อุตสาหกรรมการผลิตของจีนมีความก้าวหน้าอย่างน่าทึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล โดยวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ของโลกในแง่ของกำลังการผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและจำนวนโรงงานประภาคาร 62 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของโรงงานประภาคารที่มีทั้งหมด 153 แห่งในโลก เมื่อสินปีที่ผ่านมา บ่งบอกถึงความก้าวหน้าของการผลิตอัจฉริยะ
ทั้งนี้ โครงการ “โรงงานประภาคาร” (Lighthouse Factory) เป็นโครงการที่ริเริ่มจัดขึ้นโดยฟอรั่มเศรษฐกิจโลกดาวอส (World Economic Forum)หรือWEF และบริษัทแมคคินซีย์แอนด์ คอมปะนี (McKinsey & Company) บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่ของโลก เพื่อยกย่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เพื่อเพิ่มกำลังผลิต เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานให้มากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน “โรงงานประภาคาร” จึงถือเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดของโลก และเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมการผลิตที่ทุ่มเทกำลังมุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลและอัจฉริยะ ปัจจุบัน โรงงานประภาคารมีบทบาทสำคัญในสาขาต่างๆ ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการผลิตยา เป็นต้น
เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้วางแผนเพื่อสร้างความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมเกิดใหม่และการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดต่างๆ ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
จีนให้คำมั่นว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่ให้ก้าวหน้า ซึ่งรวมถึงสาขาที่ล้ำสมัย เช่น หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ เทคโนโลยีมือถือ 6G และการผลิตระดับอะตอม ซึ่งสามารถเสริมความแข็งแกร่งในตลาดเทคโนโลยีที่มีการแข่งขันและเติบโตสูง ขณะเดียวกันก็รักษาภาคส่วนดั้งเดิมไว้เป็นรากฐานอันมั่นคง
จิน จวงหลง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศกล่าวว่า “แม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมของจีนจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ก็ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเติบโตไปสู่ความแข็งแกร่งและก้าวข้ามอุปสรรคทั้งปวง และยังคงมีข้อบกพร่องอย่างเด่นชัดในเทคโนโลยีหลักที่สำคัญและความสามารถขั้นพื้นฐานทางอุตสาหกรรม”
อุตสาหกรรมระดับแนวหน้า เช่น ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์ (Brain-Computer Interface) ซึ่งเป็นการติดต่อสื่อสารโดยตรงระหว่างสมองกับอุปกรณ์ภายนอก, เมตาเวิร์ส, อินเทอร์เน็ตยุคใหม่, คอมพิวเตอร์ควอนตัม, การสำรวจทะเลลึก รวมถึงการบินและอวกาศ ล้วนแล้วแต่เป้าหมายที่จีนมุ่งเน้นเช่นกัน
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจแห่งชาติคือ การสร้างศูนย์นวัตกรรมการผลิตระดับชาติหลายแห่งสำหรับวิทยาการสมัยใหม่ รวมถึงการผลิตทางชีวภาพด้วย
ในปี 2566 มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของจีนสูงถึง 39.9 ล้านล้านหยวน (5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คิดเป็นสัดส่วน 31.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจีนทั้งหมด
กระทรวงฯ ระบุมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมการผลิตคิดเป็น 26.2% ของ GDP และประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่ารวมของโลก ขณะที่อุตสาหกรรมเกิดใหม่ “เชิงกลยุทธ์” ของจีนคิดเป็น 13% ของ GDP และมีศักยภาพในการเติบโตอย่างมาก จิน จวงหลง กล่าว
นอกจากนี้ จีนยังปรับปรุงเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมที่ได้เปรียบ เช่น ยานพาหนะพลังงานใหม่และเซลล์แสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันก็ขยายขนาดตลาดและปลูกฝังกลุ่มองค์กรชั้นนำในภาคส่วนต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เศรษฐกิจการบินระดับต่ำ (low-altitude economy) อย่างรถยนต์บินได้ และวัสดุใหม่ เพื่อกระตุ้นการยกระดับอุตสาหกรรม
สำหรับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม รวมถึงเหล็กและเหล็กกล้า รัฐมนตรีกล่าวว่ายังคงเป็นรากฐานของระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่และภาคการผลิตของจีน แต่จะต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงและยกระดับ แทนที่จะถูกมองว่าเป็น “อุตสาหกรรมระดับล่าง” ที่ต้องถูกกำจัดเยี่ยงวัชพืช
“สภาพแวดล้อมภายนอกในปัจจุบันมีความซับซ้อนและรุนแรง อุปสงค์ที่มีประสิทธิภาพภายในประเทศยังคงไม่เพียงพอ” จิน จวงหลง กล่าว
ด้าน ซิน กั๋วปิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่าการติดตั้งหุ่นยนต์อุตสาหกรรมของประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของทั้งหมดของโลก และขณะนี้มีโรงงานผลิตอัจฉริยะระดับชาติจำนวน 421 แห่ง
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จีนได้ประกาศยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศในสาขานี้ ขณะเดียวกันก็เปิดช่องทางให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงตลาดโทรคมนาคมใน 4 เมือง รวมถึงปักกิ่งด้วย
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 มีบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจโทรคมนาคมในจีนจำนวน 2,037 ราย ซิน กั๋วปิน กล่าว
“การปฏิรูปและการเปิดกว้างเป็นที่มาของความมีชีวิตชีวาสำหรับการพัฒนาของจีนร่วมสมัย” เขากล่าวเสริม
“ในขั้นตอนต่อไป เราจะศึกษาและดำเนินการตามเจตนารมณ์ของการประชุมใหญ่สมัยที่ 3 ของคณะกรรมการกลางที่กำลังจะมาถึง โดยจะดำเนินการปฏิรูปด้วยความมุ่งมั่นและมีชีวิตชีวา รวมถึงเพิ่มแรงผลักดันใหม่และขยายพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาต่อไป”
แหล่งข้อมูล