รัฐบาลดิจิทัล มาครบ…คลาวด์ บล็อกเชน บิ๊กดาต้า

Loading

การแถลงนโยบายของ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 มีประเด็นน่าสนใจหลายอย่าง ในเรื่องการพัฒนาระบบ Digital ของประเทศ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet), National Blockchain และ เป็นรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) อย่างสมบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่างๆ ภาครัฐและสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

โดยเรื่องแรกที่จะดำเนินการ คือ Go Cloud First วางกรอบในการขยายคลาวด์ ซึ่งเป็นการวางเชิงโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเน้นการสร้าง Public Cloud และ Private Cloud ที่มีมาตรฐานในการดูแลข้อมูลภาครัฐ นอกจากนั้น รัฐบาลยังมีโครงการดึงบริษัทชั้นนำทั่วโลก เข้ามาลงทุนด้าน Cloud Data Center ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค (Hub) ในเรื่องนี้ 

ในส่วนของ Digital ID มีเป็นกรอบที่ชัดเจน และขณะนี้กฎหมายได้มีมาตรฐานที่รับรองไว้แล้ว ในด้านการบริการมีทั้ง ThaiD และ NDID หรือ National Digital ID ซึ่งเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการบนโลกดิจิทัล ที่สามารถทำธุรกรรมทางโลกออนไลน์ต่างๆ ซึ่่งมีผู้ใช้มากกว่า 10 ล้านคนและอยู่ในระหว่างการขยายการใช้งาน (use case) ซึ่งจะทำให้การติดต่อและดำเนินงานผ่านระบบรัฐและการติดต่อค้าขายทำได้ง่ายขึ้นและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

ในเรื่องของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การพัฒนาพื้นที่หรือระดับเมือง ได้ส่งเสริมการนำข้อมูล Big Data เข้ามาใช้ เพื่อเป็นประโยชน์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลเมืองในแต่ละชั้นข้อมูลและรวบรวมพร้อมวิเคราะห์ผลผ่านแพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Data Platform : CDP) ซึ่งเป็นวิธีที่สำคัญในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

“ดีอีเอสได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินโครงการ Health Link หรือการพัฒนาคลาวด์ด้านสาธารณสุขของไทย เชื่อมโยงประวัติการรักษา เพื่อให้การรับบริการด้านสาธารณสุขสามารถทำได้ทั่วประเทศ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว สามารถรักษาได้ทุกโรงพยาบาล และยังสามารถเช็กข้อมูลประวัติข้ามโรงพยาบาลได้อีกด้วย” รมว.ดีอีเอส กล่าว

นอกจากนี้ยังดำเนินโครงการ Travel Link ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลท่องเที่ยว แสดงให้เห็นการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

“เรากำลังเตรียมทำ Digital Government โดยจัดทำแผนแม่บทในการบูรณาการ ในเรื่องความแตกต่างแต่ละกระทรวง มาพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยการทำ Super App ที่รวมทุก platform ของภาครัฐ โดยการใช้ Blockchain เป็นตัวเก็บข้อมูล มุ่งเน้นการเชื่อมข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน”

สำหรับเรื่องของ Data Economy ระดับภาพรวม ข้อมูลภาครัฐเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้าน Open Data ถือเป็นมาตรการเชิงรุกด้านดิจิทัลของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญ เริ่มเปิดข้อมูลของภาครัฐให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้ใช้ประโยชน์ ด้วยการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูลภาครัฐและระบบให้บริการแลกเปลี่ยน มีการแบ่งปันสถิติตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ทางดีอีเอส ยังมีสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ที่เป็นองค์การมหาชนได้รับการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ในการจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้นต้องทำควบคู่ไปกับการเคารพในสิทธิของข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน จึงต้องส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชน มีความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) และเตรียมพร้อมรองรับการบังคับใช้ในเรื่องนี้ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ประโยชน์จาก IoT ดีอีเอส มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa และสถาบัน IoT ซึ่งทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ร่วมกับ startup เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม IoT และพัฒนามาตรฐานของอุปกรณ์ ในเรื่องความปลอดภัย เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่บัญชีบริการดิจิทัล

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ โดย depa จัดการส่งเสริม IoT ไปใช้ในภาคส่วนสำคัญ ประกอบด้วย ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม โดยการพัฒนา Smart City ซึ่งมีกลไกการขับเคลื่อนในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง startup ที่มีขีดความสามารถและพัฒนาเมืองแบบยั่งยืน ซึ่งมีตัวอย่างการพัฒนา อาทิ การใช้ IoT และเทคโนโลยีอื่นเชื่อมโยงข้อมูลกับการบริการจัดคิวรถบรรทุก ท่าเรือแหลมฉบัง การส่งเสริมกิจกรรมของเทศบาลนครยะลา โดยใช้จากกล้องและจาก IoT เพื่อรับเรื่องร้องเรียน การจัดเก็บภาษีและการแก้ไขปัญหาขยะ การส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานทั้งจาก NB-IoT บนเครือข่าย Cellular หรือเครือข่ายมือถือ เป็นต้น

“การทำงานของดีอีเอส มีแผนงานให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพไทยได้มีโอกาสในการพัฒนาประเทศ  และเชื่อว่าการเปิดประตูการค้ากับภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมเมืองให้มีการใช้เทคโนโลยี ที่มีทั้งข้อมูลของเมือง การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาเมือง ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคต การพัฒนาระบบนิเวศในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นการปิดช่องว่างโดยรัฐจะสนับสนุนทั้งผ่านรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) หรือ Matching Fund”

สำหรับข้อความห่วงใยในเรื่องต่างๆ นั้น ทั้งเรื่องระบบ IoT จะใช้ Lorawan และ NB – IoT ซึ่งเป็นระบบที่ดีกว่า 5G และใช้พลังงานต่ำกว่า ต่อมาเรื่อง Digital Literacy ทางดีอีเอสมีแนวคิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการอบรมทั้งภาคราชการ และภาคประชาชน เพื่อให้เข้าถึงความรู้พื้นฐานด้านเทคโนโลยี ซึ่งเรื่อง Digital Wallet จะเป็นแรงจูงใจให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ Blockchain และด้วยเทคโนโลยีที่มีความโปร่งใส พร้อมยืนยันเงิน 10,000 บาท จะถึงมือพี่น้องประชาชนครบทุกบาททุกสตางค์

นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย สร้างความโปร่งใสตรวจสอบได้ ได้แก่ การจ่ายเงินภาครัฐ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การติดต่อราชการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ One Stop Service เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และการนำระบบ Blockchain มาใช้เพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกรรมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็น Digital Government ต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2023/09/14/thailand-digital-government/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210