เมืองพร้อมรับและปรับตัวกับภัยน้ำท่วม: บทเรียนจากบริสเบนถึงกรุงเทพฯ

Loading

ถึงเวลาที่จะชวนคิดชวนคุยเรื่องน้ำท่วมอย่างจริงจังกันหรือยัง? การจะรอให้ฝนมาแล้วค่อยคิดตระเตรียม คงไม่ทันการ ยิ่งต้องเผชิญกับภาวการณ์แปรปรวนของสภาพอากาศแบบนี้ บางเมืองตื่นตัวและเตรียมความพร้อมกันเป็นปี ๆ เลยทีเดียว เพราะหลายมาตรการต้องใช้เวลา

กรณีเมืองบริสเบนซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยน้ำท่วมอย่างจริงจัง เนื่องจากเมืองนี้ตั้งในพื้นที่ราบน้ำท่วม (floodplain) มีแม่น้ำบริสเบนที่ไหลผ่านเมือง มีลำคลองขนาดใหญ่มากจนถึงขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก และมีพื้นที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก คล้ายกับกรุงเทพฯ มาก แต่มีพื้นที่ใหญ่กว่าเกือบ 4 เท่า

ด้วยสภาพภูมิอากาศและที่ตั้งของเมืองบริสเบน ซึ่งมีปริมาณฝนตกในรอบปีสูง ทำให้ประสบกับอุทกภัยบ่อยครั้ง สร้างความเสียหายต่อพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำซึ่งล้วนเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ

เมื่อปี 2554 เมืองบริสเบนประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ ระดับน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 35 ปี จึงได้มีการสรุปบทเรียนร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ทำการประเมินความเสี่ยงต่ออุทกภัยที่จะเกิดในอนาคต จัดทำแผนที่ระบุพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมที่ชัดเจน ซึ่งนำไปสู่ยุทธศาสตร์และมาตรการรับมือน้ำท่วม ทำให้การเผชิญกับปริมาณฝนที่ตกมากกว่า 200 มิลลิเมตร ติดต่อกัน 3 วัน เมื่อปี 2565 ได้รับความเสียหายไม่มากนัก

๐ มาตรการลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วมของเมือง

การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและควบคุมการพัฒนาพื้นที่ (Land use planning and Development Control) ถือเป็นหัวใจสำคัญในการจัดการพื้นที่น้ำท่วมของเมืองบริสเบน ซึ่งให้ความสำคัญต่อการให้ข้อมูล การใช้มาตรการจูงใจประชาชนที่บ้านเรือนตั้งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมเป็นประจำให้สมัครใจที่จะย้ายออกจากพื้นที่ หรือเข้าร่วมโปรแกรมให้คำปรึกษาเพื่อปรับปรุงบ้านให้สามารถรับมือกับน้ำท่วมได้และได้รับผลกระทบหรือความเสียหายลดลง คู่มือแนะนำการเตรียมถุงยังชีพและอุปกรณ์จำเป็นเพื่อพร้อมเผชิญเหตุน้ำท่วม รวมถึงช่องทางการเข้าถึงบริการกระสอบทรายพร้อมวิดีทัศน์แนะนำการใช้งาน ซึ่งถือเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบเมืองที่สอดคล้องกับการจัดการน้ำ (Water sensitive urban design) เป็นแนวทางในการวางแผนและออกแบบสภาพแวดล้อมในเมืองที่สนับสนุนระบบนิเวศที่ดีผ่านการจัดการน้ำอย่างชาญฉลาดโดยใช้แนวปฏิบัติที่เหมาะสมกับปริมาณและรูปแบบน้ำฝน ซึ่งช่วยรักษา ปกป้อง และปรับปรุงสุขภาพของทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากการขยายตัวของเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลเวียนของน้ำตามธรรมชาติให้เหลือน้อยที่สุด

ส่วนมาตรการจัดการพื้นที่ระดับย่อย ด้วยการวางแผนพัฒนาและฟื้นฟูเมืองระดับย่าน (Neighborhood planning and urban renewal) โดยจัดทำเอกสารแนะนำการพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยรวบรวมข้อมูลจากผู้อยู่อาศัยและเจ้าของธุรกิจ นำมาพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในท้องถิ่น ควบคู่กับการจัดการการเติบโตของประชากร ซึ่งแผนดังกล่าวช่วยส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ปกป้องอัตลักษณ์ของพื้นที่ และจัดหาพื้นที่เปิดโล่ง รวมถึงกำหนดมาตรฐานสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่

มาตรการรองรับอื่น ๆ ก็ทำควบคู่กัน ได้แก่ การพัฒนาสุขภาพแม่น้ำ ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ การออกแบบร่องน้ำธรรมชาติ การฟื้นฟูลำห้วย การลดมลพิษจากเมืองโดยใช้ธรรมชาติ การปลูกต้นไม้ริมถนนอัจฉริยะในเขตเมืองที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งเป็นการปลูกต้นไม้ที่สอดคล้องกับปริมาณและรูปแบบน้ำฝน ล้วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการซับน้ำของพื้นที่ การระบายน้ำและลดความเสี่ยงภัยน้ำท่วม

การกำหนดกรอบงานเพื่อจัดการภาวะฉุกเฉินระหว่างเกิดอุทกภัย มีการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความตระหนัก ให้ข้อมูล แจ้งเตือน ให้คำปรึกษากับประชาชน ในรูปแบบและช่องทางที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งในรูปแบบของรายงานการประเมินอาคารและสิ่งก่อสร้างในการรับมือกับน้ำท่วม แผนที่แสดงระดับน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นที่เข้าถึงได้ทางระบบออนไลน์

๐ การหนุนเสริมจากรัฐและความร่วมมือระหว่างเมือง

หลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 รัฐควีนแลนด์ได้ตั้งหน่วยงาน Queensland Reconstruction Authority (QRA) เพื่อเป็นหน่วยประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงานของเมืองต่าง ๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้งจัดทำกรอบงานการจัดการความเสี่ยงอุทกภัยของรัฐควีนส์แลนด์ (The Queensland Flood Risk Management Framework) มีการออกกฎระเบียบ จัดทำข้อตกลงความร่วมมือระดับประเทศ สนับสนุนงบประมาณและแนวปฏิบัติสำหรับเมืองต่าง ๆ และให้มีการรายงานผลการดำเนินงานรายเดือน มีการติดตามผลและสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ โดยตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อประสานงานระหว่างเมือง ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และผลักดันให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าใจบทบาทและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนกรอบงานจัดการความเสี่ยงอุทกภัยของรัฐควีนแลนด์

การจัดการความเสี่ยงอุทกภัยภายใต้กรอบงานฯ จึงเกิดขึ้นในภาพใหญ่ระดับรัฐ ทั้งเมืองบริสเบนและเมืองอื่นต่างได้รับการสร้างศักยภาพให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รัฐควีนแลนด์ยังได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบ และสร้างความพร้อมรับมือภัยน้ำท่วมของอาคารและสิ่งก่อสร้าง และสนับสนุนงบประมาณ การส่งเสริมความตระหนักและสร้างความพร้อมรับมือภัยน้ำท่วมของชุมชน รวมถึงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านต่าง ๆ

ความสำเร็จของการขับเคลื่อนการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเมืองต่าง ๆ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการตั้งกองทุน “Queensland Betterment Fund” ซึ่งสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เมืองต่าง ๆ ส่งผลให้สามารถลดผลกระทบและรับมือกับภัยน้ำท่วม

เห็นได้ชัดว่าโครงการกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยมาก

๐ การเรียนรู้และโอกาสในการปรับใช้

จากการศึกษากรณีเมืองบริสเบน โดยการสนับสนุนจากสถานทูตออสเตรเลีย เมื่อต้นปี 2566 ทำให้ได้เรียนรู้มาตรการจัดการความเสี่ยงภัยน้ำท่วมของเมืองแห่งนี้ดังได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทยได้อย่างน้อย 3 เรื่อง

1. ต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ชัดเจนและเข้าถึงได้ง่าย ทั้งแผนการใช้ที่ดิน รูปแบบการก่อสร้าง ข้อมูลความเสี่ยง การผลักดันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความตระหนักและได้รับข้อมูลแนวปฏิบัติที่ควรดำเนินการ พร้อมมีทางเลือกและการจูงใจที่เหมาะสม

2. การมีกลไกสร้างความร่วมมือระหว่างเมือง ในรูปแบบกรอบงานฯ และคณะทำงาน แหล่งงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานสำหรับเมืองต่าง ๆ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและพัฒนาศักยภาพ และการกำหนดกฎระเบียบที่จำเป็น

3. การบังคับใช้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัดพร้อมกับการจูงใจ โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมการใช้ที่ดิน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับภัยน้ำท่วม การติดตามความก้าวหน้าอย่างจริงจัง

ที่สำคัญ ได้ใช้แนวคิด “More resilient by building back better” ซึ่งมีการกำหนดทางเลือกและแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับรูปแบบน้ำท่วมที่แตกต่างกัน ซึ่งได้ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น หลังจากปี 2554 ได้อย่างชัดเจน

แต่กระนั้นเมืองบริสเบนก็ยังต้องหาแนวทางการปรับปรุงวิธีปฏิบัติ กำหนดเกณฑ์ และมาตรฐานใหม่สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้อุทกภัยมีความรุนแรงมากขึ้น

การเรียนรู้จากกรณีเมืองบริสเบน ทำให้เห็นภาพความร่วมมือระหว่างเมืองที่ชัดเจน การใช้บทเรียนจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาผสมผสานกับความรู้ใหม่จากการศึกษาข้อมูล การระดมความคิดเห็น และองค์ความรู้จากภาคส่วนต่าง ๆ ในการกำหนดมาตรการลดผลกระทบและปรับตัวที่เหมาะสม โดยมีแผนและข้อตกลงที่ครอบคลุมการจัดการความเสี่ยงด้านต่าง ๆ รวมทั้ง การติดตามและสนับสนุนการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1069717


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210