รัฐบาลดิจิทัล กับการใช้คลาวด์เชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐแบบไร้รอยต่อ

Loading

“ต้องยอมรับว่าความท้าทายของภาครัฐในยุคนี้ คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนติดต่อและรับบริการจากภาครัฐได้โดยสะดวกในโลกยุคดิจิทัล  คำตอบก็คือ การปรับเปลี่ยนไปสู่ภาครัฐที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารงานและให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งก็คือการก้าวไปสู่การเป็น รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) นั่นเอง”

นี่คือข้อเท็จจริงสำคัญที่บทความเรื่อง “รัฐบาลดิจิทัล (1): ความฝัน หรือ ความหวัง?” โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เผยแพร่ผ่าน Facebook : DrSupot ต้องการเน้นย้ำและสื่อสาร

โดย การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation หรือ DX) ดร.สุพจน์ เน้นย้ำในบทความนี้ว่า ไม่ใช่เพียงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับขั้นตอนการทำงานบางขั้นตอน แต่หมายถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานทั้งหมดของภาครัฐ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน รวมถึงการบริหารงานของภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ต้องยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภาครัฐ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความซับซ้อนกว่าเอกชนมาก มีหน่วยงานระดับกรม 300 หน่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศอีก 7,850 แห่ง กฎระเบียบมากมาย ทำให้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานได้ยาก

อย่างไรก็ดี ดร.สุพจน์ เล่าว่า เป้าหมายของ รัฐบาลดิจิทัล ไม่ใช่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลเพื่อรัฐบาลดิจิทัล หากแต่เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Smart Life) และพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย (Smart Nation) เราจึงกำหนดผลลัพธ์สำคัญ ของรัฐบาลดิจิทัลไว้ 3 เรื่องด้วยกัน คือ

1 การพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐทั้งหมดได้ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อด้วยตนเอง ไม่ต้องพกเอกสาร และดำเนินการทุกขั้นตอนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

2 การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data-driven Government) ประชาชนไม่ต้องนำเอกสารของหน่วยงานรัฐไปแสดงต่อหน่วยงานรัฐอื่น เพื่อขออนุญาตหรือรับบริการอีกต่อไป เช่น การชำระภาษีเงินได้ประจำปีของกรมสรรพากร ทีดึงข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์หรือเงินบริจาคมาประกอบการยื่นภาษีได้โดยไม่ต้องส่งหรือแนบเอกสารในระบบ โดยเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจน เพื่อให้มีการนำข้อมูลเปิดภาครัฐ ไปต่อยอดสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าต่อเศรษฐกิจและสังคม

3 การพัฒนาบุคลากรและหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งให้เป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อให้บุคลากรมีทักษะดิจิทัลที่จำเป็น องค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ มาพัฒนาการบริหารงานและการบริการประชาชนได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

“หัวใจสำคัญของการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือคำว่าดิจิทัล (Digital) แต่อยู่ที่การ “ปรับเปลี่ยน” (Transform) คนและกระบวนการทำงานโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” ดร.สุพจน์เน้นย้ำ

และล่าสุด เพื่อให้การขับเคลื่อน รัฐบาลดิจิทัล เดินหน้าไปอย่างถูกทาง ทีดีอาร์ไอ ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (สดช.) จัดประชุม “เปลี่ยนผ่านภาครัฐ มุ่งใช้บริการคลาวด์ อีกก้าวของรัฐบาลยุคดิจิทัล” เพื่อหนุนเดินหน้าใช้คลาวด์เป็นหลัก ชี้ข้อดีเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐแบบไร้รอยต่อ ประหยัดงบฯ มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

โดยในการประชุมนี้ ยังได้นำเสนอร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กฎระเบียบ มาตรการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้และการใช้บริการระบบคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นทิศทางขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีระบบคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ ให้สอดคล้องกับการผลักดันแนวนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเน้นให้หน่วยงานภาครัฐพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และเริ่มเลือกโอนย้ายภารกิจที่เหมาะสมของหน่วยงานไปใช้งานระบบคลาวด์ตามประเภทและรูปแบบที่เหมาะสม

ดร.สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ ในฐานะที่ปรึกษาด้านการวิจัยและนโยบายโครงการฯ เปิดเผยผลการศึกษาโดยระบุว่า ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้าอย่างรอบด้าน ซึ่งประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจได้เริ่มใช้ประโยชน์กันมาก โดยเฉพาะระบบคลาวด์ ที่แม้ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ก็มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับกระบวนงาน การให้บริการและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอื่น เช่น การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์เหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คณะผู้วิจัยทีดีอาร์ไอได้จัดทำขึ้นนั้น ได้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อขับเคลื่อนการก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ในมิติกระบวนงานและการจัดทำบริการสาธารณะ เช่น การให้บริการคลาวด์ รูปแบบและประเภทต่างๆ เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรของรัฐและลดต้นทุนการใช้จ่ายงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกทั้งลดภาระและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความปลอดภัยของข้อมูล

รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพของภาครัฐผ่านการเชื่อมโยงระบบและข้อมูล ในขณะเดียวกันเพิ่มอำนาจต่อรองภาครัฐในการใช้บริการระบบคลาวด์ให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุด พร้อมเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการสาธารณะ

“ประเทศไทยได้เริ่มต้นขับเคลื่อนการใช้งานระบบคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐมาแล้วหลายปี แล้ว แต่เมื่อหน่วยงานต่างๆ มีความสนใจและความต้องการสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องมั่นใจได้ว่าฝั่งอุปสงค์และอุปทานสอดคล้องกัน ทั้งในแง่ปริมาณบริการ มาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องและกระบวนการตั้งแต่การคัดเลือกผู้ให้บริการ บริการ ตลอดจนการทำสัญญา ซึ่งจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือทั้งสำหรับหน่วยงานภาครัฐเอง ภาคเอกชนและประชาชนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบ” ดร.สุเมธ ระบุ

สำหรับกุญแจสู่ความสำเร็จของระบบคลาวด์ภาครัฐ ดร.สุเมธ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การขับเคลื่อนการใช้บริการคลาวด์นั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบการให้บริการและการใช้บริการคลาวด์ ดังนี้

1 กรอบแนวคิดเชิงนโยบายและแนวปฏิบัติ (Policy and Guideline) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงกฎหมายด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์

2 การเลือกประเภทและรูปแบบบริการที่เหมาะสมตามการจำแนกข้อมูล (Data Classification) โดยคำนึงถึงการจัดชั้นความลับของข้อมูล ประกอบกับความต้องการใช้งาน ขีดความสามารถของหน่วยงาน งบประมาณ และถิ่นที่อยู่ของข้อมูล

3 กรอบกลไกการบริหารจัดการการใช้งานคลาวด์ของหน่วยงานภาครัฐ (Government Cloud Management: GCM) เพื่ออำนวยความสะดวกการจัดหาบริการคลาวด์ในกระบวนการด้านงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง ตามแนวคิดตลาดดิจิทัล (Digital Marketplace)

4 มาตรฐาน ที่เป็นคุณสมบัติของผู้ให้บริการคลาวด์ โดยผู้ให้บริการต้องมีระดับของบริการ (SLA) สูงเพียงพอ ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลหรือมาตรฐานในประเทศที่เทียบเท่า ซึ่งเกี่ยวข้องการระบบและการให้บริการ พร้อมมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย (Compliance)

5 ผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud Service Providers) ครอบคลุมทั้งผู้ให้บริการคลาวด์ในประเทศและและผู้ให้บริการคลาวด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งมาพร้อมกับลักษณะของบริการคลาวด์ (Cloud Services) ที่หลากหลาย โดยต้องมีคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานในภารกิจหรือบริการของภาครัฐ

ที่สุดแล้ว ดร.สุเมธ ระบุว่า การขับเคลื่อนแนวนโยบายนี้จะช่วยสร้างความชัดเจนในส่วนที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ ลดอุปสรรค โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและกระบวนการด้านงบประมาณ เช่น การจ้างบริการคลาวด์ร่วมกันของหน่วยงาน และการชำระค่าบริการตามปริมาณการใช้งานจริง (Pay-per-Use) พร้อมทั้งสร้างสมดุลกับแนวปฏิบัติที่ดีและมาตรฐานที่เชื่อถือได้ เช่น มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่างๆ ซึ่งจะเป็นการยกระดับงานด้านการมาตรฐานด้านดิจิทัลในประเทศไทยให้เข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย เพื่อให้รัฐบาลไทยทันสมัย รวดเร็ว และมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ อันจะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐและการบริการประชาชนต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/05/25/cloud-using-for-digital-goverment/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210