ผลสำรวจดีป้าชี้สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับ 3 อุตสาหกรรมดิจิทัลไทยโตแรงต่อเนื่อง

Loading

ล่าสุด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลสถานภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 2564 ใน 3 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมบริการดิจิทัล ว่ามีมูลค่าสูงรวม 8.98 แสนล้านบาท และยังขยายตัวได้ถึง 25% จากปี 2563 โดยอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด

ทั้งนี้ ยังคาดการณ์ว่าการเติบโตของแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล มีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ใน อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย โดยมูลค่าจะขึ้นไปถึง 6.9 แสนล้านบาทในปี 2567

โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) และอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) ทั้งในส่วนของข้อมูลรายได้และการจ้างงาน โดยนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้คำนวณร่วมกัน ซึ่งพบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย 25% จากปี 2563 มีมูลค่ารวมที่ 8.98 แสนล้านบาท

และหากนับรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ที่สำรวจโดย ดีป้า และอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ปี 2564 จากการสำรวจโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จะมีมูลค่ารวมที่ 1.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.33% สะท้อนให้เห็นถึงอัตราการเติบโตอย่างมากในทุกภาคส่วนอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงที่สุดคือ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีอัตราการเติบโตกว่า 37% คิดเป็นอัตราเติบโตสูงสุดด้วยมูลค่า 3.46 แสนล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ (Online Media) ซึ่งรวมทั้งยูทูบ (YouTube) และเฟซบุ๊ก (Facebook) พบว่ามีการขยายตัว โดยเฉพาะในส่วนของรายได้จากการโฆษณา

“สังคมไทยกำลังเข้าสู่บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้คนใช้งานแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ (e-Retail) รับชมสื่อออนไลน์ และใช้บริการขนส่ง (e-Logistics) มากขึ้น ซึ่งตลาดที่เติบโตชัดเจนคือ e-Logistics เช่น บริการสั่งอาหาร ถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวมากกว่า 57% เช่นเดียวกับ e-Retail ที่เติบโต 44% โดยมูลค่าบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับจำนวนบุคลากร ซึ่งไม่ใช่เพียงคนไอที แต่เกิดการจ้างงานที่ทำให้ผู้คนเข้ามาในอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้น” ดร.กษิติธร กล่าว

โดยการสำรวจพบว่า จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลปี 2564 เติบโตเฉลี่ย 26.55% เพิ่มเป็น 84,683 ราย จาก 66,917 รายในปี 2563

ล็อกดาวน์พา อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย และตลาดฮาร์ดแวร์โตต่อเนื่อง

การสำรวจและประเมินสถานภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 2564 ยังพบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้น 20% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.86 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์มาจำหน่ายในประเทศไทยมากขึ้นกว่า 53% มีจำนวนเครื่องเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 ล้านเครื่อง โดยมูลค่าการซื้อขายเครื่องสูง ส่งผลให้ตลาดคอมพิวเตอร์เติบโตเกินระดับ 1 แสนล้านบาท

สถิตินี้ทำให้เห็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่สังคมดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการล็อกดาวน์ และการทำงานจากระยะไกล (Work from home) ที่มีผลให้ตัวเลขรายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้นรวม 12%

อีกหนึ่งส่วนที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์คือ ตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot & Automation) โดยการสำรวจพบว่ามีการนำเข้ามากกว่า 5.53 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตกว่า 27% ซึ่งถือเป็นส่วนที่เติบโตอย่างมากในฝั่งฮาร์ดแวร์

นอกจากนี้ การสำรวจพบว่า จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะปรับตัวลดลงราว 0.45% ในปี 2564 โดยบันทึกได้ 311,051 ราย ขณะที่ปี 2563 มีจำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมดังกล่าว 312,460 ราย

ซอฟต์แวร์คลาวด์ – บิ๊กดาต้า โตตามมาติดๆ

ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการด้านซอฟต์แวร์ยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2564 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 1.44 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ใช้ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 1.21 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 14%

และสิ่งที่พบจากการสำรวจคือ ส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีการจ้างงานเฉลี่ยต่ำกว่า 10 คน และกว่า 90% เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า มูลค่าของซอฟต์แวร์แบบคลาวด์ (Cloud) ที่สามารถใช้งานผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ได้ยืดหยุ่นเติบโตมากกว่าแบบออนพริมิส (On-Premise) ที่ยังอิงกับระบบเซิร์ฟเวอร์ดั้งเดิม

โดยในปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ปี 2564 มีจำนวน 129,544 ราย เพิ่มขึ้น 4.64% จากจำนวนบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมปี 2563 ที่มีจำนวน 123,805 ราย

นอกจากนั้น การสำรวจยังพบว่า อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าปี 2564 มีมูลค่ารวม 1.59 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 14.25% โดยการสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. ส่วนฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 1.92 ล้านล้านบาท เติบโต 19.07% 2. ส่วนซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 4.76 พันล้านบาท เติบโต 13.91% 3. ส่วนบริการดิจิทัล มีมูลค่า 9.31 พันล้านบาท เติบโต 17.53% ขณะที่บุคลากรมีจำนวน 19,392 คน เพิ่มขึ้น 18%

บริการด้านดิจิทัลมาแรงแซงทุกกลุ่ม

ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึงผลคาดการณ์ 3 ปีข้างหน้า(ปี 2565-2567) โดยวิธีประมาณการณ์จากมูลค่าอุตสาหกรรมปีที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมที่จะเติบโตมากที่สุดในช่วง 3 ปีจากนี้คือ บริการดิจิทัลและบิ๊กดาต้า ตามมาด้วยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์

“หากพูดถึง 3 อุตสาหกรรมดิจิทัล ฮาร์ดแวร์ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในการสำรวจในอดีต แต่เชื่อว่า ใน 3 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเติบโตของแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลจะทำให้อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลมีสัดส่วนมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย โดยมูลค่าอุตสาหกรรมจะขึ้นไปถึง 6.9 แสนล้านบาทในปี 2567” รศ.ดร.ธนชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ในงานแถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัล ประจำปี 2564 และคาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี ยังมีช่วงของการเสวนา ในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ก้าวไปพร้อมกันกับ depa”

โดย กษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า ศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ นักวิจัย สถาบันไอเอ็มซี ปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นโอกาสทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งได้ยืนยันชัดเจนว่านี่จะเป็นอีกแรงหนุนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2022/09/26/depa-survey-confirm-digital-industrial-thailand-rising/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210