‘ดีอี’ ตั้งศูนย์มอนิเตอร์ภัยออนไลน์ ดันใช้ AI จับผิดคนร้ายเรียลไทม์

Loading

กระทรวงดีอีผนึกสตช.-ป.ป.ส. ตั้งศูนย์มอนิเตอร์ป้องภัยไซเบอร์ โฟกัสค้ายาออนไลน์ ชูเทคโนโลยี AI จับผิดคนร้าย ส่งต่อข้อมูล ปิดกั้นโซเชียล และขยายผลจับกุม

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงดีอีมีการทำงานร่วมกับตำรวจในการ ปิดกั้นโซเชียลมีเดีย ที่ดำเนินการผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจำนวนนั้นมีเพจที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดด้วย แต่การค้าขายยาเสพติดในโลกออนไลน์ก็มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าของแพลตฟอร์มอาจไม่มีเจตนา เพราะไม่ได้เป็นการรับเงินจากการปล่อยให้มีโฆษณาเพจของตนเอง

อย่างไรก็ดี ต่อไปจะมีการทำงานที่เข้มข้นมากขึ้น เพราะจากกรณีที่มีข่าว ตำรวจบุกรวบ 2 อินฟลูเอนเซอร์หนุ่ม โพสต์ขายยาเสพติด ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยอ้างว่า รับซื้อยาเสพติดออนไลน์จากบุคคลหนึ่ง เพื่อนำมาขายต่อ โดยตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. จับกุมตัวพร้อมของกลาง ซองบรรจุยาเสพติด ที่บ้านพักในกรุงเทพฯ หลังตำรวจตรวจพบบัญชี X โพสต์ขายยาเสพติดโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย

ดังนั้น เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระทรวงดีอี จึงลงนามความร่วมมือกับ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ในการปราบปรามการซื้อขายยาเสพติดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกระทรวงดีอี และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ในการตั้งศูนย์มอนิเตอร์โซเชียลมีเดีย โดยใช้ทั้งกำลังคน และ เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ AI ในการตรวจสอบเพื่อส่งต่อไปยัง สตช.และ ป.ป.ส.ในการขยายผลและดำเนินคดีต่อไป

“ในการค้ายาเสพติดออนไลน์ เขาจะมีกลุ่มเฉพาะของเขา และมีการโพสต์เป็นรหัสลับที่รู้กันอยู่ในวงของเขา ไม่ใช่การโพสต์ขายชื่อยาเสพติดโดยตรง เช่น ใช้คำว่า เนื้อ เป็นต้น ดังนั้น AI จะต้องเข้าใจและมอนิเตอร์ให้ได้”

ด้านพลตำรวจตรี อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการ บก.ปอท. เปิดเผยว่า การค้าขายยาเสพติดผ่านช่องทางออนไลน์มีมานานแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้น และซับซ้อนมากขึ้น จากการมอนิเตอร์การโพสต์ขาย 100 โพสต์ พบว่า 60-70% มีอายุในการโพสต์เพียง 1-2 วัน เพื่อเรียกยอดติดตาม อีก 20% พบว่าในจำนวนนี้ 15% เป็นการหลอกลวงขายยา รับเงินแล้ว แต่ไม่มีสินค้าจริง ผู้ถูกหลอกก็ไม่กล้าแจ้งความ เพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เหลือเพียง 5 % เท่านั้น ที่ตำรวจได้ล่อซื้อและพบว่ามีการขายยาเสพติดจริง

สำหรับศูนย์มอนิเตอร์ดังกล่าวจะตั้งอยู่บนชั้น 4 ของ บก.ปอท.เพื่อมอนิเตอร์สิ่งผิดกฎหมายทั้งหมด ส่วนหนึ่งจะส่งให้กระทรวงดีอีในการปิดกั้นโซเชียล มีเดีย และอีกส่วนหนึ่งจะส่งให้ตำรวจในการขยายผล และดำเนินคดีต่อไป

ขณะที่ พล.ต.ท. อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการยกระดับการทำงานร่วมกัน ให้มีความกระชับ ฉับไว แม้ว่าที่ผ่านมาจะเป็นการทำงานกันมาอย่างยาวนานแล้วก็ตาม แต่หลังจากที่ได้ลงนามร่วมกันจะเป็นการคิกออฟ ทำความสะอาดบ้านเมืองให้ดีขึ้น โดยผู้ที่มีความผิดในการค้ายาเสพติดออนไลน์

โดยเบื้องต้น คือ ผู้ส่ง ต้องรับผิดชอบ เพราะถือเป็นผู้ครอบครอง ส่วนของที่ตกค้างอยู่ที่ขนส่ง ต้องพิสูจน์ทราบว่ารู้เห็นเป็นใจหรือไม่ถึงจะมีความผิด ซึ่งในการสืบสวนสอบสวน ตำรวจจะดูผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง แพลตฟอร์ม และ ไอเอสพี ด้วยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ขณะที่บริษัทขนส่งเอกชนใหญ่ๆต้องมีเครื่องตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันยังมีจุดอ่อนตรงนี้อยู่การส่งผ่านช่องทางขนส่งเอกชนนั้น

พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กล่าวเสริมว่า ต้องดูที่เจตนา หากปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามกฎหมายแล้ว ถือว่าไม่มีความผิด แต่หากหละหลวม ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายที่กำหนด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีอำนาจสั่งพัก หรือ เพิกถอนใบอนุญาต 30 วัน

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1167668


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210