ในปี 2544 ได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ออกใช้บังคับ โดยมีบทบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐกำหนดไว้ในหมวด 4 ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ มาตรา 35 ไว้ด้วย โดยสรุปคือ
คำขอ การอนุญาต การจดทะเบียน คำสั่งทางปกครอง การชำระเงิน การประกาศหรือการดำเนินการใด ๆ ตามกฎหมายกับหน่วยงานของรัฐหรือโดยหน่วยงานของรัฐ ถ้าได้กระทำในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ให้ถือว่ามีผลโดยชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายในเรื่องนั้นอนุโลม และได้มีการตราราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 35 ออกใช้บังคับเมื่อปี 2549
แม้พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 จะมีบทบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมภาครัฐบัญญัติไว้ดังกล่าว และได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมภาครัฐออกใช้บังคับแล้ว แต่มีเฉพาะหน่วยงานของรัฐบางหน่วยเท่านั้นที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์บริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกที่เห็นผลเป็นรูปธรรม
เนื่องจาก การบริหารราชการแผ่นดินในการให้บริการประชาชนด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปติดต่อราชการ ณ สถานที่ทำการ ของหน่วยงานของรัฐ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ออกใช้บังคับให้เป็นกฎหมายกลางว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ข ด้านการบริหาราชการแผ่นดิน (1) บัญญัติให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน
พระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา 15 มาตรา 19 และมาตรา 22 ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565
สาระที่สำคัญโดยสรุปคือ
การใช้บังคับ ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย ยกเว้นหน่วยงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ
เมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้ว การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นตามกฎหมายฉบับนี้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ธุรกรรมภาครัฐแห่ง พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
กิจการที่ต้องขออนุญาต
คำว่าขออนุญาต หมายความรวมถึง การขอรับใบอนุญาต ขออนุมัติ ขอจดทะเบียน ขึ้นทะเบียน รับแจ้ง รับจดแจ้ง ออกอาชญาบัตร การขอรับรอง ให้ความเห็น แจ้งผลการพิจารณา แจ้งผลการดำเนินการ จ่ายเงิน ให้ได้รับสวัสดิการ หรือให้บริการอื่นใดแก่ประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ
ในการยื่นขออนุญาต ผู้ขออนุญาตจะเลือกยื่นคำขออนุญาตพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ และถือว่าการยื่นขออนุญาตนั้นชอบด้วยกฎหมายนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไม่รับคำขออนุญาตเพียงเพราะยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้
การยื่นขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับสิทธิพิเศษ คือ ในการยื่นขออนุญาตตามปกติที่ต้องเป็นไปตามแบบ วิธีการหรือเงื่อนไขที่กำหนดถ้าการยื่นคำขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ มีข้อความตรงตามแบบที่กำหนดนั้นแล้ว ให้ถือว่าการยื่นคำขออนุญาตนั้น ได้ยื่นตามแบบ วิธีการ หรือเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว และยื่นเอกสารเพียงชุดเดียว แม้กฎหมายจะกำหนดให้ยื่นเกินหนึ่งชุดก็ถือว่าได้ยื่นและส่งเอกสารครบจำนวนแล้ว ส่วนสำเนาเอกสารที่ส่งไปกับคำขอ ก็ไม่ต้องลงนามรับรอง
การพิจารณาอนุญาตหากต้องใช้สำเนาเอกสารที่หน่วยงานอื่นออกให้ผู้ขออนุญาต ถ้าผู้ขออนุญาตนำต้นฉบับมาแสดงแล้ว หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตต้องจัดทำสำเนาและรับรองความถูกต้องเอง
การยื่นคำขออนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ มีข้อยกเว้นกรณีการจดทะเบียนที่ต้องดำเนินการเองเป็นการเฉพาะตัว เช่นทะเบียนสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนปกติของกรณีนั้นฯ เว้นแต่กฎหมายในเรื่องนั้นจะให้ดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ก็เป็นไปตามกฎหมายนั้น
วันเวลาที่รับคำขอและการติดต่อ
คำขอหรือการติดต่อที่ประชาชนส่งหรือมีถึงหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานนั้น ถือว่าได้รับในวันเวลาที่คำขอหรือการติดต่อเข้าระบบ เว้นแต่เป็นวันเวลานอกทำการ ให้ถือว่าได้รับในวันเวลาทำการ ถัดไป
การยืนยันตัวตน
ในการยื่นขออนุญาต หรือจดทะเบียน การขอมีบัตรประจำตัวประชาน หนังสือเดินทาง ดังกล่าวข้างต้น หากต้องมีการยืนยันตัวตน จะกำหนดวิธีการอื่นนอกจากการแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทางก็ได้
การตรวจสอบความถูกต้องของบัตรประจำตัวประชาชน
ในกรณีจะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของบัตรประจำตัวประชาชนที่ต้องแสดงในการยื่นคำขออนุญาต ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอนุญาตต้องตรวจสอบกับสำนักงานทะเบียนกลางทะเบียนราษฎร์ และให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของสำนักทะเบียนกลางที่จะต้องตรวจสอบและแจ้งผลโดยพลัน
การแสดงใบอนุญาต
ในกรณีที่กฎหมายกำหนดต้องแสดงใบอนุญาตโดยเปิดเผย ผู้รับอนุญาตจะแสดงใบอนุญาตด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามที่ผู้อนุญาตประกาศกำหนดก็ได้ และถือว่าการแสดงเช่นนั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบใบอนุญาต จะแสดงใบอนุญาตหรือเอกสารเป็นภาพทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การติดต่อหรือส่งเรื่อง
การติดต่อหรือส่งเรื่องระหว่างเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐหรือประชาชนกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ถ้าได้ทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและใช้เป็นหลักฐานได้ตามกฎหมาย
การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องมีหลักฐาน เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นหนังสือ หรือเอกสาร ถ้าได้ทำโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ตมระบบของหน่วยงานนั้น ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้ว
การจัดเก็บข้อมูลข่าวสารหรือบรรดาเอกสารของหน่วยงานของรัฐ
ถ้ามิได้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้หน่วยงานของรัฐจัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดเก็บเป็นเอกสาร แล้วส่งมอบต้นฉบับให้เก็บที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติก็ได้
การจัดทำและเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษา
ให้จัดทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ แทนการจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวก รวดเร็ว และจัดทำสำเนาได้โยตนเอง หากประชานต้องการสำเนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องจัดให้โดยเร็ว โดยมีค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดก็ได้
แหล่งข้อมูล