็นคนจน
ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่เหล่ามหาเศรษฐี 1% ของโลก เทียบเท่ากับการปล่อยคาร์บอนของทั่วไปราว 2 ใน 3 ของโลก ดังนั้นหลายประเทศจึงพยายามออกนโยบายด้านสภาพอากาศเพื่อจำกัดกิจกรรมก่อมลพิษของบรรดาเศรษฐีของโลก หนึ่งในนั้นคือการเสนอ “เก็บภาษี” มหาเศรษฐี เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
เมื่อต้นปีนี้ ผู้นำด้านการเงินจากประเทศ G20 ตกลงกันที่จะเก็บภาษีความมั่งคั่งจากเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก คาดว่าภาษีนี้ช่วยระดมเงินได้ประมาณ 257,100 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าไอเดียนี้จะมีความเป็นไปได้จริงหรือไม่ ใครจะเป็นผู้ควบคุมดูแลกระบวนการนี้ และจะจัดเก็บภาษีจากเศรษฐีที่รวยที่สุดได้อย่างไร
สำหรับสหราชอาณาจักรได้เริ่มเก็บภาษีกับคนรวยแล้ว เนื่องจากประเทศนี้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีเที่ยวบินส่วนตัวมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในยุโรป รองจากฝรั่งเศสเท่านั้น และยังมีเรือซูเปอร์ยอชต์กว่า 450 ลำ จึงการเรียกเก็บภาษีเรือซูเปอร์ยอชต์และเครื่องบินส่วนตัว ซึ่งช่วยทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ 2,682 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023 โดยจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้ช่วยต่อสู้กับวิกฤติสภาพอากาศ
การวิเคราะห์โดย Oxfam องค์กรระดับโลกที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกัน และนักวิจัยในสหรัฐ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2023 ที่พิจารณาการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยและการลงทุนทางการเงินของมหาเศรษฐี 12 คน พบว่าพวกเขาปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 17 ล้านตันต่อปี ซึ่งเท่ากับการปล่อยก๊าซของบ้านประชาชนทั่วไป 2.1 ล้านหลัง หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน 4.6 แห่งต่อปี
ตามรายงานของ Transport & Environment องค์กรรณรงค์ด้านการขนส่งสะอาดของยุโรป เครื่องบินส่วนตัวก่อมลพิษมากกว่าเครื่องบินพาณิชย์ถึง 14 เท่าต่อผู้โดยสารหนึ่งคน และมากกว่ารถไฟถึง 50 เท่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเครื่องบินส่วนตัวในยุโรปพุ่งสูงขึ้น โดยระหว่างปี 2005-2019 เพิ่มขึ้น 31% ซึ่งเร็วกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการบินพาณิชย์
Oxfam จึงเสนอให้เก็บภาษีเครื่องบินส่วนตัวและเรือซูเปอร์ยอชต์ ตลอดจนขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินส่วนตัว อาจช่วยระดมทุนได้หลายพันล้านดอลลาร์ โดยการวิจัยของ Oxfam แสดงให้เห็นว่าหากเพิ่มอัตราภาษีผู้โดยสารทางอากาศสำหรับเครื่องบินส่วนตัวและภาษีการเป็นเจ้าของเรือยอชต์สุดหรู จะสามารถระดมเงินเพิ่มได้มากขึ้น 1,105 ล้านดอลลาร์
การวิจัยยังระบุว่าจะมีรายได้เพิ่มอีกมากถึง 1,598 ล้านดอลลาร์ การเรียกเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินส่วนตัว การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบินส่วนตัว และภาษีเทคออฟหรือแลนดิ้งเครื่องบิน
“ในขณะที่คนรวยสุด ๆ ยังคงปล่อยมลพิษในอัตราที่สูงมาก แต่คนยากจนทั่วโลกกลับเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากผลกระทบอันเลวร้ายจากวิกฤติสภาพอากาศ ทั้งที่พวกเขาทำให้โลกร้อนน้อยมาก”
-นาตาลี ชอตทอลล์ ที่ปรึกษานโยบายความยุติธรรมด้านสภาพอากาศของ Oxfam แห่งสหราชอาณาจักรกล่าว
พร้อมเสนอว่า จำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อเก็บภาษีคนที่มั่งคั่งมากมากเกินไป เพื่อเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาด้านสภาพอากาศ และต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกัน โดยการเพิ่มภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยที่ปล่อยมลพิษสูง เช่น เครื่องบินส่วนตัวและเรือซูเปอร์ยอชต์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจนสำหรับรัฐบาล
“สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางแก้ไขตามสามัญสำนึกที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน เพื่อลดการปล่อยมลพิษและระดมเงินทุนเพื่อสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ โดยให้ผู้สร้างมลพิษรายใหญ่และร่ำรวยที่สุดเป็นผู้จ่าย” ชอตทอลล์กล่าว
โดยทั่วไปแล้วคนเรามักไม่รู้ว่าในแต่ละวันตนเองได้ปล่อยคาร์บอนไปมากเท่าใด กลุ่มนักวิจัยนานาชาติซึ่งนำโดยคณะบริหารธุรกิจโคเปนเฮเกน แห่งมหาวิทยาลัยบาเซิล และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้ทำการสำรวจผู้คน 4,000 คนจากเดนมาร์ก อินเดีย ไนจีเรีย และสหรัฐ
พบว่า คนส่วนใหญ่จากทั้ง 4 ประเภทประเมินว่ากลุ่มคนจน 50% ของโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่าความเป็นจริง แต่ในทางกลับกันพวกเขากลับบอกปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของกลุ่มคนรวย 1% ของโลกน้อยกว่าความเป็นจริง
“เราพบว่าคนรวยมีความคิดคล้ายคลึงกันมาก และพวกเขาไม่ได้ยี่หระ หรือมีความกังวลเรื่องโลกร้อนเหมือนกับคนอื่น ๆ ในสังคม มหาเศรษฐียังเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัว เพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในขณะที่พวกเราที่เหลือต้องใช้หลอดกระดาษดูดน้ำจนปากเปียก เพื่อไม่ให้สร้างคาร์บอนเพิ่มขึ้น”
-ดร.รามิต เดบนาธ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้เขียนร่วมของการศึกษากล่าว
The Guardian เปิดเผยเมื่อปี 2023 ว่าประชากรที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของโลกปล่อยคาร์บอนมากกว่าประชากรที่ยากจนที่สุด 66% ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อชุมชนที่เปราะบางและความพยายามทั่วโลกในการแก้ไขปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ
อย่างไรก็ตาม คนจนไม่ค่อยสนับสนุนนโยบายด้านสภาพอากาศที่น้อยลง เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน มากนัก เพราะพวกเขามีปัญหาอื่นที่น่ากังวลมากกว่า เช่น ปัญหาค่าครองชีพ หนี้สิน แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ดร.คริสเตียน สตีนเซน นีลเซน ผู้เขียนวิจัยจากคณะบริหารธุรกิจโคเปนเฮเกนกล่าว ทุกคนทุกกลุ่มรายได้ต้องการแนวทางแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎระเบียบหรือเทคโนโลยี
นีลเซนกล่าวว่า “คนที่มีปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์สูงที่สุด ก็จะต้องรับผิดชอบมากที่สุด ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตและลดปริมาณคาร์บอนลง”
เนื่องจากมีอิทธิพลทางการเงินและการเมืองมากกว่า นโยบายด้านสภาพอากาศส่วนใหญ่สะท้อนถึงผลประโยชน์ของคนรวยที่สุดในสังคม และไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานในวิถีการดำเนินชีวิตหรือสถานะทางสังคมของพวกเขา การตระหนักรู้และการอภิปรายเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่มากขึ้นอาจช่วยสร้างแรงกดดันทางการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
แหล่งข้อมูล