ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste)

Loading

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) ซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่าง ๆ ทั้งที่ใกล้หมดอายุการใช้งาน ล้าสมัย ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนาระบบการสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste หรือ E-waste) คือ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่าง ๆ ทั้งที่ใกล้หมดอายุการใช้งาน ล้าสมัย และไม่เป็นที่ต้องการของเจ้าของอีกต่อไป ซึ่งกลายเป็นขยะถูกทิ้งหรือถูกส่งต่อไปยังสถานีรีไซเคิล ซาเล้ง หรือร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำไปคัดแยกชิ้นส่วนและกำจัดเศษซากของอุปกรณ์ที่เหลือ ในยุคที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนาระบบการสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งยิ่งกว่าที่เคย ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังขาดความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และระบบการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ชิ้นส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีส่วนประกอบของสารอันตรายถูกปล่อยปละละเลยและถูกทิ้งรวมไปกับขยะทั่วไป โดยปราศจากการขัดแยก การจัดการกับชิ้นส่วนต่าง ๆ และการกำจัดที่เหมาะสม จนกลายเป็นภัยต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

ขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถจำแนกออกเป็น 10 ประเภท

ตามระเบียบ WEEE (Waste from Electronic and Electronic Equipment) ของสหภาพยุโรป ดังนี้

  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ภายในครัวเรือน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องล้างจาน เป็นต้น
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กภายในครัวเรือน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เตารีด เครื่องปิ้งขนมปัง และมีดโกนไฟฟ้า เป็นต้น
  • อุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค เครื่องสแกนเอกสาร โทรสาร โทรศัพท์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น วิทยุ โทรทัศน์ กล้องถ่ายภาพ และเครื่องดนตรีไฟฟ้า เป็นต้น
  • อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น หลอดไฟประเภทต่าง ๆ
  • อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์
  • เครื่องมือตรวจวัดและควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เครื่องตรวจจับควัน และเครื่องควบคุมอุณหภูมิ
  • อุปกรณ์เด็กเล่นหรือของเล่นไฟฟ้า
  • เครื่องมือไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สว่าน และเลื่อยไฟฟ้า
  • เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ
แหล่งกำเนิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
  • ขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม (Industrial Waste) หมายถึง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตภายในโรงงาน ทั้งส่วนที่มีองค์ประกอบของสารเคมี และเศษซากเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานที่จะถูกนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดทิ้ง
  • ขยะภายในครัวเรือน (Household Waste) หมายถึง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วไป รวมถึงขยะจากบริษัทและห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากการใช้งานผลิตภัณฑ์จนหมดอายุ ถูกทิ้งเพราะล้าสมัย หรือ ชำรุดเสียหายจนไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก
  • ขยะจากต่างประเทศ (Import Waste) หมายถึง ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับการนำเข้ามาจากจากต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
สถานการณ์ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

ในปีค.ศ. 2019 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกสูงถึง 53.6 ล้านเมตริกตัน เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 21 ในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น อีกทั้ง จากขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายล้านเมตริกตันที่เกิดขึ้น มีขยะเพียงร้อยละ 17.4 เท่านั้นที่ถูกรวมรวม เพื่อส่งต่อไปยังสถานีรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีปริมาณเกือบเทียบเท่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก ทั้ง ๆ ที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตรายกว่าขยะพลาสติกหลายร้อยเท่า

นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยอายุการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ลดน้อยลงทุกปี อย่างเช่น คอมพิวเตอร์ที่มีค่าเฉลี่ยของอายุการใช้งานลดลงจาก 6 ปี ในช่วงปีค.ศ. 1997 เหลือเพียง 2 ปี ตั้งแต่ปีค.ศ. 2005 เป็นต้นมา รวมถึงโทรศัพท์มือถือที่มีค่าเฉลี่ยการใช้งานต่ำกว่า 2 ปี และมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการคาดการณ์ว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกจะสูงถึง 74 ล้านเมตริกตันภายในปีค.ศ. 2030 จากอายุการใช้งานที่ลดลงของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้

ในขณะที่ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนกว่า 380,000 ตันต่อปี แต่ขยะเหล่านี้กลับถูกรวบรวม เพื่อส่งต่อไปสถานีรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพียงร้อยละ 7.1 ขณะที่ส่วนที่เหลือถูกนำไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ รอการฝังกลบ หรือมีบางส่วนถูกกระจายไปยังร้านรับซื้อของเก่าที่ทำการรวบรวมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่า เพื่อนำส่งแหล่งคัดแยกขยะที่ไม่ได้มาตรฐานซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศหลาย 100 แห่ง

ปัญหาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่กลายเป็นขยะจำนวนมากและเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือชิ้นส่วนของอุปกรณ์ขนาดเล็กเหล่านี้ ยังมีส่วนประกอบทางเคมีที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งสารปรอทในหลอดไฟและจอภาพสมัยใหม่ ตะกั่วและดีบุกในลวดบัดกรี แคดเมียมในแผงพิมพ์และวงจรต่าง ๆ

การคัดแยกทองแดงและโลหะออกจากตัวอุปกรณ์ต่าง ๆ ขณะที่ปราศจากอุปกรณ์ป้องกันภัยที่เหมาะสมสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คัดแยกโดยตรง ทั้งสารพิษต่าง ๆ จากการเผาขยะ สารเคมีที่รั่วไหลลงพื้นดินและแหล่งน้ำที่พร้อมจะสะสมผ่านห่วงโซ่อาหารและส่งต่อไปยังสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นขยะอันตรายที่กลายเป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งขาดความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ

อ้างอิง

กรมอนามัย สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม – http://env.anamai.moph.go.th

California Department of Resources Recycling and Recovery – https://www.calrecycle.ca.gov

National Geographic – https://www.nationalgeographic.com

Global E-waste Monitor Statisitics – www.globalewaste.org

แหล่งข้อมูล
https://ngthai.com/science/33111/e-waste/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210