Community Isolation : ตัวเลือกการดูแลผู้ป่วยในช่วงการระบาดใหญ่

Loading

มาตรการ Home Isolation และ Community Isolation เป็นมาตรการที่จัดสถานที่ในบ้านหรือในชุมชนเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

จากวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันพุ่งสูงแตะหลักหมื่นคนต่อวัน ทำให้สถานการณ์การรองรับผู้ป่วยในโรงพยาบาลกำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ Community Isolation

ผู้ป่วยหลายรายไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอแนวทางดูแลผู้ป่วยโควิด – 19 ที่บ้าน  และในชุมชน มาใช้เป็นกลยุทธ์ดูแลรักษาผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดความเจ็บป่วยรุนแรง ลดการเสียชีวิต รวมไปถึงลดการติดเชื้อรายใหม่ในชุมชน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประชาชนได้รับการตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มาตรการสำคัญที่สุด คือการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแล โดยในกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียว หรือกลุ่มไม่มีอาการและอาการไม่รุนแรง สปสช. ได้ประสานคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล เพื่อจับคู่กับการดูแลในบ้านแบบ Home Isolation

ในส่วนของกลุ่มที่สภาพที่อยู่อาศัยไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน หรือ Community Isolation ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการเฝ้าระวังอาการและติดตาม

การประเมินที่พักเพื่อใช้เป็นสถานที่กักตัว และหากที่พักไม่เหมาะสมต้องไปดูแลในการดูแลในระบบชุมชน

สปสช. ย้ำว่า มาตรการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านและที่ชุมชน เป็นมาตรการเสริมในพื้นที่ที่เตียงผู้ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และโฮสพิเทล ไม่เพียงพอ แม้ว่าผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่บ้าน ก็ยังได้รับการดูแลจากแพทย์เสมือนอยู่ในโรงพยาบาล พร้อมสนับสนุนค่าอาหารและค่าบริหารจัดการให้โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยวันละ 1,000 บาท และค่าอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนไม่เกินคนละ 1,100 บาท

สำหรับผู้ป่วยที่จะใช้กับมาตรการ Home Isolation จะมีปัจจัยกำหนดความเหมาะสม 4 ประการคือ

1 ตัวผู้ป่วยต้องพร้อม อาการคือต้องไม่รุนแรงหรือที่เป็นผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการปอดอักเสบ ไม่มีอาการแทรกซ้อน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก

2 ต้องประเมินว่าที่พักพร้อมหรือไม่ เช่น ไม่ได้อยู่กันแออัดจนแยกกักตัวไม่ได้ ถ้าอยู่กัน 2-3 คนแล้วนอนรวมกัน ลักษณะนี้อาจทำ Home Isolation ไม่ได้ เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อ ต้องปรับเป็นการดูแลในระบบชุมชน หรือที่ชุมชนจัดให้แทน

3 ตัวผู้ป่วยก็ต้องมีความเข้าใจและให้ความร่วมมือในการกักตัว เพราะคำว่าอยู่ที่บ้าน คือให้อยู่บ้านจริงๆ ไม่ควรออกไปภายนอก จนอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ

4 โรงพยาบาลต้องพร้อมเข้าไปดูแลด้วยเพราะต้องจัดระบบให้เสมือนอยู่โรงพยาบาลเลย เช่น ต้องมีแพทย์ที่สามารถทำ Video call ติดตามอาการคนไข้ได้ทุกวัน โรงพยาบาลต้องมีอุปกรณ์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์วัดระดับออกซิเจนมอบให้ผู้ป่วย ที่สำคัญคือต้องมีอาหารผู้ป่วยครบ 3 มื้อ

โดยเปิดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามลิงก์นี้ https://crmsup.nhso.go.th

นพ.โกเมนทร์ ทิวทอง รองผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนระบบปฐมภูมิและคลินิกหมอครอบครัว สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขั้นตอนการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้านหรือที่ชุมชน จะยึดแนวทางของกรมการแพทย์ และ สปสช. เป็นหลัก คือผู้ป่วยจะได้รับหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว และปรอทวัดไข้แบบดิจิทัล สำหรับกักตัวที่บ้าน 14 วัน พร้อมอาหารวันละ 3 มื้อ โดยแพทย์จะวิดีโอคอลติดตามอาการผ่านโปรแกรม AMED Telehealth ซึ่งเป็นระบบบริการทางการแพทย์ทางไกลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

“ส่วนหน่วยบริการเองก็จะได้รับการสนับสนุนถังออกซิเจน ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร เครื่องวัดความดัน อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ถุงมืออนามัย หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และชุดตรวจหาเชื้อแบบ Antigen Test Kit เพื่อใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอีกทางหนึ่ง โดย สธ. ได้ตั้งศูนย์ประสานงาน CCR Team เพื่อช่วยประกอบทีมในพื้นที่รับผิดชอบ ประสานติดต่อสนับสนุนยา เวชภัณฑ์ การลงพื้นที่แก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับเคสบางส่วนแล้วส่งให้ 1330 เป็นหลัก” นพ.โกเมทร์ กล่าว

“ในส่วนของอาหารสำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รับการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สปสช.ได้สนับสนุนงบประมาณค่าอาหารและค่าบริหารจัดการให้แก่โรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลมีหลายทางเลือกในการจัดการ เช่น ให้โรงครัวประกอบอาหารแล้วใช้รถโรงพยาบาลหรือรถของเครือข่ายไปส่งให้ผู้ป่วย หรืออาจใช้บริการบริษัทส่งอาหารก็ได้” ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า

ทั้งนี้ สปสช. ได้ติดต่อทั้งบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ บริษัทที่ขนส่งอาหารอย่างเดียว หรือบริษัทที่ทั้งผลิตและขนส่งอาหาร รวมทั้งแพล็ตฟอร์มต่างๆ ที่โรงพยาบาลสามารถเป็นแอดมินแล้วมอบหมายบริษัทส่งอาหารไปส่งงานตามบ้านก็ได้ หรือจะให้ผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้านสั่งอาหารเองตามวงเงินที่กำหนดไว้ก็ได้ โดยจะรวบรวมข้อมูลการติดต่อแต่ละบริษัทแล้วหากหน่วยบริการไหนสนใจจัดการในรูปแบบไหนก็สามารถไปหารือกันในรายละเอียดอีกครั้ง

กรณีศึกษาของ Home Isolation และ Community Isolation

ชุมชนอิมโมคาลี รัฐฟลอริดา สหรับอเมริกา

อิมโมคาลี ซึ่งอยู่ห่างจากเนเปิลส์ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 40 กิโลเมตร ในรัฐฟลอริดา เป็นย่านของแรงงานข้ามชาติ และแรงงานระดับล่าง ซึ่งทนทุกข์กับปัญหาด้านสุขภาพ และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19 ได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจาก คนงานต้องอาศัยอยู่กันอย่างแออัด ทำให้เสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด – 19

นอกจากนี้ พวกเขายังเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงการบริการทางสาธารณสุข ทำให้พวกเขามีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตหลังติดเชื้อโควิด-19 กรณีศึกษาที่ทำขึ้นในสมัยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ รายงานว่า “ความพยายามในการรับมือโควิด-19 ของรัฐ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยในอิมโมคาลีได้อย่างเพียงพอ ทำให้เกิดช่องว่างของการตรวจโรค การติดตามผู้ติดเชื้อ และการสอบสวนโรค”

เพื่อช่วยอุดช่องว่างเหล่านี้ ผู้นำชุมชนของอิมโมคาลีอาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ทำงานด้านชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มพันธมิตรแรงงานอิมโมคาลี เครือข่ายการดูแลสุขภาพ พันธมิตรด้านสาธารณสุข และกรมอนามัยคอลเลียร์เคาน์ตี

เครือข่ายพันธมิตรที่ทำงานในชุมชนอิมโมคาลีแตกต่างจากโครงการอื่นๆ โดยเปิดรับสมัครและอบรมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพโดยเฉพาะ เพื่อเชื่อมโยงคนงานในฟาร์ม แรงงาน และประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ให้ได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย

เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมจะคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน และนำเข้าสู่สถานดูแลผู้ป่วยระดับชุมชน โดยเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมโครงการเป็นคนที่เข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของชุมชน จึงสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในชุมชนได้ง่าย และยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มแรงงานได้

พวกเขาเดินไปตามบ้าน จากครอบครัวสู่ครอบครัว โดยให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคลแก่สมาชิกในชุมชน ตั้งแต่การรักษาความปลอดภัย การรับส่งไปยังสถานที่ฉีดวัคซีน รวมไปถึงการจัดส่งอาหารการสนับสนุนผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน และผู้ติดเชื้อในการดูแลในระบบชุมชน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ยังดำเนินการช่วยในด้านกฎหมาย เช่น การคุ้มครองแรงงาน และความช่วยเหลือเรื่องเงินชดเชย เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในระหว่างการแยกตัว

โลเปซ เอร์นันเดซ อดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชน ที่เคยทำงานกัวเตมาลาก่อนย้ายมาพำนักที่สหรัฐฯ พร้อมกับภรรยาและลูกสามคนของเขา กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ผู้คนการขาดการศึกษา แต่ว่าผู้คนไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง พวกเขาไม่รู้ว่ามีบริการรับส่งที่คลินิก หรืออาหารสามารถส่งถึงบ้านได้

ในหลายกรณีที่เขาดูแลอยู่ โลเปซได้ช่วยเหลือครอบครัวที่มีสมาชิก 5 คน ซึ่งทั้งหมดติดโควิด-19 เขากล่าวว่า สมาชิกสามคนในบ้านเสียชีวิต และอีกหนึ่งคนนอนให้ออกซิเจนอยู่ใน้บาน ในแต่ละสัปดาห์ โลเปซจะนำอาหาร น้ำดื่ม และความช่วยเหลือทางการเงินมาให้พวกเขา ถึงแม้เขาจะเห็นผู้ป่วยเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตามากขึ้น  “มันไม่ได้ทำให้เข้าหดหู่เพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นประสบการณ์แก่ตัวผม และนั่นช่วยให้ผมทำงานนี้ต่อไปเพื่อคนที่นี่”

แหล่งข้อมูล

https://ngthai.com/science/37434/community-isolation/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210