ประเทศแรกของโลกที่พัฒนาเรือแทงเกอร์ หรือเรือขนส่งน้ำมันที่ใช้พลังงานไฟฟ้า คือ ประเทศจีน โดยมีการสร้างเรือที่มีชื่อว่า Guangzhou Tanker ใช้ขนถ่านหิน เริ่มให้บริการในปี 2017 โดยไฟฟ้าที่ใช้กับเครื่องยนต์มาจากแพกแบตเตอรีลิเธียมไอออนหนัก 26 ตัน ให้พลังไฟฟ้า 2,400 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง
รายงานข่าวใน China News ระบุว่า เรือ Guangzhou Tanker ใช้ขนส่งถ่านหินหนัก 2,000 ตันในเส้นทางแม่น้ำไข่มุกยาว 80 กิโลเมตร มีความเร็ว 12.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยที่ท่าขนถ่ายทั้งต้นทางกับปลายทางมีระบบสำหรับชาร์จไฟขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เวลาชาร์จไฟ 2 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับเวลาที่ใช้ในการขนถ่ายถ่านหินขึ้นลงเรือแต่ละครั้งพอดี
ในช่วงเวลาใกล้กันนั้นบริษัท CPC Corporation รัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ทางด้านปิโตรเลียมของไต้หวันได้สร้างเรือแทงเกอร์พลังไฟฟ้า สำหรับขนส่งน้ำมันเตา 2 ลำ ลอยลำอยู่ท่าเรือ Kaohsiung เพื่อให้บริการเติมน้ำมันให้กับเรือที่เทียบท่า โดยมีรายงานว่าเรือทั้ง 2 ลำ ซึ่งได้การสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าเรือพลังงานก๊าซธรรมชาติ 9 ลำของบริษัท 29%
เรือแทงเกอร์พลังไฟฟ้าของไต้หวัน มีชื่อว่า CPC No. 21 และ CPC No. 22 แต่ละลำมีความสามารถในบรรทุกน้ำมันเตาได้ 2,700 ตัน สร้างขึ้นที่สิงคโปร์ และทดสอบการใช้งานที่เวียตนามก่อนจะเริ่มให้บริการที่ท่าเรือ Kaohsiung
อีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาสร้างเรือแทงเกอร์พลังไฟฟ้าคือ ญี่ปุ่น แต่แทงเกอร์ของญี่ปุ่นพัฒนาล้ำหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง โดยรายงานข่าวจากเว็บ mol.co.jp เผยแพร่ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2020 ระบุว่า โครงการ e5 คือการรวมตัวกันของบริษัทใหญ่ 7 บริษัทซึ่งรวมถึงบริษัทมิตชูบิชิ คอร์ปอเรชัน และสายการเดินเรือ Mitsui O.S.K Lines และ Tokyo Electric Power เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งทางทะเลที่ปล่อยมลพิษทางอากาศเป็นศูนย์
เฟสแรกของโครงการ e5 เป็นการผลิตเรือแทงเกอร์พลังงานไฟฟ้า 2 ลำขับ โดยบริษัทอาซาฮีแทงเกอร์ มีกำหนดปล่อยลำแรกลงน้ำในเดือนมีนาคม 2022 เพื่อให้บริการบริเวณอ่าวโตเกียวโดยรายงานจากเว็บ IDTechEx ระบุว่าเรือแทงเกอร์พลังงานไฟฟ้าของญี่ปุ่นเป็นแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ มีความยาว 60 เมตร ติดตั้งแพกแบตเตอรี่ขนาด 4,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง
นอกจากผลิตเรือแทงเกอร์ไฟฟ้าแล้ว โครงการ e5 ยังรวมถึงการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงสำหรับเรือ ร่วมกับกลุ่มซอฟต์แบงก์ และ กลุ่ม One Web ซึ่งมีโครงการสร้างเครือข่ายดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากฟ้า
รายงานข่าวระบุว่า จะมีการติดตั้งเสารับสัญญาณบนเรือและสร้างสถานีภาคพื้นดินสำหรับการสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เพื่อทำให้เรือพลังงานไฟฟ้าสามารถวิ่งตามเส้นทางได้โดยอัตโนมัติ มีกำหนดทดลองประสิทธิภาพเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างเดือนมกราคม 2021 ถึง มีนาคม 2022
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/businessplusonline/photos/a.364233346979241/3838905142845360/