ในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ภาคเกษตรของไทยเจอมรสุมไปหลายลูก ไล่ตั้งแต่การตัดสินใจแบนปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต้องใช้อย่างพาราควอต ภัยแล้ง น้ำท่วม แล้วไหนยังจะเจอผลพวงของการดิสรัปชันของเทคโนโลยีดิจิทัล ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ซ้ำร้ายเจอการระบาดของโควิด–19 เข้าให้อีก
นับแต่นี้ไป ภาคเกษตรควรจะปรับเปลี่ยนไป ปรับตัวกันอย่างไร…???
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทรรศนะว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทําให้รูปแบบพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ภาคการเกษตรจึงต้องปรับตัวในหลายๆเรื่อง ประการแรกเกษตรกรต้องหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตสินค้าที่ปลอดภัย มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แล้วพุ่งเป้าตลาดมาที่การค้าออนไลน์ เพราะจะเปิดโอกาสให้สร้างอัตลักษณ์ของสินค้าของตนเอง สร้างความดึงดูดให้กับสินค้า สามารถขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง กลุ่ม หรือชุมชน ไปยังผู้บริโภคโดยตรง โดยกระทรวงเกษตรฯได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว
สำหรับแรงงานที่กลับคืนถิ่น หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้วหันไปใช้ทำเกษตร ก็สามารถใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) บ่มเพาะตัวเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer พร้อมไปกับใช้ศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ในการบ่มเพาะผู้ให้บริการทางการเกษตร ทั้งผู้ประกอบการ และ Start Up เพื่อให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ให้คําปรึกษาในการลงทุนภาคการเกษตร
ขณะเดียวกัน ในยุคที่ภาคเกษตรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แรงงานภาคเกษตรหายาก และค่าจ้างสูง ก็ต้องปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมาทดแทน และทําให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และเครื่องจักรกลสมัยใหม่ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งใช้ Agri–Map จัดทําโซนนิ่ง ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตร ที่สำคัญจำเป็นต้องเกิดการรวมกลุ่ม เช่น ระบบเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
นอกจากนั้น ทางภาครัฐเองก็ต้องหันมาให้ความสำคัญกับงานวิจัย เพื่อนำงานวิจัยต่างๆทางการเกษตรมาช่วยลดต้นทุนการผลิต หรือนำงานวิจัยต่างๆที่มีอยู่ มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ พัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับการเกษตร ซึ่งงานวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรม ถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตใหม่ สามารถช่วยลดต้นทุน นำมาสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อยอด เพิ่มมูลค่า คุณภาพผลผลิตการเกษตรได้
“ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายต่างๆเพื่อภาคเกษตรไทย อาทิ แนวคิดการตลาดนําการผลิต เพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาด ช่วยให้เกษตรกรและผู้บริโภคสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์ได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างสินค้าทางเลือก พืชทางเลือกใหม่ ที่มีศักยภาพให้กับเกษตรกร การรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น พัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาด”
ดร.พงศ์เทพ อัครธนกุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มองไปในทางเดียวกัน… เกษตรกรไทยต้องหันมาผลิตสินค้าคุณภาพให้ได้มูลค่า โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่การบริหารจัดการที่ดี อันจะเกิดผลพวงให้ลดต้นทุนไปในตัว สิ่งสำคัญเกษตรกรต้องคำนึงถึงข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ ข้อจำกัดทางชีววิทยาของทั้งพืชและสัตว์แต่ละชนิด อันเป็นที่ธรรมชาติรังสรรค์มาแล้ว หากไปฝืนธรรมชาติ อาจไม่เกิดผลดีต่อตัวเกษตรกรเองนัก รวมถึงต้องดูตลาด ฝีมือของตัวเกษตรกรเอง ฉะนั้น ต้องพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ เพราะทุกอย่างพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ต้องมีสตอรีให้กับตัวผลิตภัณฑ์ โดยอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และความเป็นจริง
“เกษตรกรต้องเปลี่ยนจากการทำผลิตภัณฑ์ประเภทคอมมูนิตี้ เน้นปริมาณ แต่ราคาต่อหน่วยไม่สูง ไปเป็นผลิตภัณฑ์แบบโปรดิวซ์ ที่มีราคาค่อนข้างสูง เพราะถ้าเราเน้นแต่ปริมาณ อย่างดีสินค้าเกษตรเราก็ถูกประเทศคู่ค้าซื้อเอาไปเป็นวัตถุดิบแปรรูป สุดท้ายเราก็สู้ประเทศอื่นไม่ได้ ขณะที่พืชบางอย่าง ก็มีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ หรือเป็นพืชประจำถิ่น จะไปปลูกสู้ประเทศที่เขาเป็นมืออาชีพมานานคงไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าพืชตัวไหนเราไม่มีศักยภาพพอ ก็อย่าฝืนปลูก ซื้อเขาเอาถูกกว่า แถมไม่ต้องเหนื่อย ส่วนพืชที่เราถนัดอยู่แล้ว หรือเคยเป็นคอมมูนิตี้ ก็ต้องเอางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วย”
นอกจากนั้น ต้องรวมตัวกันผลิต รวมถึงใช้เทคโนโลยี ปลูกพืชให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ โดยดูสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นหลัก ขณะที่ภาครัฐก็ต้องก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ใช้แต่ละพื้นที่ตามศักยภาพของพื้นที่นั้นๆ เชื่อมโยงการค้าระหว่างกลุ่มให้เกิดเป็นเครือข่าย เปลี่ยนวิธีคิด ปรับโครงสร้างระบบราชการ โดยเฉพาะโครงสร้างการบริการวิชาการให้เกษตรกร รัฐ เอกชน ต้องทำอย่างฉลาดและจริงใจในทุกเรื่อง เอาความผิดพลาดในอดีตมาทบทวน วิเคราะห์ และจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง
“รัฐต้องบริหารงานวิจัยให้เก่ง ส่งเสริมและวิจัยไปพร้อมกัน ขณะเดียวกันก็สนับสนุนทางวิชาการให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะงานวิจัยที่ลดต้นทุน เพราะเกษตรกรยังค่อนข้างขาดความช่วยเหลือในเรื่องเกี่ยวกับวิชาการ รวมถึงเทคโนโลยีการผลิต เมื่อเกษตรกรมีพร้อมทั้งฝีมือ องค์ความรู้ วิชาการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อันเกิดจากงานวิจัย ต่อไปก็ต้นทุนลด ผลผลิตเพิ่ม ในอนาคตการประกันราคาอันทำลายกลไกการตลาดก็จะหมดไป”