สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีนเดินหน้าเข้มข้น เมื่อสหรัฐฯ ห้าม Nvidia ส่งออกชิป H20 ให้จีน ขณะที่กูรู AI ไทยแม้จีนถูกสกัดแต่ยังหาทางรับมือได้ ล่าสุดเร่งพัฒนาชิปเอง-หันพึ่ง AI Cloud มากขึ้น
สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐ-จีน ดุเดือดขึ้นอีกระลอก เมื่อรัฐบาลสหรัฐ ประกาศมาตรการห้าม Nvidia ส่งออกชิป H20 ไปยังจีน ซึ่งเป็นชิปที่ถูกออกแบบลดสเปคมา เพื่อส่งขายจีนได้โดยไม่ผิดกฎหมายควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี
โดย ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร ซีอีโอของบริษัท ไอแอพพ์เทคโนโลยี จำกัด และหัวหน้าทีม OpenThaiGPT ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ของไทย กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า”กรณีดังกล่าวเป็นอีกหมากหนึ่งในสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐกับจีน โดยสหรัฐฯ เอาจริงเอาจังมากในการสกัดไม่ให้จีนเข้าถึงชิป AI ระดับสูง เพราะเกรงว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูกใช้เสริมแสนยานุภาพทางการทหารของจีนได้”
รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เหตุผลตรงๆ ว่า ชิป H20 เสี่ยงถูกนำไปใช้ในระบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของจีน ซึ่งอาจใช้ประโยชน์ทางการทหาร จึงสั่งควบคุมเข้มงวด โดยต้องขอใบอนุญาตส่งออก ซึ่งเท่ากับว่า “ห้ามส่ง” โดยปริยาย
“การลงดาบครั้งนี้ถือว่าแรง เพราะเดิมที Nvidia ออกแบบ H20 ให้ลดสเปคลงจากรุ่นท็อปเพื่อจะขายจีนได้ไม่ผิดกฎ ประสิทธิภาพอาจจะไม่เท่ารุ่นใหญ่ H100 ซึ่งสามารถใช้ในการ Inference ให้บริการ Model AI ได้อยู่ แต่ไม่สามารถเทรนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็โอเคกับของลดสเปคแบบนี้ แต่พอเปลี่ยนชุดนโยบายใหม่ แม้แต่ H20 ที่ว่าลดทอนสเปคมากแล้ว ก็ไม่รอดโดนแบน”
ผลกระทบของคำสั่งนี้ส่งผลให้ Nvidia ต้องจ่อขาดทุนจากสต็อกสินค้ากว่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสปัจจุบัน และหุ้นบริษัทตกทันทีราว 6%
เมื่อถามถึงผลกระทบต่อการพัฒนา AI ของจีน หรือไม่นั้นมองว่าจะมีผลกระทบระยะสั้น โดยการไม่มีชิปรุ่นท็อปอย่าง H20 หรือรุ่นใกล้เคียงใช้งาน จะทำให้นักพัฒนาในจีนเข้าถึงพลังประมวลผลระดับสูงได้ยากขึ้น การฝึกโมเดล AI ขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลานานขึ้นหรือใช้ชิปรุ่นรองจำนวนมากขึ้นแทน”
ดร.กอบกฤตย์ อธิบายว่า “เดิมถ้ามีชิปแรงๆ ไม่กี่ตัวก็เทรนโมเดลได้เร็ว แต่พอโดนจำกัด ก็อาจต้องเอาชิปหลายสิบหลายร้อยตัวมาประกอบร่างกันเพื่อให้ได้กำลังเท่าเดิม ซึ่งทั้งช้าลงและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทีมที่ปรึกษาของรัฐบาลสหรัฐฯ สมัยก่อนเคยประเมินไว้ว่าถ้าจำกัดชิปแบบนี้ ต้นทุนพัฒนาโมเดล AI ในจีนอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 3-6% เท่านั้น ฟังดูไม่เยอะมาก แต่ก็เป็นต้นทุนและเวลาเพิ่มเติมที่จีนต้องแบกรับ”
อย่างไรก็ตามมองว่าจีนจะหาทางรับมือได้ในระดับหนึ่ง โดยอาจหันไปใช้ชิปรุ่นที่ยังพอหาได้ (อย่างรุ่นก่อนหน้าที่ไม่โดนแบน) ให้เต็มประสิทธิภาพ หรือปรับขนาดของโมเดลให้ลดลงในช่วงนี้ อีกด้านหนึ่ง จีนอาจเร่งปรับปรุงซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อชดเชยฮาร์ดแวร์ที่ช้าลง เช่น ปรับวิธีการเทรนให้กินทรัพยากรน้อยลง
“มาตรการนี้ชะลอความก้าวหน้าของ AI จีนได้บางส่วน แต่ไม่ถึงกับหยุดยั้ง แค่ทำให้หนทางข้างหน้าของจีนต้องเดินแบบมีอุปสรรคและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น”
สำหรับแนวทางการพัฒนาของจีนหลังจากนี้มองว่าจีนจะเดินเกมควบคู่กันสองทาง คือ “เร่งทำชิปเอง” และ “ปรับกลยุทธ์การพัฒนา AI” ให้เหมาะกับทรัพยากรที่มีอยู่
“ตอนนี้บริษัทจีนหลายรายก็พยายามพัฒนาชิปประมวลผลด้าน AI ของตัวเองอยู่ อย่าง Huawei ที่มีชิปตระกูล Ascend หรืออย่าง Baidu ก็มีชิป Kunlun แม้ว่าประสิทธิภาพตอนนี้จะยังตามหลังของ Nvidia อยู่เยอะก็ตาม แต่การถูกสหรัฐฯ ปิดประตูใส่แบบนี้จะยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้จีนทุ่มทรัพยากรลงไปพัฒนาชิปในประเทศมากขึ้น” ดร.กอบกฤตย์กล่าว
ในขณะเดียวกัน จีนก็อาจหันมาใช้แนวทางการพัฒนาแบบ DeepSeek มากขึ้น ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้าน AI ของจีนที่ประสบความสำเร็จในการสร้างโมเดล AI ขั้นสูงโดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
“DeepSeek แสดงให้โลกเห็นว่า ‘ไม่ต้องมีซูเปอร์คอมเทพๆ ก็สร้างโมเดลล้ำๆ ได้’ บริษัทนี้เขาใช้ชิปรุ่นรอง แต่ปรับอัลกอริทึมดีๆ สามารถฝึกโมเดลระดับแนวหน้าได้ในงบแค่ประมาณ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกกว่าคู่แข่งรายใหญ่อย่าง OpenAI ที่ใช้เป็นร้อยล้านดอลลาร์เสียอีก”
แนวคิดนี้น่าสนใจมาก เพราะเน้นวิจัยหาวิธีทำ AI ให้ฉลาดขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง แทนที่จะทุ่มแต่ฮาร์ดแวร์อย่างเดียว จึงเห็นว่าช่วงหลังๆ บริษัทจีนรายใหญ่อย่าง Baidu, Alibaba, Tencent ก็เริ่มเปิดตัวโมเดลโอเพนซอร์สฟรี หรือทำโมเดลราคาถูกแข่งกัน เพราะโดนกระแส DeepSeek บีบให้ต้องปรับตัว ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อชดเชยข้อจำกัดด้านชิปนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า DeepSeek เคยใช้ชิป H20 ที่พอจะหาซื้อได้มาฝึกโมเดล R1 จนฮือฮาในช่วงต้นปี แสดงให้เห็นว่าถึงชิปไม่แรงที่สุดแต่ถ้าใช้ให้ถูกวิธีก็ไปรอดได้
“จีนคงเดินหน้าทั้งสองทาง ทางหนึ่งลงทุนปั้นชิปของตัวเองมากขึ้นแน่ๆ เพื่อความมั่นคงระยะยาว แต่อีกทางก็จะปรับยุทธศาสตร์ AI ให้ฉลาดขึ้น เหมือนน้ำไหลหาทางลง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าสูงสุด แบบที่ DeepSeek เป็นต้นแบบเอาไว้”
อีกทางเลือกหนึ่งที่มีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มนักพัฒนา AI ของจีนคือ การหันมาใช้ AI Cloud มากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากที่นักพัฒนาจีนจะใช้แนวทางดังกล่าว
“จริงๆ แนวทางนี้มันเกิดขึ้นแล้วและจะยิ่งสำคัญขึ้นไปอีกเมื่อการเข้าถึงชิปขั้นสูงเป็นเรื่องยาก ทางออกที่เวิร์กคือไปใช้บริการคลาวด์ของผู้ให้บริการรายใหญ่ที่เขามีทรัพยากรพร้อมอยู่แล้ว เปรียบเหมือนถ้าเราซื้อรถสปอร์ตเองไม่ได้ เราก็ไปเช่ารถหรือใช้ขนส่งสาธารณะเอา”
AI Cloud จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม นักพัฒนาหรือบริษัทเล็กๆ ในจีนอาจจะไม่ต้องซื้อ GPU แพงๆ เอง แต่เช่าใช้งานกำลังประมวลผลจากศูนย์ข้อมูลคลาวด์ที่มีอยู่แทน ซึ่งบริการพวกนี้ทางบริษัทยักษ์ใหญ่จีนได้เร่งลงทุนกันอย่างหนัก
“ล่าสุด Alibaba ก็ประกาศแผนทุ่มเงินกว่า 3.8 แสนล้านหยวน (ประมาณ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในสามปีข้างหน้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์และ AI ของตัวเองให้ล้ำหน้าไปอีก นี่ขนาดมากกว่าที่ Alibaba เคยลงด้านคลาวด์และ AI ทั้งหมดในสิบปีที่ผ่านมาซะอีก แปลว่าบริษัทใหญ่เขาเอาจริงกับคลาวด์มาก เพราะมองว่าอนาคตใครๆ ก็ต้องมาใช้ศูนย์ประมวลผลแบบรวมศูนย์เหล่านี้”
ที่จีนเองตอนนี้ก็มีผู้ให้บริการคลาวด์หลายเจ้าพร้อมแข่งกัน ไม่ว่าจะ Alibaba Cloud, Baidu AI Cloud, Huawei Cloud หรือรายอื่นๆ ซึ่งแต่ละเจ้าก็จะมี GPU หรือชิป AI จำนวนมากติดตั้งอยู่ในดาต้าเซ็นเตอร์ของตนเอง นักพัฒนาสามารถซื้อเวลาใช้งานบนระบบเหล่านี้แทนที่จะต้องซื้อเครื่องเอง ได้ความยืดหยุ่นและประหยัดต้นทุนไปเยอะ
“ผมคิดว่าหลังจากนี้เทรนด์ ‘Cloud First’ จะยิ่งชัดเจน เพราะต่อให้ซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เองได้ แต่พอชิปมันโดนห้ามขาย การจะขยายงานก็ทำได้จำกัด สู้ไปพึ่งคลาวด์ที่มีทรัพยากรพร้อมเหลือเฟือดีกว่า นอกจากนี้การใช้ AI Cloud ยังช่วยให้นักพัฒนากระจายงาน ฝึกโมเดล หรือให้บริการ AI แก่ผู้ใช้จำนวนมากได้ง่ายขึ้นด้วย
“นักพัฒนา AI จีนจะใช้คลาวด์มากขึ้นแน่นอน เป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลที่สุดในสถานการณ์ตอนนี้”
การห้ามส่งออกชิป H20 ไปยังจีนสะท้อนให้เห็นถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่สหรัฐฯ พยายามอย่างเต็มที่ในการสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีที่อาจนำไปใช้ทางการทหารได้ ในขณะที่จีนก็พยายามหาทางปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองเพื่อลดการพึ่งพาจากภายนอก สงครามเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนี้ดูเหมือนจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงในเร็ววันนี้
แหล่งข้อมูล