Digital Literacy และ Digital Fluency ทักษะดิจิทัลแห่งอนาคตที่ทุกองค์กรต้องรู้

Loading

HIGHLIGHT
  • เทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงต้องมีความรู้เรื่อง Digital Literacy และ Digital Fluency เพื่อเอาตัวรอดในสังคมทำงานอย่างดีที่สุด
  • Digital Literacy และ Digital Fluency คือสิ่งที่ BBC มองว่าคนทำงานขาดไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปไวมาก องค์กรต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยไม่มีข้อแม้ (Non Negotiable)
  • Digital Literacy คือการที่พนักงานรู้ว่าเครื่องมือแต่ละอย่างสามารถใช้งานได้อย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ขณะที่ Digital Fluency คือการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีเหล่านั้นอย่างมั่นใจ รู้ว่าจะต่อยอดบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร
  • เมื่อโลกเทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด HR Recruiter ต้องตรวจสอบผู้สมัครตั้งแต่ขั้นตอนสรรหา เพื่อให้ก้าวไปสู่การเป็น Digital Fluency โดยใช้ทรัพยากรขององค์กรอย่างคุ้มค่าที่สุด

BBC กล่าวว่าโลกการทำงานในปัจจุบันไม่ได้อยู่แค่ว่า “เราใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นไหม” แต่ต้องก้าวไปไกลกว่านั้นให้ได้ ความเข้าใจเรื่อง Digital Literacy และ Digital Fluency จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พนักงานทุกคนควรมี

เราต้องรู้ว่าเมื่อเจอสถานการณ์ต่าง ๆ แล้ว เราควรหันไปใช้เทคโนโลยีอะไร บูรณาการออกมาอย่างไร ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เป็นต้น การลงทุนตรงส่วนนี้กับพนักงานจะช่วยให้เราสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ใหม่ ๆ และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ง่ายกว่าที่เคย

เหตุนี้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลจึงถือเป็นสิ่งที่องค์กรทุกแห่งต้องมี ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว (Non Negotiable) เพราะหากเราย้อนมองกลับไปถึงผลสำรวจของ BBC เมื่อปี 2019 ที่เผยว่า “ความชำนาญในเรื่องดิจิทัล” เป็นสกิลพื้นฐานที่ถูกระบุไว้ในใบประกาศรับสมัครงานถึง 82% ซึ่งมาถึงตอนนี้ในปี 2023 เราก้าวจากจุดนั้นมาแล้ว 4 ปี ได้เห็นกับตาว่าเทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขดังกล่าวจึงมีแต่จะเพิ่มขึ้น จนแค่มีความรู้พื้นฐานคงไม่พอ แต่ต้องเข้าใจอย่างชัดเจน มีไหวพริบ สามารถเลือกใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้องทันทีที่ต้องการ

Digital Literacy คืออะไร?

ความหมายของ Digital Literacy คือการมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อสื่อสารหรือทำงานอย่างมั่นใจ และรู้ว่าเทคโนโลยีแบบไหนเหมาะกับงานแบบไหน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ผู้ที่จะทำแบบนี้ได้ จำเป็นต้องเข้าใจทักษะเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะในประเด็นเหล่านี้

  • มีความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูลและสื่อต่าง ๆ
  • มีความสามารถในการสื่อสาร หรือใช้สื่อออนไลน์ต่าง ๆ
  • มีความสามารถในการบริหารจัดการอัตลักษณ์บนโลกออนไลน์ และรู้จักวิธีปกป้องข้อมูลส่วนตัว
  • มีความสามารถในการสร้างเนื้อหาบนโลกออนไลน์ (Online Content)
  • มีความสามารถในการติดตามข่าวสาร และรู้ว่าเทคโนโลยีในโลกของเรามีพัฒนาการอย่างไร

อย่างไรก็ตาม คำว่าชำนาญจะแตกต่างกันไปตามบริบทที่บุคคลนั้น ๆ อยู่ เช่นหากคุณเป็นนักเรียนมหาวิทยาลัย ความต้องการในเรื่องเทคโนโลยีก็จะไม่มากเท่ากับคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ซึ่งต้องออกแบบระบบให้กับองค์กรขนาดใหญ่

ที่สำคัญคือเราต้องมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยให้ชีวิตประจำวันดีขึ้น และมีความรู้มากพอในการต่อยอดว่าจะนำความรู้ดังกล่าวไปสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างไร

คนที่ทำงานด้านการตลาดก็ต้องรู้ว่าระบบอัลกอริทึมของสื่อโซเชียลต่าง ๆ มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือคนที่ทำเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวก็ควรรู้ว่าระบบนำทางในโลกใบนี้พัฒนาไปถึงจุดไหน และแบบใดคุ้มค่าที่สุด เป็นต้น

ความสำคัญของ Digital Literacy

Digital Literacy เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะในยุคที่การทำงานส่วนใหญ่ถูกย้ายไปอยู่บนโลกออนไลน์หมดแล้ว การที่เราไม่รู้จักเทคโนโลยีหรือโลกดิจิทัลเลยเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เพราะจะนำไปสู่ปัญหามากมาย ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในบางองค์กรที่ใช้วิธีทำงานจากบ้านเป็นหลัก ไม่ได้กลับมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวันอย่างช่วงก่อนโควิด-19 อีกแล้ว

นอกจากนี้ คนที่ไม่รู้จักใช้เทคโนโลยีจะไม่มีศักยภาพในการ ค้นหาข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและซับซ้อนมากกว่าที่เคย นายจ้างส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักคาดหวังว่าพนักงานจะมีองค์ความรู้มากพอในการต่อยอดหัวข้อที่มอบหมายไว้ให้ เพื่อนำไปสู่แนวทางใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

สิ่งเหล่านั้นจะพัฒนาต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ของตลาด และสร้างผลประกอบการที่ดีให้กับบริษัทในลำดับต่อไป นอกจากนี้พนักงานที่มีทักษะดิจิทัลอย่างแข็งแกร่งจะมีประโยชน์กับองค์กรมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบกับพนักงานรายอื่น ๆ ส่งผลต่อระดับเงินเดือน และการเลื่อนตำแหน่งอย่างมีนัยสำคัญ

ทักษะดิจิทัลที่สำคัญของ Digital Literacy มีอะไรบ้าง ?

เพื่อให้เห็นภาพ Digital Literacy มากขึ้น เราขอสรุปทักษะดิจิทัลที่จำเป็นในโลกการทำงานเป็น 6 ส่วน ดังนี้

1. ทักษะในการค้นหาข้อมูล

ปัจจุบันนี้มีข้อมูลมากมายบนอินเตอร์เน็ตให้เราได้ศึกษาหาความรู้ แต่ด้วยข้อมูลที่มากมายนั้นเอง ที่ทำให้มีข้อมูลปลอม ๆ ปราศจากการตรวจสอบ ไม่เกิดประโยชน์แฝงอยู่คู่ไปด้วย หน้าที่ของเราคือการเสาะหาข้อมูลที่อ้างอิงได้จริง และมีประโยชน์ที่สุด ต้องเป็นข้อมูลที่ปราศจากอคติและสามารถนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้

ดังนั้นพนักงานต้องรู้จักวิธีหาข้อมูล ต้องรู้ว่าจะใช้งานแหล่งข้อมูลใดบ้าง ต้องรู้ว่าหน่วยงานไหนเชื่อถือได้ หน่วยงานไหนควรปล่อยผ่าน เรารู้จักทดลองใช้วิธีค้นหาที่แตกต่างกัน ต้องรู้จักใช้คีย์เวิร์ด ต้องรู้ว่าหากข้อมูลที่ได้มายังไม่ชัดเจน ต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ไหน หรือฟังก์ชันใดที่จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นและไม่ติดลิขสิทธิ์

คนที่หาข้อมูลไม่เป็น จะไม่มีทางเหนือไปกว่าคนที่มีความรู้อย่างจริงจังได้เลย

2. เข้าใจกลไกการทำงานของโลกดิจิทัลในปัจจุบัน

คงไม่ใช่เรื่องดีหากเราทำการตลาด แต่มีพนักงานที่ไม่รู้จักศัพท์เทคนิคอย่างพวกอัลกอริทึม, SEO, Metaverse หรือไม่เข้าใจเลยว่าอินเตอร์เน็ตช้าหรือเร็วเพราะเหตุผลด้านไหนบ้าง

องค์กรที่พนักงานมีความพร้อมกับเรื่องนี้จะสามารถสื่อสารกันได้สะดวกขึ้น ขั้นตอนการประชุมก็จะไม่ยืดเยื้อ เพราะไม่จำเป็นต้องเสียเวลามานั่งอธิบายศัพท์ทีละอย่าง จึงสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลกได้อย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพจริง

เราควรเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะกับบริบทการทำงานของแต่ละคน เช่นหากคุณทำงานเอกสาร ก็ควรจะรู้วิธีการใช้งานเว็บไซต์บนระบบคลาวด์ เช่น Google Docs, Google Sheet หรือรู้วิธีนำเสนอเนื้อหาบนโลกออนไลน์ และส่งต่อให้คนที่เกี่ยวข้อง

ลองนึกดูว่าหากพนักงานของคุณใช้วิธีสรุปประชุมบนแผ่นกระดาษแล้วค่อยถ่ายเอกสารแจกจ่ายทีละคน คุณจะรู้สึกอย่างไร และ จะเกิดปัญหาอะไรตามมาบ้าง เวลาต้องการย้อนกลับไปดูข้อมูลเก่า ๆ หรือต้องการเรียกดูหัวข้อใดเป็นพิเศษอย่างทันท่วงที ? ปัญหานี้จะถูกแก้ได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งบริหารจัดการได้ด้วยปลายนิ้ว

3. เข้าใจการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การร่วมงานกับผู้อื่นง่ายขึ้น

คนที่เป็นมืออาชีพมักต้องทำงานกับคนมากมาย และใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงานหรือลูกค้าใช้เทคโนโลยีแบบไหนในการทำงาน หากเราขายงานได้ แต่ไม่สามารถประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรมที่ลูกค้าถนัด ก็จะทำให้เราเสียภาพลักษณ์ หรืออาจสูญเสียงานนั้นไปเลยด้วยซ้ำ

เราต้องรู้ว่าจุดอ่อนหรือจุดแข็งของสิ่งที่เราทำคืออะไร หากคุณใช้คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กแต่ลูกค้าใช้ MacBook เราก็ต้องรู้ว่าการส่งไฟล์ข้ามแพลตฟอร์มจะมีข้อผิดพลาดอะไรตามมาได้บ้าง และจะแก้ไขอย่างไร

4. ต้องพร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เสมอ

นอกจากความสามารถในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี พนักงานก็ต้องมีความสามารถในการพิจารณาด้วยว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะสมกับการทำงานหรือไม่ ไม่ใช่เอาแต่เลือกเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยไม่สนเลยว่ามีความคุ้มค่าหรือเปล่า ให้คิดเสมอว่าคนที่เลือกเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ทรัพยากรที่กำหนดคือเป้าหมายหลักของทุกองค์กร

การที่พนักงานจะทำแบบนี้ได้ ย่อมต้องมาพร้อมกับความเข้าใจในชิ้นงานที่ตนรับผิดชอบอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ถือเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าพนักงานคนดังกล่าวให้ความสำคัญกับการทำงาน และมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นร่วมกับองค์กรจริง ๆ

เราจะพัฒนาทักษะดิจิทัล Digital Literacy ได้อย่างไร ?

ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว สุดท้ายคุณก็ต้องเรียนรู้ทักษะดิจิทัลและต้องมีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่ดี ไม่ว่าจะเพื่อการสื่อสาร การเรียน รู้หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน อย่างการจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ, การพยากรณ์อากาศ, การนำทางคมนาคม ฯลฯ โดย Forbes ได้แนะนำกลยุทธ์สำหรับคนที่อยากเพิ่มทักษะดิจิทัลเอาไว้ดังนี้

1. เราต้องพิจารณาวิธีการทำงานในแต่ละวันก่อน ว่ามีงานไหนบ้างที่อาจถูกทดแทนโดยเทคโนโลยีได้ เช่นงานแบบทำซ้ำไปเรื่อย ๆ (Routine) อย่างการกรอกเอกสาร, การจัดเก็บเอกสารเข้าชั้นวางของ, การอบรมสัมมนา เป็นต้น จากนั้นก็ให้สังเกตว่าหากเทคโนโลยีดังกล่าวเติบโตขึ้นจริง ๆ เราจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นอย่างไร

2. เมื่อตั้งคำถามเบื้องต้นได้แล้ว เราก็จะรู้ว่าตนมีความรู้มากพอเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือเปล่า? มีจุดอ่อนตรงไหนที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมบ้าง ให้คิดว่าเราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างโดยทันที แต่อย่างน้อยก็ต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานว่าเพื่อนร่วมงานใช้โปรแกรมอะไร มีวิธีการใช้งานอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัวที่สุด

3. เมื่อเข้าใจทักษะเบื้องต้นแล้ว เราก็ต้องเป็นคนที่หมั่นเรียนรู้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรู้จักเทคโนโลยีหรือใช้เป็นทุกอย่าง แต่ต้องเข้าใจกลไกการทำงาน และรู้ว่าโลกเปลี่ยนไปอย่างไร สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ มีเทคโนโลยีใหม่แบบไหนเข้ามาทดแทน หรือมีเทคโนโลยีใดบ้างที่น่าจะใช้งานได้ดีกว่าสิ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

การหาข้อมูลตรงส่วนนี้ขึ้นอยู่กับความใส่ใจของพนักงานแต่ละคน หรือการให้ความรู้จัก HR ทั้งด้วยการจัดอบรมหรือแม้แต่การให้ข้อมูลผ่านสื่อภายใน (Internal Sources) ให้ถือว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน

4. องค์กรต้องหมั่นกระตุ้นพนักงานให้ศึกษาเทคโนโลยี เพราะการบอกให้พนักงานเปลี่ยนรูปแบบการทำงานถือเป็นเรื่องยาก เราต้องย้ำให้เห็นว่าการเรียนรู้สิ่งที่ดีกว่าจะช่วยทั้งองค์กรและช่วยให้ตัวเขาเองทำงานง่ายขึ้นได้อย่างไร

งานบางอย่างที่เคยใช้เวลาทำเป็นวัน อาจทำเสร็จได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ในที่นี้ก็ควรมีแผนงานรองรับเอาไว้ด้วยว่าหาพนักงานเริ่มสนใจเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น องค์กรได้มีรูปแบบการอบรมเตรียมไว้เพียงพอหรือไม่อย่างไร

5. ไม่พูดถึงเทคโนโลยีในฐานะคำขู่หรือสร้างความรู้สึกในเชิงลบ เช่นเอาแต่ย้ำว่าหากไม่รู้จักเทคโนโลยี จะทำให้เราตกงานหรือจะถูกปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่ เพราะแม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ทำให้พนักงานหมดกำลังใจและไม่อยากสู้ต่อได้

กลับกันเราต้องทำให้เห็นว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน จะช่วยให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้นได้อย่างไร สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและส่งผลในแง่บวกต่อ Career Path ได้มากแค่ไหน ให้คิดว่าทุกการกระทำของเรา เป็นการเอาความสุขของพนักงานเป็นที่ตั้งเสมอ

นอกจากวิธี 5 ข้อข้างต้นแล้ว สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำก็คือการทำให้ตัวเองมีทัศนคติของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) เพราะโลกนับจากนี้จะไม่มีทักษะใดทักษะเดียวที่ใช้งานได้ตลอดไป ซึ่ฝไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีหรือระบบดิจิทัลเท่านั้น แต่เป็นองค์ความรู้ทุกอย่างที่หากเราไม่รู้จักปรับตัว ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังทันที

ความแตกต่างระหว่าง Digital Literacy และ Digital Fluency

Linkedin เคยบอกว่า Digital Fluency คือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่ต้องทำให้ได้ในโลกการทำงานยุคใหม่ (New World of Work) ดังนั้นทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร?

Digital Literacy หมายถึงทักษะการใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานทั้งหมด เช่นเราควรทำงานเอกสารอย่างไร เราควรดูแลความปลอดภัยอย่างไร หรือเราควรจัดเก็บข้อมูลอย่างไร ต้องกดปุ่มไหน ต้องเลือกใช้ฟังก์ชั่นอะไรเพื่อให้สามารถใช้ระบบนั้น ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วที่สุด กล่าวได้ว่า Digital Literacy คือรากฐานที่จะนำไปสู่ Digital Fluency นั่นเอง

Digital Fluency คือความชำนาญ คือการที่เรารู้แล้วว่าจะเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นไปใช้งานต่อยอดได้อย่างไร ที่สำคัญยังช่วยให้เราปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย เช่นหากเรารู้ว่าเทคโนโลยีที่องค์กรกำลังนำมาใช้มีรากฐานมาจากระบบแบบไหน เราก็ไม่ต้องเสียเวลาปรับตัว สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดังกล่าวได้รวดเร็วกว่าคนที่ต้องเข้าอบรมใหม่ตั้งแต่ต้น

และยิ่งเราใช้เครื่องมือได้อย่างมั่นใจ เราก็จะรู้ว่าเครื่องมือเหล่านั้นมีขีดจำกัดอย่างไร หรือสามารถประยุกต์ใช้แบบไหนได้บ้าง เพื่อช่วยส่งเสริมความคิดที่อยู่ในหัวให้กลายเป็นจริงง่ายได้กว่าเดิม

สรุปโดยง่ายว่า Digital Literacy คือการรู้วิธีใช้ แต่ Digital Fluency คือการฝึกใช้ให้ชำนาญ จนรู้ว่าสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร

เราจะพัฒนา Digital Literacy ให้เป็น Digital Fluency ได้อย่างไร ?

University Business ได้ให้แนวทางของการพัฒนาทักษะจาก Digital Literacy ให้เป็น Digital Fluency เอาไว้ดังนี้

  1. จัดอบรมแบบมืออาชีพ (Professional Development)
  2. ให้ Digital Badge กับพนักงานเพื่อเป็นสิทธิพิเศษบางอย่าง ซึ่งรางวัลนี้จะได้ก็ต่อเมื่อนำเทคโนโลยีไปต่อยอดใช้ให้เกิดประโยชน์
  3. หัวหน้างานสามารถสั่งงานแบบค่อย ๆ เปลี่ยนจากแบบออฟไลน์ไปเป็นแบบออนไลน์ทีละนิดทีละน้อยเพื่อสร้างความคุ้นเคย โดยเฉพาะในออฟฟิศที่เต็มไปด้วยผู้สูงอายุและไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีเท่าคนรุ่นใหม่
  4. จัดเตรียมพี่เลี้ยง เพื่อช่วยอธิบายให้เห็นภาพว่าวิธีทำงานเดิมที่มีอยู่สามารถเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีได้ในขั้นตอนไหนบ้าง การทำให้ดูเป็นตัวอย่างจะช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น และปรับตัวได้ดีกว่าเดิม

แหล่งข้อมูล

https://th.hrnote.asia/orgdevelopment/230526-digital-literacy/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210