ส่องเทคโนโลยีโรงพยาบาลสนามบุษราคัม บนพื้นที่มากกว่า 100,000 ตารางเมตร ใหญ่ที่สุดในประเทศและสร้างเสร็จภายใน 7 วัน ระดมเครื่องมือดิจิทัลประสานระบบจัดส่งคนไข้ ตรวจเช็กเตียง เชื่อมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ
สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงไว้วางใจไม่ได้ โดยเฉพาะรายงานยอดผู้ติดเชื้อ 10 จังหวัดสูงสุด ซึ่งกรุงเทพมหานครยังเป็นอันดับ 1 ด้วยยอดผู้ติดเชื้อใหม่ เมื่อจำนวนผู้ป่วยใหม่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนเตียงและทีมแพทย์และพยาบาลมีเท่าเดิม กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งหาทางรับมือ ทำให้เกิดโรงพยาบาลสนามขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ โดยที่ใหญ่ที่สุดคือโรงพยาบาลสนาม “บุษราคัม” ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี บนพื้นที่มากกว่า 100,000 ตารางเมตร
![](http://www.securitysystems.in.th/wp-content/uploads/2021/06/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A11.jpg)
นอกจากจะเป็นโรงพยาบาลสนามที่ใหญ่ที่สุดแล้ว เทคโนโลยียังทำให้รพ.สนามบุษราคัมสร้างเสร็จภายใน 7 วัน เช่นเดียวกับโรงพยาบาลสนามในอู่ฮั่น จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน
พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรงพยาบาลสนามถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิดในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลุ่มที่มีอาการปานกลางหรือกลุ่มสีเหลืองให้ได้ เพื่อรักษาไม่ให้เปลี่ยนเป็นผู้ป่วยวิกฤติหรือกลุ่มสีแดง ซึ่งจำนวนโรงพยาบาลที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอ โรงพยาบาลสนามจึงเป็นพื้นที่รองรับผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและสู้ไปด้วยกัน
![](http://www.securitysystems.in.th/wp-content/uploads/2021/06/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A13.jpg)
และเนื่องด้วยโควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อที่ระบาดได้ในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เป็นอุปสรรคในการที่แพทย์จะเข้าไปพบผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด การวางระบบให้เป็นโรงพยาบาลดิจิทัล (Digital hospital) จึงเป็นแนวทางที่สำคัญยิ่ง เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบการจัดการคอมพิวเตอร์ จึงถูกนำมาใช้เพื่อให้แพทย์ และพยาบาลติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยและเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์พื้นฐานได้ตลอดเวลา เช่น ข้อมูลผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และอาการต่อเนื่องจากการรักษา
ทั้งหมดนี้ทำงานบนระบบดิจิทัลผ่านคอมพิวเตอร์แทนการใช้กระดาษ รวมถึงการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลตรวจติดตามผู้ป่วย การวัดสัญญาณชีพ (vital sign) แบบอัตโนมัติติดที่ตัวคนไข้ แล้วรายงานผ่านจอได้เรียลไทม์ การวัดความดันโลหิต อุณหภูมิ และอัตราการเต้นของหัวใจ อัตโนมัติ และเวชระเบียนการจ่ายยาแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้งานเพื่อส่งยาให้ผู้ป่วย
![](http://www.securitysystems.in.th/wp-content/uploads/2021/06/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A14.jpg)
พญ.ปฐมพรกล่าวว่า เมื่อตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อจากการสวอบ (swab) ตามมาตรฐานโรงพยาบาล ทีมเจ้าหน้าที่สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร, ศูนย์บริหารจัดการเตียง กรมการแพทย์ 1668, ศูนย์เอราวัณ 1669 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1330 จะคีย์ข้อมูลผู้ป่วยที่มีผลโพซิทีฟ (positive) เข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันจัดหาเตียงให้คนไข้
ส่วนหนึ่งจะถูกส่งมายังโรงพยาบาลบุษราคัม ด้วยระบบ Co-Link ซึ่งพัฒนาโดยสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Government Big Data Institute : GBDi) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอีเอส และระบบ Co-bed ซึ่งเป็นระบบบริหารเตียงผู้ป่วยจำนวนมาก ทางเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบุษราคัมจะตรวจสอบความพร้อมผู้ป่วยและประสานไปที่หน่วยรถรับส่งจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และจะเข้าสู่กระบวนการนำคนไข้เข้าสู่โรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งจะรองรับผู้ป่วยกลุ่มเตียงสีเหลืองเป็นหลัก กล่าวคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย-ปานกลางที่ยังช่วยตัวเองได้
![](http://www.securitysystems.in.th/wp-content/uploads/2021/06/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A15.jpg)
นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็ค–เซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลและการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมาบริการให้กับแพทย์ พยาบาล รวมทั้งผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้ ตั้งแต่ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การใช้งานดีแทค Wi-Fi ผ่าน Access point รวมทั้งนำโน้ต– บุ๊กคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน กล้อง CCTV และ dtac@Home หรือ Fixed Wireless Broadband ซึ่งเป็นอุปกรณ์ติดตั้งง่ายได้ทุกที่โดยไม่ต้องเดินสาย นำไปใช้งานที่โรงพยาบาลบุษราคัม และหอพยาบาล สนับ– สนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
โดยทีมแพทย์จะใช้โน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์ ทำการรักษาผ่านระบบแพทย์ทางไกล (teleme–dicine) มีการรีโมตเข้ามารักษา หรือการให้ข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน LINE พร้อมทั้งมีการจัดพยาบาลที่เข้าไปติดตามดูแลผู้ป่วย
![](http://www.securitysystems.in.th/wp-content/uploads/2021/06/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%A12.jpg)
พญ.ปฐมพรกล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามารักษาตัวที่นี่ คือจากวันที่พบเชื้อ 14 วัน ยกเว้นบางคนที่โอนย้ายมาจากที่โรงพยาบาลอื่นจากกลุ่มเตียงสีแดง เมื่ออาการดีขึ้นจะย้ายมาที่นี่ เพื่อให้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีแดงคนอื่น ที่ต้องการรักษาได้มีเตียงพอเพียง ซึ่งผู้ป่วยที่โอนย้ายมาจากที่อื่น อาจจะมาอยู่ต่อที่ รพ.บุษราคัมอีก 3-5 วัน แล้วกลับบ้าน เทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วขึ้น และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาของโรงพยาบาลบุษราคัม
ทั้งนี้ โรงพยาบาลบุษราคัมได้ถูกสร้างขึ้นที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 ก่อนเป็นแห่งแรก ด้วยจำนวน 1,083 เตียงในเวลา 7 วัน และฮอลล์ 1 ถูกสร้างถอดแบบ (mirror) ตามออกมาด้วยจำนวน 1,078 เตียงภายใน 5 วัน แบ่งเป็นหอผู้ป่วยหญิงและชายแยกกัน โดยทั้งสองแห่งมีห้องความดันลบ (Negative pressure room) และออกซิเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ที่ผ่านการวางระบบใหม่ทั้งหมด ด้วยการต่อท่อออกซิเจนเข้ามาจากด้านหลังฮอลล์มาถึงเตียงผู้ป่วย ส่วนห้องอาบน้ำ จำนวน 100 ห้อง แบ่งชายหญิง ด้วยระบบกำจัดน้ำเสียตามมาตรฐาน ซึ่งน้ำที่ใช้แล้วจากโรงพยาบาลบุษราคัมจะไหลไปจุดศูนย์กลางพร้อมทั้งผ่านระบบบำบัด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางด้วยบ่อบำบัดขนาดใหญ่ พร้อมทั้งระบบกำจัดขยะ.
แหล่งข้อมูล www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2114167