Deep Utopia เมื่อโลกไร้งาน เราจะใช้ชีวิตอย่างไร

Loading

ในเวลาเพียง 2-3 ปี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความสามารถสูงขึ้นมากแบบก้าวกระโดดในทุกๆ เดือน และช่วยให้เราทำงานเสร็จเร็วขึ้น

หลายครั้งที่เราสามารถทำงานบางอย่างให้แล้วเสร็จได้ในเวลาเพียง 30 นาทีเมื่อทำงานร่วมกับเอไอ ต่างจากเคยต้องใช้หลายคนทำในเวลา 1 วัน โดยคุณภาพงานไม่แตกต่างกัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้กำลังส่งสัญญาณให้เห็นโลกอนาคตที่เทคโนโลยีจะเก่งขึ้นอีกหลายเท่า และงานหลายงานจึงกำลังค่อย ๆ เลือนหายไป เราจึงกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ เมื่อเครื่องจักรและปัญญาประดิษฐ์ทำงานได้ดีขึ้น เร็วขึ้น และถูกกว่ามนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน

คำถามสำคัญจึงไม่ใช่เพียงแค่ “เราจะทำงานอะไรในยุคเอไอ?” แต่เป็นคำถามที่ลึกกว่านั้นว่า “ถ้าไม่มีงาน เราจะเป็นใคร และจะใช้ชีวิตอย่างไร?”

Daniel Susskind นักเศรษฐศาสตร์และอาจารย์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้เขียนในหนังสือ “A World Without Work” ชี้ว่าโลกไม่ได้จะเข้าสู่ยุคที่ไม่มีงานเลยทันทีทันใด แต่งานที่เคยเป็นหัวใจของการมีชีวิตอยู่กำลังจะกลายเป็นของหายาก และไม่เพียงพอสำหรับทุกคนอีกต่อไป

ในอดีต แม้เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่แรงงาน แต่ระบบเศรษฐกิจก็ยังสามารถสร้างงานใหม่ขึ้นมาได้เสมอ ผู้คนถูกแทนที่ในบางตำแหน่ง แต่ก็ย้ายไปทำงานในตำแหน่งใหม่ ๆ

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจึงดูเหมือนจะ ปลดปล่อยมนุษย์จากความเหน็ดเหนื่อย และเพิ่มความมั่งคั่งโดยรวมให้กับสังคม

แต่คลื่นเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 นี้กำลังเปลี่ยนแปลงแก่นของสมการเดิมทั้งหมด เพราะเอไอไม่ได้แทนที่แค่งานทางกายภาพแบบเครื่องจักรเคยทำ แต่กำลังบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ของงานคิด งานสร้างสรรค์ และงานที่เคยเชื่อว่าเป็นมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้

เมื่อระบบอัจฉริยะสามารถเรียนรู้ เขียนบทความ แต่งเพลง วินิจฉัยโรค หรือแม้แต่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายได้ การผูกความหมายของชีวิตเข้ากับการทำงานจึงเริ่มสั่นคลอน และไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเปลี่ยนสายงานไปทำสิ่งใหม่ได้เสมอ เพราะงานที่เหลืออยู่นั้นอาจมีจำนวนน้อยจนไม่เพียงพอต่อทุกคน หรือซับซ้อนและใช้ทักษะสูงเสียจนเข้าถึงได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหางานไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เกี่ยวพันกับความเป็นอยู่ของมนุษย์ในเชิงจิตวิญญาณและสังคม ในโลกปัจจุบัน

งานไม่เพียงแต่เป็นแหล่งรายได้ แต่ยังเป็นตัวกำหนดสถานะทางสังคม วัตถุประสงค์ในชีวิต และโครงสร้างชีวิตประจำวันของเรา เมื่องานเริ่มหายไป ความรู้สึกไร้ค่า ไร้จุดหมาย และถูกตัดขาดจากสังคมจะค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา

Nick Bostrom นักปรัชญาและนักวิจัยชาวสวีเดนที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ได้เขียนในหนังสือล่าสุดชื่อว่า “Deep Utopia: Life and Meaning in a Solved World” เสนอภาพฉากทัศน์อนาคตของโลกที่ปัญหาทั้งหมดได้รับการแก้ไข ซึ่งเขาเรียกว่า Deep Utopia เหมือนโลกแบบยูโทเปีย นิยายที่เขียนโดยเซอร์ โทมัส มอร์ เมื่อกว่า 500 ปีก่อน เขาตั้งคำถามใหม่ว่า “เราจะใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อไม่มีงานอะไรที่จำเป็นต้องทำอีกต่อไป?” เมื่อเทคโนโลยีทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายได้โดยไม่ต้องทำงาน

เราอาจกำลังเดินเข้าสู่ยุคแห่ง “การว่างงานถาวร” ซึ่งไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจล้มเหลว แต่เพราะเศรษฐกิจประสบความสำเร็จจนเกินไป จนได้ทำลายเสาหลักที่รองรับชีวิตมนุษย์แบบเดิมลงโดยไม่ตั้งใจ

ในโลกเช่นนี้ รัฐจะต้องหาวิธีใหม่ในการจัดสรรความมั่งคั่ง เพราะหากคนจำนวนมากไม่มีงานทำ แล้วรายได้ของพวกเขาจะมาจากไหน? คำตอบหนึ่งที่พูดถึงกันมากขึ้นทุกปีคือ ระบบรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) หรือระบบที่รัฐจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้ทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขของการทำงาน

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะแม้จะผลักดันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าสำเร็จ ก็ยังมีโจทย์ทางจริยธรรม การเมือง และปรัชญาที่ต้องตอบให้ได้อีก

หากย้อนมองจากอนาคตกลับมายังปัจจุบัน โลกที่ไร้งานอาจไม่ใช่เป็นวิกฤติ แต่อาจเป็นบทเปลี่ยนผ่านของวิวัฒนาการมนุษย์ ที่ไปพ้นจากเรื่องปากท้องสู่การเสาะหาเป้าหมายในความหมายที่ลึกซึ้งกว่าวัตถุ เราอาจต้องละทิ้งแนวคิดที่ว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ทำงานหนัก แล้วหันกลับมาตั้งคำถามว่าชีวิตที่ดีจริง ๆ คืออะไร? ซึ่งไม่สามารถตอบได้ด้วยเงินเดือน ตำแหน่ง หรือเวลาทำงานอีกต่อไป

บางคนอาจหันไปหาความหมายในรูปแบบใหม่ เช่น การสร้างสรรค์ การดูแลผู้อื่น การเรียนรู้ หรือการแสวงหาทางจิตวิญญาณ สังคมใหม่จะเลิกวัดคุณค่าของคนจากสถานะการทำงาน รัฐต้องสร้างสถาบันและระบบใหม่ที่ส่งเสริมการเติบโตภายใน ไม่ใช่แค่ผลผลิตภายนอก

ในท้ายที่สุด เส้นทางข้างหน้าของโลกไร้งานอาจไม่ใช่แค่การเลือกว่าจะมีรายได้พื้นฐาน หรือไม่มี แต่คือการตัดสินใจร่วมกันว่า เราจะสร้างสังคมที่ยังคงคุณค่าความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร ท่ามกลางโลกที่ไม่ต้องดิ้นรนเพื่ออยู่รอดอีกต่อไป หากเราเพียงแต่ตอบสนองด้วยการเสพความสุขราคาถูกอย่างไร้เป้าหมาย

โลกอาจลื่นไถลสู่ดีสโทเปียอันเยือกเย็นอย่างนิยาย Brave New World ของอัลดัส ฮักซ์ลีย์ ที่มนุษย์มีชีวิตอยู่เพียงเพื่อความบันเทิงและการหลีกเลี่ยงความทุกข์ แต่หากเราเริ่มตั้งคำถามกับ “ชีวิตที่มีความหมายในโลกไร้งาน” ที่กำลังมาถึงในอนาคต อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมยูโทเปียก็เป็นได้

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/innovation/1178178


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210