เปิดต้นแบบการใช้ พลังท้องถิ่น & นวัตกรรมการจัดการอัจฉริยะ รักษาฐานที่มั่นอุตสาหกรรมในอีอีซี สกัดโรคระบาดอย่างได้ผล

Loading

หนึ่งใน “ฐานที่มั่นอุตสาหกรรมไทย” ที่สำคัญ นั่นคือ พื้นที่ 3 จังหวัด ที่อยู่ใน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นี่ ยังคงน่าเป็นห่วงและต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะยังคงเกิดคลัสเตอร์การแพร่ระบาดใหม่ทั้งในพื้นที่ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม

โดยหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่างระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ทั้งเพื่อดูแลผู้ป่วย ตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงการระดมฉีดวัคซันโควิดให้กับทุกคนในพื้นที่ ทว่า ด้วยความจำกัดของบุคลากรทางการแพทย์ที่มี อาจดำเนินการได้ไม่ทั่วถึงและครอบคลุม จุดนี้เอง ที่กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการรวม พลังท้องถิ่น มาร่วมรักษาฐานที่มั่นอุตสาหกรรมไทย สกัดการแพร่เชื้อโรคระบาดนี้ให้ได้เร็วที่สุด

“โครงการจิตอาสา EEC ต้านภัยโควิด” คือ หนึ่งในโครงการที่มีจุดประสงค์เพื่อรวบรวม พลังท้องถิ่น มาช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์และหยุดวงจรการแพร่ระบาดนี้ให้ได้ในเร็ววัน

แนวคิดก่อเกิด ต้นแบบการใช้ พลังท้องถิ่น สกัดกั้นการระบาดของโควิด นำร่องแล้วที่ บ้านฉาง ระยอง

ทั้งนี้ “โครงการจิตอาสา EEC ต้านภัยโควิด” เกิดจากความตั้งใจของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ต้องการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และประชาชน ให้มาเข้าร่วมในโครงการนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ EEC และเปิดโอกาสให้กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจในพื้นที่ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วในเมืองนำร่อง คือ อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ก่อนที่จะขยายผลไปยังเมืองอื่น ซึ่งภารกิจตามโครงการจิตอาสา EEC ต้านภัยโควิด เริ่มต้นจากการตรวจคัดกรองประชาชนในพื้นที่ ในระยะแรกจำนวน 1 แสนคน พร้อมแบ่งกลุ่มผู้ป่วยเป็น สีแดง สีเหลือง สีเขียว ตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดแนวทางการรักษาตามกลุ่มผู้ป่วย

ส่วนภารกิจถัดมา คือการสนับสนุนการสร้างโรงพยาบาลสนาม EEC ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านฉาง 1 แห่ง เพื่อเปิดรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง

ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมด้วย คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม และเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา และภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านภัยโควิด ยังมีภารกิจในการติดตามดูแลผู้ป่วยทางไกล และระบบ Telemedicine เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนแพทย์และพยาบาลด้วย

ดร.คณิศ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า “พื้นที่ มาบตาพุดและบ้านฉาง จัดเป็นพื้นที่พิเศษของอีอีซีเพราะเป็นแหล่งที่เราผลิตก๊าซธรรมชาติและเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัล การผลิตของอุตสาหกรรมหนัก หลายอย่าง พื้นที่นี้จึงปิดไม่ได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด เพราะมีความสำคัญในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทาง สกพอ. ลงมาทำโครงการจิตอาสาฯ นี้ร่วมกับทางจังหวัด อบจ. เทศบาล กระทรวงสาธารณสุขเขต 6 โรงพยาบาลบ้านฉางและโรงพยาบาลในพื้นที่ รวมถึงภาคเอกชนในพื้นที่”

“สาเหตุที่เราเลือกพื้นที่บ้านฉางนี้เป็นพื้นที่นำร่อง เพราะในโรงงานขนาดใหญ่ต่างๆ ก็จะมีความสามารถในการดูแลและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงานของเขาเอง มีการตรวจคัดกรองพนักงานเป็นประจำ หากพบติดเชื้อก็มีศูนย์พักคอยหรือโรงพยาบาลสนามในโรงงานให้พักรักษาตัวเรียบร้อย”

“แต่ต้องเข้าใจว่าในพื้นที่รอบข้างนั้น ยังคงมีการฉีดวัคซีนน้อย อัตราการติดเชื้อโควิดจึงยังสูงอยู่ ดังนั้น ถ้าเราจะรักษา “ฐานอุตสาหกรรม” ตรงนี้ไว้ให้ได้นั้น จำเป็นต้องลดจำนวนคนติดโควิดให้ได้มากที่สุดก่อน ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามาร่วมมือ ระดมสรรพกำลังกันกับทางจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ รวมถึงภาคเอกชน ซึ่งทุกภาคส่วนยินดีให้ความร่วมมืออย่างน่าชื่นชม”

“โดยในเบื้องต้น มีการประเมินผลจากการทำ Rapid test ที่ได้รับความร่วมมือกับทาง สปสช. พบว่า ขั้นตอนการดำเนินการตามโครงการจิตอาสาฯ นี้สามารถช่วยคัดแยกผู้ติดเชื้อออกมาทำการรักษาตามระดับอาการได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นการหยุดวงจรการแพร่กระจายเชื้อไปยังชุมชนอย่างได้ผล”

“และอีกหนึ่งความช่วยเหลือสำคัญ ที่ทำให้โครงการจิตอาสาฯ เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม คือความร่วมมือจากภาคเอกชน องค์กรธุรกิจ ต่างๆ อย่าง Dow Chemical และ SCG ที่บริจาคเตียงสนามมาให้เราอย่างเพียงพอ”

“จากการดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง ของ อำเภอบ้านฉาง นี้ เราก็จะนำไปขยายผลเพื่อดำเนินการในพื้นที่ของ EEC ด้วย เช่นที่ ปลวกแดง บ้านค่าย เมื่อพบว่าเกิดปัญหาการแพร่ระบาดที่หนักหน่วง ก็จะส่งทีมจิตอาสานี้ลงพื้นที่ เพื่อช่วยทำงานไปพร้อมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเสริมการทำงานของระบบที่เป็นอยู่ แต่ขยายระบบที่เป็นอยู่ให้ทำงานได้เร็วขึ้น”

“เพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่นักลงทุนชาวต่างชาติจับตามอง ดังนั้นถ้าเราสามารถดูแลและบริหารจัดการโรคระบาดนี้ได้ดี ในอนาคตก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้มากขึ้น”

เปิดโมเดลระบบประสานงาน ที่พร้อมนำไปขยายผลในอำเภออื่น เพื่อหยุดวงจรระบาดในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เร็วที่สุด

ต้องยอมรับว่าพื้นที่จังหวัดระยองเป็นพื้นที่แหล่งลงทุนสำคัญของประเทศ เมื่อเกิดโรคอุบัติใหม่ทำให้นักลงทุนต่างชาติต่างจับตามองถึงมาตรการรับมือการแพร่ระบาดใน ฐานที่มั่นอุตสาหกรรมไทยแห่งนี้มาก ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น จึงต้องมีการเดินหน้าสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นให้ได้

ดร.คณิศ กล่าวต่อถึง การวางระบบการบริหารจัดการที่ทำเป็นโมเดลขึ้นภายใต้โครงการจิตอาสาฯว่า

“เรามีการวางระบบประสานงานของหลายหน่วยงาน โดยในพื้นที่ก็มีปัญหาเรื่องการประสานงานพอสมควร เพราะมีหน่วยงานกลางประสานลงมาในพื้นที่ จากนั้นในพื้นที่จึงมาประสานงานกันต่ออีกทีหนึ่ง และในระบบข้อมูล ได้ใช้ระบบไอทีรุ่นใหม่เข้ามาจัดการ เช่น เป็นการเช็คว่าสิทธิของคนนี้อยู่ที่ไหน โดยเข้าไปเช็คในระบบ สปสช. ซึ่งทำให้ระบบที่เราทำขึ้นสามารถไปเชื่อมโยงกับระบบใหญ่ได้ทั้งหมด ดังนั้นหมอที่นี่สามารถคีย์ชื่อคนไข้แล้วข้อมูลนั้นก็จะถูกบันทึกในระบบใหญ่ได้เลย”

“พื้นที่นี้จะมีทั้ง โรงพยาบาลบ้านฉาง โรงพยาบาลมาบตาพุด และยังมีโรงพยาบาลในพื้นที่อีกหลายแห่งที่มาเป็นหน่วยงานหลักในการใช้ระบบข้อมูลนี้ โครงการจิตอาสาฯเป็นแค่ฟันเฟืองที่จะมาช่วยให้การจัดระบบการตรวจ การคัดกรอง การฉีดวัคซีน ทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น”

“ความสำเร็จของโครงการนี้ เราต้องขอบคุณทางจังหวัด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ในพื้นที่ที่ให้ความร่วมมือดีมาก เราคุยกันรู้เรื่อง คุยกันง่าย นี่เป็นอานิสงส์จากการทำงานร่วมกันมาก่อน และผมเชื่อว่าเมื่อเรานำโมเดลนี้ไปขยายผลที่ อำเภอปลวกแดง อำเภอบ้านค่าย แล้ว ก็จะยิ่งทำให้การตรวจคัดกรองทำได้เร็วขึ้น โดยเราคาดหวังว่าเมื่อตรวจได้เร็วขึ้น จะส่งผลให้อัตราการติดเชื้อลดลงได้ อย่างแน่นอน”

ยืมมือนวัตกรรม มาบริหารจัดการการตรวจและติดตามการแพร่ระบาดอย่างได้ผล

ต่อมา การดำเนินงานภายใต้โครงการจิตอาสา EEC ต้านภัยโควิด ยังมีการนำเอานวัตกรรมมาปรับใช้ ทั้งเทคโนโลยีระบบ Jitasa.care และแพลตฟอร์ม Wesafe@home เป็นสื่อกลางในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 นี้ด้วย

โดย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษ สกพอ. ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ผ่านระบบ Telemedicine

“ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ที่ยังมีประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอยู่ไม่น้อย และจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นในหลักหมื่น โดยในกลุ่มผู้ติดเชื้อ เราได้มีการแบ่งผู้ป่วยออกตามอาการ นั่นคือ ผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง และสีเขียว หากมีการตรวจเชิงรุก เราพบว่า ในประชากรหนึ่งแสนคน เราจะเจอผู้ป่วยสีแดงประมาณ 90-100 คน แน่นอนว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลเพราะอาการค่อนข้างหนัก ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองจะเจอประมาณ 400 คน และผู้ป่วยสีเขียวอีกประมาณ 16,000 คน”

“จากตัวเลขนี้ จะเห็นได้ว่า เราต้องดูแลผู้ป่วยสีเขียวให้ดี เพราะถ้าได้รับการดูแลดี 90 เปอร์เซ็นต์จะหายได้โดยเร็ว ดังนั้นหลักการสำคัญที่อีอีซีมานำร่องทำที่บ้านฉางเป็น Sandbox แรก คือ ทำให้เกิดความมั่นใจว่า เมื่อมีผู้ป่วยระดับสีเขียว เราจะสามารถรักษา ดูแล ให้เขากลับไปเป็นคนปกติ ลดจำนวนผู้ป่วยสีเหลืองให้น้อยลง ขณะที่ผู้ป่วยสีเหลือง ก็กลายเป็นผู้ป่วยสีแดงน้อยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ”

“และการจะบริหารจัดการให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่กล่าวมา เราจะต้องมีระบบดิจิทัลหรือระบบไอทีที่รวดเร็ว โดยในกรณ๊ของบ้านฉาง ใช้วิธีทำ Self-test หรือ การตรวจโดยใช้ ATK ซึ่งทางอาสาสมัคร อสม. จะเป็นผู้ตรวจ ถ้าเจอผู้ติดเชื้อ และเป็นผู้ป่วยสีเขียว ก็จะจัดให้เข้ากลุ่ม Home isolation ทันที แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยสีเหลือง จึงรับเข้ามาดูแลที่ รพ.สนาม นี่คือสิ่งที่ต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ”

“ต่อมา มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีระบบในการติดตามดูแล โดยในส่วนนี้ได้มีการปรับเอานวัตกรรมเครื่องมือดิจิทัลมาใช้ ซึ่งได้ออกแบบแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Jitasa.care และระบบนี้เอง จะทำให้สามารถระบุตัวตนของผู้เจ็บป่วยว่าอยู่ที่ไหน ตรวจสอบว่ามีตัวตนจริงไหม ข้อมูลตรงนี้ทาง อสม. รวมถึงจิตอาสาต่างๆ สามารถตรวจสอบได้ และผู้ป่วยเมื่อผ่านการตรวจ ATK Self-test ผ่านการยืนยันตัวตนใน Jitasa.care ก็สามารถเข้าระบบการรักษาได้ทันที”

“และเมื่อเข้าระบบแล้ว ก็สามารถทำ E-claim ได้ โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลืองจะมีค่าใช้จ่ายประมาณวันละพันบาท เป็นเวลา 14 วัน ดังนั้น ไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ก็จะได้รับการชดเชย”

“ระบบต่อมาที่นำมาใช้ จะเป็นนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยบูรพา คือ แพลตฟอร์ม Wesafe@home โดย มหาวิทยาลัยบูรพา มีคณะแพทย์และคณะพยาบาล ซึ่งนิสิตจากคณะเหล่านี้จำเป็นต้องมีการฝึกฝน สถานการณ์นี้จึงเป็นโอกาสให้นิสิตแพทย์และพยาบาลมาฝึกฝน ให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยผ่านระบบ Telemedicine ดังนั้น แพลตฟอร์ม Wesafe@home และ ระบบ Jitasa.care จึงทำงานสอดประสานพอดี ทำให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทีละมากๆ โดยในตอนนี้ เราทำที่บ้านฉางเป็นพื้นที่นำร่องก่อน ในลำดับแรก”

“ระบบ Jitasa.care เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ มาลงทำเบียนในระบบก่อน และเราได้ประสานงานกับไปรษณีย์ เพื่อส่งชุด ATK ไปให้ จากนั้นประชาชนก็จะสามารถยืนยันตัวตนและเข้าอยู่ในระบบได้ทันที ซึ่งเราคาดการณ์ว่าระบบนี้ จะช่วยให้เราสามารถดูแลประชาชนในชุมชน โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้อย่างดี และเมื่อระบบการบริหารจัดการดี ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอาจลดลงได้ และเศรษฐกิจท้องถิ่นก็จะพลิกฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติได้เหมือนเดิม”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/09/17/power-of-local-and-innovation-fight-pandemic-in-eec/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210