Eco Village ชุมชนพอเพียง พอกิน พอใช้ ด้วย ‘กสิกรรมธรรมชาติ’

Loading

Eco Village ชาวนามหานคร หมู่บ้านรักษ์โลกที่เน้น Eco Concept อาหารสมบูรณ์ ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ด้วยหลัก กสิกรรมธรรมชาติ ตามแนวทาง 9 ขั้น สู่หลักเศรษฐกิจพอเพียง

ในยุคที่โลกกำลังพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ท่ามกลางวิกฤตโลกร้อน โลกเดือด จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และวิกฤติอาหาร ที่หลายประเทศกำลังกังวล การปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ถูกนำมาปรับใช้ในหลายชุมชน เกิดศูนย์เรียนรู้ และสร้างพื้นที่ต้นแบบเพื่อกลับมาอยู่ในจุดพอมี พอกิน พอใช้ และไม่ทำลายทรัพยากร

ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ก่อตั้งโดย ‘อ.ยักษ์’ วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกสมาคมดินโลก หนึ่งในศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้ผู้สนใจได้มีโอกาสเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ และประสบการณ์ ในการพึ่งพาตนเอง บนหลัก 4 พอ นั่นก็คือ พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ปัจจุบัน มีเครือข่ายมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ

ความรู้ด้าน ‘กสิกรรมธรรมชาติ’ ถูกส่งต่อ ให้กับชุมชนต่างๆ นำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ ด้วยหลัก 9 ขั้น สู่ความพอเพียง ซึ่งล่าสุดได้ถูกนำมาถ่ายทอดให้กับ Eco Village หมู่บ้านรักษ์โลกที่เน้น Eco Concept อาหารสมบูรณ์ ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ด้วยหลัก BCG Model คือ Bio Economy , Circular Economy และ Green Economy

ทั้งนี้ Eco Village อยู่ภายใต้โครงการ ‘ชาวนามหานครหนองจอก’ บนพื้นที่กว่า 133 ไร่ ในเขตหนองจอก ของกรุงเทพมหานคร โดยมี ‘วรเกียรติ สุจิวโรดม’ นักธุรกิจด้านส่งออกซื้อพื้นที่ไว้เพื่อทำเกษตรตามแนวทางพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 และยังมีพื้นที่ตรงข้ามคลอง 14 อีกราว 140 กว่าไร่ จะถูกพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ ปัจจุบัน มีการจดทะเบียนในนาม บริษัท อาสาชาวนามหานคร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

9 ขั้น กสิกรรมธรรมชาติ

อ.ยักษ์ อธิบายถึงหลัก กสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งมีความแตกต่างจาก เกษตรกรรม ว่า คำว่า เกษตรกรรม เน้นอุตสาหกรรมการเกษตร ผลิต และขายเป็นหลัก ส่วน กสิกรรมธรรมชาติ จะเน้นวิถีชีวิต ออกแบบวิถีชีวิตให้อยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้เน้นขาย แต่เน้นแบ่งกันกิน ด้วยหลัก 9 ขั้นตอน คือ

ขั้นที่ 1 ประคับประคองเลี้ยงดูกันในชุมชนให้พอกินให้ได้ก่อน แม้ไม่มีเงิน กลุ่มอ่อนแอ คนพิการ คนแก่ ต้องเลี้ยงดู อุ้มชูกัน เป็นหลักกสิกรรม มีพอกิน ไม่มีเงิน ต้องมีสิทธิ์กิน นี่คือ หัวใจของกสิกรรมข้อแรก

ขั้นที่ 2 ของใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน ของใช้จำเป็น เสื้อผ้า อุปโภค ช่วยกันทำ แบ่งปัน ไม่เน้นขาย

ขั้นที่ 3 ที่อยู่อาศัย ช่วยกันสร้าง

ขั้นที่ 4 การจัดสภาพแวดล้อมให้ร่มเย็น

ขั้นที่ 5 เน้นวัฒนธรรม รักษาวัฒนธรรมไทย ใจบุญสุนทาน ให้ความสำคัญกับงานบุญ ดูแลพ่อแม่ ครูบาอาจารย์

ขั้นที่ 6 การแบ่งปัน การให้ทาน ช่วยเหลือคนอ่อนแอกว่า การช่วยเหลือถือเป็นเรื่องใหญ่

ขั้นที่ 7 เชื่อมั่นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ชุมชน อุตสาหกรรมแปรรูป สร้างมูลค่า

ขั้นที่ 8 การค้าขาย เปิดตลาดที่มีคนมารวมตัวกัน ขายของดี ราคาดี ไม่มีเงินก็ซื้อได้ ไม่ใช่ต้องมีเงินเท่านั้น

ขั้นที่ 9 สร้างสังคมเอื้อเฟื้อเหมือนในอดีต สร้างวัด โรงทาน โรงเรียน ร่วมกัน ช่วยเหลืองานของสาธารณะ

“ทั้งหมดเป็น 9 ขั้นของวิถีชีวิตแบบกสิกรรมธรรมชาติ ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหัวใจของกสิกรรมธรรมชาติ ถูกนำมาใช้กับชุมชน Eco Village ที่หนองจอก ด้วย”

ชุมชนพอเพียง

สำหรับ Eco Village ชาวนามหานคร มีการทำระบบการจัดการน้ำ จัดการดิน สร้างป่า สร้างแหล่งอาหาร เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ทำระบบน้ำกระจายให้พืชทางการเกษตร และเป็นพื้นที่เรียนรู้ในแบบวิถีโบราณ ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ

อ.ยักษ์ อธิบายต่อไปว่า ชุมชน Eco Village เปิดให้คนที่อุดมการณ์เดียวกัน สนใจศรัทธา ร่วมลงทุน เริ่มจาก 30 หลังคาเรือน ช่วยกันสร้าง เตรียมป่า เตรียมน้ำ เตรียมดิน เตรียมผลิตอาหาร ทำบ้านไม่ให้ขวางทางน้ำหลาก โดยมีการเปิดคอร์สสอนง่ายๆ ทำภาษาวิชาการให้เป็นภาษาชาวบ้าน ให้ลงมือทำ ทฤษฎี 20-30% เน้นทักษะการลงมือทำมากกว่าท่องจำทฤษฎี

“ปัจจุบัน สร้างบ้านแล้วเสร็จไปได้ 3 หลัง คล้ายคลึงกับบ้านวิถีโบราณที่น้ำหลากผ่านใต้ถุนบ้านได้ แต่ปรับให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน วางระบบน้ำ ทำถนน แหล่งกระจายน้ำ การจัดการดิน ศูนย์ฝึกฯ น้ำตกที่เป็นธรรมชาติ และสร้างป่าขึ้นมาภายในแล้งนี้ เราจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเราแก้ปัญหาภัยแล้งได้ ให้ชาวบ้านได้มาเห็น มาเรียนรู้ โดยมีสมาชิกร่วมแรงร่วมใจกัน รูปแบบบ้านแบ่งเป็น 7 คุ้ม คุ้มละประมาณ 20 หลังคาเรือน เช่น คุ้มสุขภาพ คุ้มชาวเขา คุ้มที่สนใจธรมมะ คุ้มชาวนามหานคร เป็นต้น”

ทั้งนี้ ชาวนามหานคร นับเป็นเครือข่ายที่มีแนวคิดเดียวกับ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีชุมชนที่ได้นำหลัก 9 ขั้น ของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ไปเป็นแนวทางอีก อาทิ จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระบุรี รวมถึง ที่มาบเอื้อง จ.ชลบุรี

“ความตั้งใจ คือ อยากให้เป็นเหมือนเมืองลูกหลวง หากเกิดอะไรขึ้นกับเมืองหลวง ก็มีที่สำรองยา สำรองน้ำดื่ม หากต้องอพยพ ก็เตรียมสำรองที่พัก เปิดเป็นค่ายพักพิง เช่น ที่มาบเอื้อง เคยเปิดค่ายพักพิงรองรับกว่า 500 คน หากน้ำท่วม ภัยแล้ง ถึงขั้นไม่มีน้ำจืดกิน ต้องอพยพ สามารถรองรับได้และมีน้ำจืดคอยหล่อเลี้ยง ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่” อ.ยักษ์ กล่าว

‘ปรับตัว’ ในโลกผันผวน

ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการทำการเกษตรมากขึ้น โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับ จากการเล็งเห็นถึงความผันผวนและไม่แน่นอนในโลก VUCA คือ V-Volatility ความผันผวน ยากจะคาดเดา เกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ทันตั้งตัว U-Uncertainty มีความไม่แน่นอนสูง ไม่ชัดเจน ยากจะอธิบาย C-Complexity มีความซับซ้อนสูง มีปัจจัยมากมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ A-Ambiguity มีความคลุมเครือ เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ยากจะคาดเดาผลลัพธ์ได้

และการเข้าสู่โลก BANI เป็นมากกว่าความผันผวน ไม่แน่นอน แต่ส่งผลกระทบ “ด้านอารมณ์ของคน” ได้แก่ Brittle เป็นโลกที่เปราะบาง หมายถึง แทบทุกอย่าง มาเร็วไปเร็ว ความสำเร็จในโลกธุรกิจหลายตัวไม่อาจอยู่คงทนถาวร Anxiety-inducing หรือ Anxious เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความกังวล Nonlinear โลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่เป็นเส้นตรง เหตุและผล อาจไม่แปรผันตามกันชัดเจนเหมือนเดิม มีปัจจัยแทรกซ้อน และ Incomprehensible โลกที่เข้าใจได้ยาก การใช้ชีวิตในโลกที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความวิตกกังวลและไม่สามารถคาดเดาได้

“อ.ยักษ์” กล่าวว่า ปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ก็หันมาทำการเกษตรมากขึ้น จากเริ่มเห็นว่าเส้นทางการหาเงินที่ทำกันอยู่ในอนาคตจะลำบาก ขาดความยั่งยืน โลก VUCA ตอนนี้แรง และไปสู่โลก BANI อย่างไรก็ตาม แนะนำว่า ให้ศึกษาก่อนลงมือทำจริง วิธีศึกษาที่ดีที่สุด คือ เดินทางไปสัมผัสของจริง “เดินทางหมื่นลี้ ดีกว่าอ่านหนังสือหมื่นเล่มเกวียน”

“คนรุ่นใหม่มีขีดความสามารถ ระบบสื่อสารสมัยใหม่ หาข้อมูลได้ง่าย ก็จะยิ่งไปได้เร็วกว่าคนรุ่นเก่าที่มีแต่ใจกับประสบการณ์ เรี่ยวแรงก็น้อยไปเรื่อยๆ ดังนั้น ต้องให้คนรุ่นใหม่ช่วยกันกอบกู้โลกนี้ เป็นที่พึ่งถึงลูกถึงหลานให้ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ” อ.ยักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

ชาวนามหานครหนองจอก

โครงการ ‘ชาวนามหานครหนองจอก’ เกิดจากกลุ่มทั้งเศรษฐี นักธุรกิจ ปัญญาชนที่เชื่อมั่นและศรัทธาในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวมตัวกัน โดย มี ‘วรเกียรติ สุจิวโรดม’ เจ้าของที่ดินในเขตหนองจอกกรุงเทพมหานครราว 140 ไร่ตั้งใจนำเอาหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ โคก หนอง นา มาทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่นาตาม ‘ศาสตร์พระราชา’ ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในเมืองหลวงได้สัมผัสผืนป่าเพื่อเติมออกซิเจนให้คนในเมืองหลวงเป็นแหล่งเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำถึง 250,000 ลูกบาศเมตร เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร

การ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งหมายความว่า ได้ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ ส่วนประโยชน์สามารถรองรับการชลประทานรับน้ำฝน และช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งเดิมพื้นที่บริิเวณดังกล่าวเป็นทุ่งนาแปลงใหญ่ที่มีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ แต่ปัจจุบันชาวนาเจ้าของที่ดินเดิมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และลูกหลานไม่ได้ทำนาแล้ว

พื้นที่ 140 ไร่ เป็นโรงเรียนชาวนาจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้การทำนาสอนผู้คนในเมืองหลวงให้รู้จักการสร้างอาหาร ตามศาสตร์พระราชาได้อย่างแท้จริง โดยมี ‘อ.ยักษ์’ หรือ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ‘ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ’ เป็นผู้ถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1108030


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210