‘ภาชนะกินได้’ เทรนด์สุดเจ๋งจากญี่ปุ่น ที่นำมาปรับใช้ สร้างจุดขายให้สินค้าไทยได้

Loading

ไม่ใช่แค่ช่วยลดขยะ ลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้เท่านั้น เพราะเทรนด์ ‘ภาชนะกินได้’ ยังช่วยสร้างจุดขาย ความแปลกใหม่ ให้กับสินค้าได้ด้วย

และชาติที่พิสูจน์แล้วว่า เทรนด์ ภาชนะกินได้ ช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างความตระหนักเรื่องการลดขยะที่เป็ฯภาชนะใส่อาหารได้จริง คือ ประเทศญี่ปุ่น โดยในแดนอาทิตย์อุทัย เทรนด์นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ ถ้วย จาน ชาม ใส่อาหารเท่านั้น แต่ยังหมายถึง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ช้อน ส้อม หลอดกาแฟ ที่เริ่มถูกนำมาใช้แทน พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จนถึงตอนนี้ เมื่อผู้คนเริ่มยอมรับและชื่นชอบกับไอเดีย ภาชนะกินได้แล้ว ก็เริ่มมีการไปให้ความสำคัญกับรสชาติของภาชนะและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารแล้วว่า ใครจะทำได้อร่อยกว่ากัน

และไอเดียดีๆ ที่เป็นการค่อยๆ Educated หรือสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคนี้เอง ที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้ชื่อว่าบรรลุ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วย

เพื่อสร้างเข้าใจแนวทางการนำไอเดียนี้ไปใช้เพิ่มยอดขายให้อาหารของประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนการนำมาปรับใช้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารของไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้จัดทำบทความเรื่อง “ช้อน หลอด ภาชนะกินได้! เทรนด์มาแรงในญี่ปุ่น เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยในบทความนี้ได้บอกเล่าความน่าสนใจของเทรนด์ในหลากหลายมุมมองดังต่อไปนี้

เทรนด์ ‘ภาชนะกินได้’ ในญี่ปุ่น เรื่องน่าตื่นเต้น โดนใจลูกค้าทุกวัย

จากบทความของ DITP เริ่มบอกเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของเทรนด์ภาชนะกินได้ในญี่ปุ่นว่า

KITEN TOKYO เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ในเขตชินางาวะ กรุงโตเกียว ซึ่งมีร้านคาเฟ่ตั้งอยู่ด้วย Yuri ARIGA นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 3 ที่อาศัยในตัวเมืองกรุงโตเกียว ทานภาชนะใช้เค้กและช้อนจนหมดหลังทานขนมเค้กเสร็จแล้ว และบอกทันทีว่า “เค้กก็อร่อย แต่ถ้วยก็อร่อยไม่แพ้กัน”

ด้าน Tomohiro SAIJO โปรดิวเซอร์และผู้ดูแลร้านคาเฟ่ที่ให้บริการเมนู เค้กใน “ถ้วยที่กินได้” ซึ่งได้รับความนิยมมากกล่าวว่า “เมนูนี้ยังแปลกสำหรับลูกค้า ส่วนมากก็จะตื่นตาตื่นใจเวลาได้เห็นอยู่ตรงหน้ากัน” ผู้ใช้บริการพื้นที่จัดกิจกรรมของ KITEN ส่วนมากจะเป็นนักสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่สนใจกับเรื่อง “การใช้งานอย่างยั่งยืน” เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้พอได้เห็นเมนูจริง ก็ยังสามารถนำไปเป็นประเด็นหนึ่งในการสนทนาได้อีกด้วย

คุณ SAIJO ยังกล่าวอีกว่า “ครอบครัวที่มีเด็กตัวเล็กมาด้วย หรือ เวลามีการสังสรรค์ของบรรดาแม่ๆ ก็มักจะนิยมสั่งเมนูนี้กัน”

“ถ้วยกินได้” หรือ “Mogu Cup” นี้พัฒนาโดยบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มรายใหญ่ในญี่ปุ่น Asahi Breweries, Ltd. และบริษัท Marushige ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตภาชนะและตะเกียบทานได้

โดยวัตถุดิบหลักของถ้วยที่พัฒนาในครั้งนี้มาจากแป้งมันฝรั่งที่ปลูกในญี่ปุ่น ทั้งนี้ยังได้เริ่มทดลองวางจำหน่ายในร้านค้าต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และ ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ ก็ได้เริ่มจำหน่ายออนไลน์สำหรับผู้บริโภคทั่วไปด้วย โดยมียอดขายประมาณ 15,000 ชิ้น

เปิดแนวทางการออกแบบและผลิต ภาชนะกินได้

Toru FURUHARA พนักงานของบริษัท Asahi Breweries มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ โดยเขาเล่าว่าในตอนเด็กได้เคยใช้ชีวิตในจังหวัดชิมาเนะซึ่งมองเห็นทะเลญี่ปุ่นได้ ปู่ซึ่งเป็นชาวประมงได้เล่าให้ฟังว่า

 “ไม่รู้สึกเหมือนอยู่ในตัวเมืองนะ แต่ปริมาณขยะพลาสติกในทะเลเพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด”

ก่อนหน้านี้ คุณ FURUHARA เคยพัฒนาถ้วยที่ใช้พลาสติกน้อยลงโดยใช้ส่วนผสมของเส้นใยพืชเข้าไป แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาของขยะที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นประเด็นในตอนนั้น

ในทางกลับกัน บริษัท Marushige ได้ผลิต “ถาดกินได้” มาตั้งแต่ปี 2549 จุดเริ่มต้นมาจากการที่บริษัทเล็งเห็นว่าในงานอีเวนต์อาหารต่างๆ จะมีการใช้ภาชนะใส่อาหารกันเยอะมาก และทำให้เกิดขยะที่ต้องจำกัดเยอะตามมาด้วย จึงได้พัฒนาภาชนะที่ทานได้โดยนำเทคนิคการทำโคนไอศกรีมมาประยุกต์ใช้

“ในช่วงเริ่มแรกนั้นมียอดขายไม่มาก แต่หลายปีที่ผ่านมา ยอดขายเพิ่มขึ้นมากเลยทีเดียว”

การพัฒนาถ้วยกินได้นี้ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี โดยความท้าทายก็คือต้องออกแบบถ้วยที่สามารถทนน้ำนั่นเอง ซึ่งบริษัทก็ได้ปรับอัตราส่วนของแป้งและสารเติมแต่งเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้ตามต้องการ จนสามารถใส่น้ำได้โดยไม่ต้องกลัวเรื่องปัญหาภาชนะคงรูปทรงไว้ไม่ได้ หรือ น้ำเริ่มซึมเข้าไป แม้จะใช้งานเป็นเวลา 1 ชั่วโมง

นอกจากนั้นบริษัทยังให้ความสำคัญกับเรื่องปริมาณและรสชาติด้วย โดยคุณ FURUHARA มองว่า ”เพราะถ้วยนี้ถ้าใช้งานเสร็จ จะเอาไปใช้ใหม่ก็ไม่ได้แล้ว ดังนั้นเราต้องทำให้ผู้ใช้อยากทานเจ้าถ้วยนี้ให้หมดด้วย” ด้วยเหตุนี้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมา จึงทำแบบไม่หนามาก และ ยังมีทำรสชาติออกมาให้เลือกถึง 4 รสด้วยกัน

ราคาของ ภาชนะกินได้ ควรต้องจับต้องได้ ไม่แพง จึงเกิดการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ ในปัจจุบันเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารอื่นๆ ที่ทานได้ ก็ยังเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น ร้านคาเฟ่ Tea Ensemble ในมือง Kashiwazaki จังหวัดนีกาตะ ได้จำหน่ายเมนูที่นำ “หลอดกินได้” ที่ทำจากแป้งคุกกี้มาประยุกต์ใช้กับของหวานที่เข้ากันอย่างครีมชีส และได้สร้างสรรค์เมนู “ชาครีมชีส” ขึ้นมา ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าอย่างมาก

นอกจากนี้ เครื่องดื่มเย็นอื่นๆในร้านก็ใช้หลอดกินได้นี้มาเสริฟด้วย Aki KAWABATA ผู้จัดการร้านกล่าวว่า “อยากให้ลูกค้าได้ตื่นตาตื่นใจกับความแปลกใหม่นี้ ที่ทำให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”

โดยที่ร้านใช้คุกกี้ “Corone Cookie” ของบริษัทขนมขบเคี้ยวรายใหญ่ของญี่ปุ่น Bourbon ซึ่งมีทรงคล้ายหลอดดูดน้ำ เป็นสินค้าที่จำหน่ายสำหรับร้านอาหารมาเป็นเวลา 20 ปี และได้ปรับปรุงเรื่องปริมาณน้ำมันในตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ทนน้ำมากขึ้น แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับเมนูประเภทเครื่องดื่มได้นั่นเอง

ส่วนถ้วยใส่กับข้าวในกล่องข้าวเบนโตะซึ่งเดิมทีส่วนมากจะทำจากพลาสติก ก็มีการปรับรูปแบบโดยใช้วัสดุที่ทานได้มาประยุกต์ บริษัท Kimura Alumi-Haku Co., Ltd. ในเมืองโอซาก้า ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่และห่ออาหาร ได้เริ่มนำสาหร่ายมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ในปี 2551

และในปัจจุบันยังได้พัฒนาหลอดทานได้โดยนำหัวไชเท้า แครอท ถั่วเหลือง สาหร่ายคอมบุ เป็นต้น มาเป็นวัตถุดิบในการทำผลิตภัณฑ์ด้วย แล้วจำหน่ายผ่านสหกรณ์ (CO-OP) เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้ภาชนะและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารกินได้อย่างแพร่หลาย คือ ราคา ซึ่งในญี่ปุ่น ยังคงมีราคาที่สูงอยู่ โดยแก้วทานได้ Mogu Cup ไซด์ใหญ่สุด (L) 10 ชิ้นราคา 1,400 เยน (ประมาณ 400 บาท) ในขณะที่แก้วพลาสติก 50ใบราคาเพียงประมาณ 500 เยน (ประมาณ 144 บาท)

ทางบริษัท Asahi Breweries ก็มีความพยายามที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปให้โดยตั้งเป้าให้ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,000 เยน (ประมาณ 287 บาท) ให้ได้

ญี่ปุ่น กับความตั้งใจในการเป็นผู้ผลิต ภาชนะกินได้ ไปขายทั่วโลก

พลาสติกที่ผลิตในโลกร้อยละ 40 ถูกนำมาทำเป็นบรรจุภัณฑ์ สำหรับญี่ปุ่น จึงได้มีการออกกฎหมายเรียกร้องให้ลดปริมาณการแจกหลอดแบบใช้แล้วทิ้ง รวมถึงพลาสติกใช้แล้วทิ้งอื่นๆ ด้วย

Yukihiro MISAWA ผู้จัดการด้านมาตรการเกี่ยวกับพลาสติกขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาการก่อให้เกิดขยะพลาสติกนั้นก็คือ “การลดการใช้งาน (Reduce)” นั่นเอง

ส่วน “การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารทานได้ ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่มีส่วนช่วยในการลดการใช้พลาสติกได้เป็นอย่างดี”

ทั้งนี้ สำหรับถ้วย Mogu Cup นั้น มีการติดต่อมาจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐ เป็นต้น โดย คุณ FURUHARA ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “คนชาติตะวันตกมั่นใจว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมจำกลายเป็นธุรกิจได้แน่นอน” ในอนาคตอาจจะมีสักวันที่เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารทานได้ที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ริเริ่มได้มีการใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลกก็เป็นได้

เทรนด์ นวัตกรรมภาชนะกินได้ จะพลิกโฉมวงการอาหารโลก

ขยะจากพลาสติกเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจกันมากในหลายปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มที่จะเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจกันเรื่อยมาในกลุ่มผู้บริโภค ที่ยินดีจะจ่ายแพงขึ้นเพื่อมีส่วนร่วมกับการช่วยลดภาวะโลกร้อนจากขยะพลาสติก

ขณะเดียวกันเรื่องบรรจุภัณฑ์ หรือ อุปกรณ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารกินได้นี้ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ถึงแม้จะประสบปัญหาเรื่องราคาต่อหน่วยที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์จากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง หลายบริษัทก็ยังพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในราคาที่รับได้ในธุรกิจทั่วไป

และในอนาคต เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ หรือ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร

จากพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งที่ต้องปรับตัว เพื่อที่จะรับมือกับยอดขายที่ลดลง ตามปริมาณความต้องการของตลาดที่ลดลง ในขณะเดียวกันโอกาสทางธุรกิจก็เพิ่มขึ้น สำหรับสินค้าทดแทนใหม่ๆ ที่สามารถทานได้หลังใช้งาน ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เพราะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการนำมาประยุกต์ใช้งาน มีส่วนช่วยในการทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้จะส่งผลกระทบแน่นอนกับการทำธุรกิจน้อยใหญ่ ทั้งในญี่ปุ่น และ หลายประเทศคู่ค้า รวมถึงไทยด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2021/08/04/eatable-food-container-trend/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210