มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเซาธ์ไชน่าในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยได้ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการลดการผ่าตัดอันไม่จำเป็นในผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่หลังจากมีการผ่าตัดชิ้นเนื้อเฉพาะที่
ทีมวิจัยได้พัฒนาและตรวจสอบโมเดลการคาดการณ์ด้วยปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ซ้ำหลังจากทำการผ่าตัดเฉพาะที่ โดยใช้ภาพพยาธิวิทยาของเนื้อเยื่อมะเร็งลำไส้ตรงระยะที1 (T1) ที่ตัดออกด้วยวิธีส่องกล้องทางเดินอาหารหรือการผ่าตัดผ่านรูทวารหนัก
อนึ่ง มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก คิดเป็นราวร้อยละ 10 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด โดยผู้ป่วยระยะเริ่มต้นมักจะได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะที่ ทว่าผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงบางรายต้องได้รับการผ่าตัดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันการเกิดเนื้องอกซ้ำ ซึ่งเพิ่มภาระทางร่างกายและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฯ และโรงพยาบาลประชาชนมณฑลกว่างตงได้พัฒนาโมเดลเครือข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network) เพื่อประเมินความเสี่ยงของการกลับมาเกิดเนื้องอกซ้ำในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ตรงระยะที1 ซึ่งสามารถช่วยแพทย์และผู้ป่วยตัดสินใจวางแผนการรักษาหลังการผ่าตัดได้แม่นยำยิ่งขึ้น
โมเดลการคาดการณ์ด้วยปัญญาประดิษฐ์นี้ช่วยลดการผ่าตัดเพิ่มเติมที่ไม่จำเป็นลงราวร้อยละ 34.9 ในผู้ป่วยทั้งหมด เมื่อเทียบกับแนวทางการรักษาในปัจจุบันของสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้แพทย์ตัดสินใจได้ดีขึ้น รวมถึงสะท้อนประสิทธิภาพอันโดดเด่นและศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้ภาพจุลพยาธิวิทยาในการทำนายอาการของเนื้องอก
อนึ่ง ผลการศึกษานี้เผยแพร่ผ่านวารสารมะเร็งวิทยาศัลยกรรมของยุโรป (European Journal of Surgical Oncology)
แหล่งข้อมูล