10 เทรนด์เทคโนโลยี 2021 พลิกวิกฤตโรคระบาดให้เป็นโอกาส จากมุมมอง Alibaba DAMO Academy

Loading

ในฐานะประเทศมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีแห่งซีกโลกฝั่งตะวันออก สาธารณรัฐประชาชนจีน จึงน่าจะเป็นผู้มอง เทรนด์เทคโนโลยี 2021 ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ได้อย่างใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ยิ่งถ้าเป็น สถาบันอาลีบาบา ต๋าโม๋ (Alibaba DAMO Academy) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยระดับโลกของ อาลีบาบา กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ชของจีนด้วยแล้ว เทรนด์ที่มาจากการวิเคราะห์ของสถาบันนี้ก็น่าจะเชื่อถือได้ว่าจะได้เห็นกันภายในปี 2021 อย่างแน่นอน

จากรายงานข่าว เรื่อง “สถาบันอาลีบาบา ต๋าโม๋ เผยทิศทาง 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง” ในเว็บไซต์ Alibaba News ไทย ได้อ้างอิงการแถลงข้อมูลของ เจฟ จาง หัวหน้าสถาบันอาลีบาบา ต๋าโม๋ และประธานบริหารของ Alibaba Cloud Intelligence ที่ได้เกริ่นก่อนจะรายงานถึง 10 เทรนด์เทคโนโลยี 2021 ของทาง สถาบันอาลีบาบา ต๋าโม๋ ว่า

“เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการต่อสู้กับโรคระบาดซึ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และจะยังคงส่งผลต่อสังคมและอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องต่อไป ผ่านนวัตกรรมของโมเดลการผลิตและบริการอัจฉริยะต่างๆ เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและผู้เล่นในอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันการขยายขอบเขตในการค้นคว้าวิจัย ทำให้ธุรกิจต่างๆ เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น ซึ่งถ้าหากเราร่วมมือกัน เราจะสามารถพลิกฟื้นจากความท้าทายที่เกิดจากโรคระบาด และผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เดินหน้าต่อไปได้แน่นอน”

หนึ่ง : วัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 คือ GaN และ SiC จะขยายไปยังอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มขึ้น

วัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 ที่ใช้แกลเลียม ไนไตรด์ หรือ GaN และซิลิคอน คาร์ไบด์ หรือ SiC ซึ่งทนต่ออุณหภูมิความร้อนสูง แรงดันสูง ความถี่ในการใช้งานสูง ไฟฟ้าแรงดันสูง และกัมมันตภาพรังสีสูงได้ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาการนำวัสดุเหล่านี้มาใช้ยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เนื่องจากขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนและมีราคาแพง

แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการเติบโตด้านวัสดุและการผลิตอุปกรณ์ที่ก้าวกระโดด ได้ช่วยให้ค่าใช้จ่ายของวัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 มีราคาถูกลง การนำไปใช้ในด้านอื่นๆ จึงเป็นไปได้มากขึ้น เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ SiC เป็นหลัก ถูกนำไปใช้ในมอเตอร์อินเวอร์เตอร์ของรถยนต์ และการผลิตสายชาร์จไฟฟ้าเร็วที่ใช้ GaN เป็นพื้นฐาน ได้เริ่มเกิดขึ้นในตลาด

ดังนั้น ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เราจะได้เห็นการเริ่มนำวัสดุผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รุ่นที่ 3 ไปใช้ในด้านอื่นๆ เช่น สถานีกระจายสัญญาณ 5 จี รถยนต์ที่ใช้พลังงานแบบใหม่ และระบบส่งไฟฟ้าแรงดันสูงมาก

เครดิตรูปภาพ : Newscientist

สอง : เทคโนโลยีการประมวลผลแบบควอนตัม จะมาแรงในยุคหลัง Quantum Supremacy

ปี 2563 เป็นปีที่แรกหลังจากที่โลกประสบความสำเร็จในการนำควอนตัมคอมพิวเตอร์มาแก้โจทย์ปัญหาที่โดยปกติแล้วไม่สามารถแก้ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ทั่วไป หรือที่เรียกว่า quantum supremacy

ในปี 2563 นักลงทุนทั่วโลกต่างหลั่งไหลเข้ามาในตลาดการประมวลผลด้วยควอนตัม จนทำให้เทคโนโลยีและอีโคซิสเท็มที่เกี่ยวข้องเติบโตตามไปด้วย รวมถึงมีแพลตฟอร์มประมวลผลด้วยควอนตัมก้าวขึ้นมามีบทบาทเด่น

มาในปี 2564 เทรนด์นี้จะได้รับความสนใจมากขึ้นจากทุกส่วนในสังคม ด้วยเหตุนี้ การประมวลผลแบบควอนตัมจึงต้องทำผลงานให้ได้เทียบเท่ากับความคาดหวังที่ได้รับ ภารกิจในยุคหลัง quantum supremacy จึงต้องสอดคล้องกันทั่วทั้งอุตสาหกรรม นั่นคือการนำมาใช้แก้ไขปัญหาด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญโดยใช้นวัตกรรมที่ทำงานประสานกัน และการกรุยทางไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาดด้านควอนตัมรวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ซึ่งสองเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการประมวลผลควอนตัมตอนนี้

สาม : วัสดุคาร์บอนที่แปลกใหม่ นำสู่การพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยืดหยุ่น

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความยืดหยุ่น จะให้สมรรถนะคงทนแม้จะมีการบิดเบี้ยวทางเทคนิค เช่น การงอ ม้วน หรือยืดออก อุปกรณ์เหล่านี้เหมาะกับการใช้งานในอุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่ หรือ wearable device ผิวหนังอิเล็กทรอนิกส์ และจอภาพแบบยืดหยุ่น

ทั้งนี้ วัสดุยืดหยุ่นในอดีตมีการใช้จำกัดเนื่องจากไม่มีความยืดหยุ่นมากพอ หรือไม่สามารถทดแทนคุณสมบัติทางไฟฟ้าของวัสดุแข็งที่ทำจากซิลิคอนได้ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การคิดค้นวัสดุคาร์บอนแบบก้าวกระโดด ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยืดหยุ่นก้าวข้ามคุณสมบัติเดิมๆ ของตัวมันเองได้

เช่น ปัจจุบันท่อคาร์บอนขนาดนาโนได้ถูกนำมาใช้ในการผลิตวงจรรวมขนาดใหญ่ที่ให้สมรรถนะการทำงานดีกว่าวงจรซึ่งผลิตจากซิลิคอนในขนาดเดียวกัน นอกจากนี้การ์ฟีน (Garphene) ซึ่งเป็นวัสดุคาร์บอนที่มีศักยภาพสำหรับการใช้งานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยืดหยุ่น ก็สามารถผลิตแบบปริมาณมากได้แล้ว

สี่ : ปัญญาประดิษฐ์ เทรนด์เทคโนโลยี 2021 ผลักดันการวิจัยทางการแพทย์และการผลิตวัคซีน

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการตีความภาพถ่ายทางการแพทย์และจัดการข้อมูลสถิติทางการแพทย์ ส่วนการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนและการวิจัยทางคลินิกของยายังคงอยู่ในขั้นนำร่อง การเกิดขึ้นของอัลกอริธึ่มใหม่ในปัญญาประดิษฐ์และประสิทธิภาพการประมวลผลที่สูงขึ้น ทำให้เราสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาใช้วิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และวัคซีนได้ง่ายขึ้น ต่างจากเดิมที่ต้องใช้เวลามากและมีราคาสูง

ตัวอย่างของงานที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ เช่น การคัดกรองความเสี่ยงคนจำนวนมาก การสร้างโมเดลจำลองของโรค การระบุผู้ติดเชื้อ การคิดค้นสารต้นแบบ และการพัฒนายาต้นแบบ โดยการนำมาใช้งานแบบบูรณการจะลดงานที่ซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านการวิจัยและพัฒนา ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือประชาชนทั่วไปที่จะได้รับการดูแลรักษาทางการแพทย์และยาที่ดียิ่งขึ้นในเร็วๆ นี้

ห้า : เทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์ จะก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์

เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อการทำงานของสมองและคอมพิวเตอร์ มีความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างมนุษย์และจักรกล และการทำงานร่วมกันของมนุษย์และเครื่องจักร เทคโนโลยีนี้เป็นเสาหลักและแรงขับเคลื่อนในวิศวกรรมระบบประสาท มันจะวิเคราะห์การทำงานของสมองมนุษย์ในมุมที่ลึกขึ้น

การเชื่อมต่อระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์นี้สร้างเส้นทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างสมองและอุปกรณ์ภายนอก จะรับข้อมูล วิเคราะห์ และแปลสัญญาณสมอง เพื่อใช้ควบคุมเครื่องจักร โดยในอนาคตเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระหว่างสมองและคอมพิวเตอร์จะทำให้การควบคุมแขนกลหุ่นยนต์มีความแม่นยำมากขึ้น และจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่รู้สึกตัวแต่ไม่สามารถพูดหรือขยับได้ ให้สามารถเอาชนะข้อจำกัดทางร่างกายได้ในที่สุด

หก : การประมวลผลข้อมูล จะเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและทำได้เองโดยอัตโนมัติ

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของการประมวลผลแบบคลาวด์ และการเติบโตของปริมาณข้อมูลแบบทวีคูณ ทำให้เกิดความท้าทายที่น่าวิตกด้านระบบประมวล และค่าใช้จ่ายเพื่อเก็บข้อมูล รวมถึงการบริหารจัดการคลัสเตอร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบดั้งเดิม การบริหารจัดการและปรับแต่งด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและหลากหลาย

ดังนั้นการออพติไมซ์ระบบบริหารจัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการประมวลผลข้อมูลในอนาคต ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ด้วยตนเองจะถูกนำไปใช้ในหลายด้าน เช่น การแยกข้อมูลที่ใช้งานบ่อยและไม่บ่อยออกจากกัน การตรวจจับความผิดปกติ การสร้างโมเดลอัจฉริยะ การวางแผนทรัพยากร การปรับพารามีเตอร์ การทดสอบความทนทานของระบบ และการแนะนำดัชนี (index recommendation)

ด้วยวิธีที่กล่าวมานี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการคำนวณ ประมวลผล จัดเก็บ การดำเนินงานและบำรุงรักษา ระบบบริหารจัดการข้อมูลอัตโนมัติที่เรียนรู้ด้วยตนเองจะถูกพัฒนาให้เกิดขึ้นได้

เจ็ด : เทคโนโลยีที่รองรับคลาวด์จะเปลี่ยนโฉมหน้าระบบไอทียุคนี้

วงจรการพัฒนาสินค้าที่ยาวและประสิทธิภาพในการวิจัยและพัฒนาที่ต่ำของการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบดั้งเดิม เป็นปัญหาที่มีมาช้านาน แต่สถาปัตยกรรมที่ออกแบบมาให้รองรับคลาวด์ได้ตั้งแต่ต้น ทั้งการกระจายข้อมูล การปรับแต่งขนาดได้ และมีความยืดหยุ่น จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

สถาปัตยกรรมนี้ช่วยให้องค์กรบริหารจัดการและใช้อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ และทรัพยากรประมวลผลคลาวด์ที่มีหลายแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสถาปัตยกรรมที่รองรับคลาวด์ได้ตั้งแต่ต้น ทั้งระเบียบวิธี ชุดเครื่องมือ ขั้นตอน ผลิตภัณฑ์ และเทคนิค ทำให้ผู้พัฒนาไม่ต้องกังวลและใช้เวลาไปกับการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่เท่านั้น

เพราะในอนาคตทั้งชิพ แพลตฟอร์มการพัฒนา แอปพลิเคชัน และแม้แต่คอมพิวเตอร์ จะพร้อมรองรับคลาวด์ตั้งแต่ต้น ประโยชน์ของเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับคลาวด์ตั้งแต่ต้นนี้มีมากมาย เช่น เทคโนโลยีนี้ช่วยจัดระเบียบส่วนต่างๆ ที่ทำงานหลายชั้นในโครงสร้างพื้นฐาน อย่าง เครือข่าย เซิร์ฟเวอร์ และระบบปฏิบัติการ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการประมวลผล เพิ่มประสิทธิภาพของเทคโนโลยี ลดข้อจำกัดในการพัฒนาแอปพลิเคชันบนคลาวด์ และขยายขอบเขตการใช้งานแอปพลิเคชันได้ด้วย

แปด : เกษตรกรรมจะถูกขับเคลื่อนโดยข้อมูลอัจฉริยะ

การทำเกษตรแบบดั้งเดิมต้องประสบปัญหาจากการใช้พื้นที่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ และขาดการเชื่อมต่อระหว่างผู้ผลิตและผู้ขาย ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลรุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึง IoT ปัญญาประดิษฐ์ และการประมวลผลแบบคลาวด์ จึงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร นับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายให้ผู้บริโภค

อย่าง เซ็นเซอร์รุ่นใหม่ช่วยเก็บข้อมูลจากไร่นาได้แบบเรียลไทม์ การวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ช่วยผลักดันการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ทางเกษตรกรรม เกษตรกรสามารถตรวจดูพืชผล ปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างแม่นยำ และจัดสรรทรัพยากรในสภาพแวดล้อมได้ตามความต้องการ

นอกจากนี้เทคโนโลยี เช่น 5 จี IoT และบล็อกเชน ยังถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมและติดตามการขนส่งพืชผลทางการเกษตร และสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยและการขนส่ง เทคโนโลยีดิจิทัลรุ่นใหม่เหล่านี้ทำให้เกษตรกรรมจะไม่ต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศอีกต่อไป และจะถูกขับเคลื่อนด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะแทน

เก้า : อุตสาหกรรมอัจฉริยะ เป็นแนวคิดในการพัฒนาในวงกว้าง

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอัจฉริยะถูกนำมาใช้ในงานบางประเภทเท่านั้น เนื่องจากมีราคาสูงและซับซ้อน และข้อมูลจากฝั่งผู้ผลิตแยกส่วนกัน รวมทั้งอีโคซิสเท็มยังไม่พร้อม แต่หลังจากการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ความยืดหยุ่นอย่างมากของเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้องค์กรต่างหันมาสนใจ ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาและขยายวงอย่างรวดเร็ว และมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากมาย

ปัจจัยที่กล่าวมานี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมอัจฉริยะก้าวกระโดดจากการใช้งานแบบกระจุกตัว ไปเป็นการใช้งานในวงกว้างทั้งอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีระบบไอทีเต็มขั้นแล้ว อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าคุณภาพสูง เหล็ก ปูน และเคมี

สิบ : ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองในอนาคต

โครงการเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อทศวรรษก่อน และจุดประกายให้เกิดการพัฒนาสำคัญในการดูแลเมืองด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 เมืองอัจฉริยะหลายแห่งต้องประสบปัญหา

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent operations center) ถึงได้รับการยอมรับ และถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการใช้ทรัพยากรข้อมูล และสนับสนุนบริการสาธารณะและการดูแลเมืองทั่วโลกอย่างละเอียดแบบเรียลไทม์

นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ของ IoT หรือ Artificial Intelligence of Things (AIoT) ยังถูกพัฒนาจนเต็มขั้นและนำไปใช้แพร่หลาย ส่วนเทคโนโลยีการประมวลผลเชิงพื้นที่ก็ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะสามารถมองแต่ละเมืองเป็นระบบที่หลอมรวมกัน และนำเสนอความสามารถด้านบริการที่ครอบคลุมทั้งเมืองได้ ศูนย์ปฏิบัติอัจฉริยะจะกลายเป็นโครงการสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเมืองในอนาคต

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/19/10-technology-trends-2021-from-alibaba-damo-academy/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210