“สถาปัตยกรรมเขียว” หรือ “สถาปัตยกรรมที่อนุรักษ์พลังงาน” และเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม แบ่งออกได้ 3 ระดับ กล่าวคือ
1.อาคารเขียว (Green Building)
2.สถาปัตยกรรมเขียว (Green Architecture)
3.สถาปัตยกรรมยั่งยืน (Sustainable Architecture)
ทั้ง 3 รูปแบบ มีข้อแตกต่างในเรื่องขอบเขตความยังยืน โดย “สถาปัตยกรรมยั่งยืน” ให้ความสำคัญกับสมดุลเชิงนิเวศ (Ecological Balance) ขณะที่ “อาคารเขียว” และ “สถาปัตยกรรมเขียว” มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน
ปัจจุบัน “อาคารเขียว” ได้รับความนิยมมาก จากกระแสการประเมิน “อาคารเขียว” โดยองค์กรต่างๆ ในระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบ้านเรา
อย่างไรก็ตาม ทั้ง “อาคารเขียว” “สถาปัตยกรรมเขียว” และ “สถาปัตยกรรมยั่งยืน” ต่างก็เป็นสถาปัตยกรรมที่ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม จากการเลือกใช้วัสดุ ทรัพยากร และกระบวนการต่างๆ จากธรรมชาติ ผ่านการบริหารจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างสรรค์เพื่อสุขภาพที่ดี โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่าง มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งหมดอาศัยการออกแบบเชิงนิเวศ
ล่าสุด วงการก่อสร้างในสหรัฐอเมริกา ได้หวนกลับมาใช้ “บล็อกดินอัด” ในการสร้างบ้าน วัตถุประสงค์เพื่อต้านลม และมีคุณสมบัติทนความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทนไฟ
โดยทั่วไป เป็นที่ทราบกันดีในแวดวงก่อสร้าง ว่า “ดิน” มีบทบาทสําคัญมาตั้งแต่ยุคโบราณ เทคนิคการก่อสร้างด้วยดินนับจากอดีตถึงปัจจุบัน มี 10 ประเภท กล่าวคือ
1.ดินปั้น (Cob)
2.ดินอัด (Rammed Earth)
3.อิฐดินดิบ (Adobe)
4.ก้อนฟาง (Strawbale)
5.ดินหล่อผสมยิปซัม (Cast Earth)
6.ดินเทผสมซีเมนต์ (Poured Earth)
7.ดินในยางรถยนต์ (Earthship)
8.ดินฉาบบนโครงไม้ (Wattle and Daub)
9.กระสอบทราย (Earth Bag)
10.บล็อกดินอัด (Compressed Earth Block)
โดย “บล็อกดินอัด” (Compressed Earth Block) หรือที่บ้านเราเรียกว่า “บล็อกประสาน” (Interlocking Block) เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมในการสร้างที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคโบราณ “บล็อกดินอัด” มีคุณลักษณะยับยั้งเปลวไฟที่ลามมาจากป่า “บล็อกดินอัด” ทนต่อสภาวะแผ่นดินไหว ทนลมแรง ทนน้ำท่วม “บล็อกดินอัด” จึงเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “โดยตัวของมันเอง”
ในปัจจุบัน มีการนำ “บล็อกดินอัด” มาวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดและปรับประยุกต์ใช้ในการสร้างบ้านในสหรัฐอเมริกาอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ที่เมือง Superior รัฐ Colorado พบบ้านที่ถูกไฟป่า และพายุลม โหมกระหน่ำ ส่งผลให้บ้านเรือนกว่า 10,000 หลังซึ่งสร้างด้วยวัสดุทั่วไปที่สามารถติดไฟได้ ถูกเผาวอดจนมอดไหม้
Lisa Morey วิศวกรโยธา ผู้ก่อตั้งบริษัท Nova Terra กล่าวว่า บ้านที่สร้างด้วย “บล็อกดินอัด” จะไม่ติดไฟหากเกิดเหตุอัคคีภัย
Lisa Morey ระบุว่า เมื่อพายุใกล้เข้ามา ลูกค้าได้โทร. หา และบอกว่า รู้สึกหวาดกลัวเมื่อได้ยินเสียงลมแรง ลูกค้าต้องการบ้านที่สร้างจากวัสดุที่ทนลม และป้องกันไฟได้จริงๆ
“บล็อกดินอัด” ของ Nova Terra ทำจากโคลน ผสมทราย และดินเหนียว โดยเติมปูนขาวเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวผสานคล้ายกับกาว
จากนั้น ส่วนผสมต่างๆ จะถูกใส่ลงในแม่พิมพ์ กดอัดออกมาเป็นก้อน โดยอิฐดินดิบที่ถูกผลิตออกมาใหม่จะนำมาตากไว้ราวหนึ่งเดือน ก่อนเอาไปใช้จริง
ทีมงานของ Nova Terra ได้เข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างบ้านใกล้ๆ เมือง Longmont ด้วย “บล็อกดินอัด”
โดยช่างก่อ จะเว้นช่องว่างระหว่างแถวของก้อนบล็อก และเติมวัสดุที่เป็นฉนวนละเอียดลงไปในช่องที่เว้นเอาไว้ เพื่อเสริมให้เหล็กเส้นภายในกำแพงดินเหล่านั้นทนทานต่อแผ่นดินไหว
Lisa Morey ชี้ว่า กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะช่วยรักษาความแข็งแกร่งของวัสดุเอาไว้ เธอบอกว่า สิ่งปลูกสร้างนี้ จะคงอยู่ตลอดไปเป็นเวลา 100 หรืออาจจะ 1,000 ปีเลยทีเดียว
ลูกค้าของ Nova Terra ในเมือง Superior ที่เคยเผชิญกับลมกระโชกแรง และไฟป่าลามไหม้บ้าน บอกว่า บ้านที่สร้างจาก “บล็อกดินอัด” ทำเขาสบายใจขึ้น
“บ้านที่ก่อสร้างด้วยบล็อกดินอัดแบบนี้ ต่อให้ลมพัดแรงมาก บ้านก็จะไม่สั่นไหว คนที่อยู่ข้างในที่พักอาศัย จะไม่รู้สึกถึงลมแรง”
ทั้งนี้ Website ของ Nova Terra ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ “บล็อกดินอัด” ภายใต้ Brand EcoBlox ผลิตมาจากของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ได้แก่ ดินเหนียว และตะกอนต่างๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของสิ่งที่เหมืองจะนำไปกำจัด เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ “บล็อกดินอัด” เป็นหนึ่งในวิธีสร้างความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะ “บล็อกดินอัด” ไม่มีกรรมวิธีการเผา ซึ่งปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ทำให้กรรมวิธีผลิต “บล็อกดินอัด” ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการก่อสร้างอาคาร
เทคนิคการก่อสร้างโดยใช้ดินอีกวิธีหนึ่งคือ การอัดกระทุ้ง (Ramming) โดยมีการใช้ผนังดินอัด (Rammed earth) เพื่อเป็นผนังรับนํ้าหนักสําหรับอาคารที่ให้ทั้งความแข็งแรงทางโครงสร้าง และความสวยงาม เป็นลักษณะเฉพาะของวัสดุ “ดิน” นอกจากนี้ ยังสะท้อนความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่อยู่อย่างยั่งยืนร่วมกับธรรมชาติอีกด้วย
แหล่งข้อมูล