สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) นำโดย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ depa ปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้แทนของประเทศไทย (National Representative) พร้อมด้วย ดร.อรฉัตร เลียงพิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนครั้งที่ 4 (The 4th ASEAN Smart Cities Network: ASCN) โดยมีประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์อันเนื่องมาจากสถานการ์ณการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) เป็นความร่วมมือที่ผู้นำอาเซียนได้ร่วมก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 มีเป้าหมายหลักในการสร้างเมืองอัจฉริยะอาเซียนที่มีด้วยการใช้เทคโนโลยีในขับเคลื่อน อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืน ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญยิ่งของประชาคมอาเซียนซึ่งมีการเติบโตในภาคของความเป็นเมืองอย่างก้าวกระโดดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา
โดยผู้แทนประเทศไทยได้นำเสนอโครงการสำคัญ ๆ ที่กำลังดำเนินการ เช่น การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่โดยรอบให้ใช้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขับเคลื่อนการเติบโตของชุมชนเมือง หรือ Transit Oriented Development (TOD) หนึ่งในแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่ได้การยอมรับในระดับสากล การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน และการทำระบบไฟฟ้าแรงดันกลางหรือต่ำขนาดเล็ก (Microgrid) ซึ่งใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการทำงานแบบบูรณาการที่สอดประสานกันเปรียบเสมือนเป็นระบบเดียว ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดชลบุรี รวมไปถึง โครงการการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ A.I.) ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพการจราจรจากกล้องวงจรปิดเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร โครงการออกแบบระบบการขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยการบูรณาการทางเลือกการขนส่งสาธารณะเพื่อให้บริการ (หรือ Mobility-as-a-Service หรือ MaaS) และโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเล, ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเรืออัจฉริยะ, ประตูอัตโนมัติ ณ จุดขึ้นลงเรือ พร้อม CCTV จับใบหน้า และตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ โดยโครงการทั้งหมดของเมืองสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนทั้ง 3 ของประเทศไทยนั้นได้รับสียงตอบรับจากเมืองสมาชิกอื่น ๆ เป็นอย่างดี
ในการประชุมครั้งนี้สมาชิกทั้งหมดได้ผลัดกันนำเสนอความก้าวหน้าของเมือง โดยมีพันธมิตรนอกเครือข่าย อาทิ ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงแนวทางการให้การสนับสนุนสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Smart City supported by Japan ASEAN Mutual Partnership (หรือ Smart JAMP) และ USDTA Project Preparation Assistance เป็นต้น
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.depa.or.th/th/article-view/20210830_01
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/215081338570456/posts/4243870815691468/