เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท EVLOMO ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา จับมือกับ บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลีเธียมที่มีขนาดกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 8 กิกะวัตต์ ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อป้อนให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV
บริษัท EVLOMO เป็นบริษัทจากเมืองไมแอมี รัฐฟลอริดา เป็นบริษัทชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา เน้นการพัฒนาและผลักดันการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และการกักเก็บพลังงานแบตเตอรี่
“การร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและอาเซียน” Nicole Wu ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท EVLOMO กล่าว
ขณะที่ บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมครบวงจร โดยมีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคระดับสากล ครอบคลุมธุรกิจด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา การบำบัดน้ำเสีย และการพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้การสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ในการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ
“เราหวังว่าการร่วมมือกับ EVLOMO จะทำให้ไทยมีขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลก” ดิเรก วินิชบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าว
สำหรับ EVLOMO ก่อนหน้าการประกาศสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม ได้ประกาศแผนสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศไทย ผ่านบริษัทลูกในไทยอย่าง EVLOMO Technologies ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะให้กับรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นที่มีในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน EVLOMO ยังร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ในเครือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเครื่องชาร์จไฟความเร็วสูงติดตั้งตามสถานีบริการน้ำมันของ PTTOR ทั่วพื้นที่อีอีซีอีกด้วย
ทุ่ม 3.3 หมื่นล้าน
การประกาศจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่ลีเธียมที่มีขนาดกำลังการผลิตสูงถึง 8 กิกะวัตต์ หรือ 8,000 เมกะวัตต์ของ EVLOMO และ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ สร้างแรงหนุนให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเจิดจ้าขึ้นอีกหลายเท่าตัว รูปแบบความร่วมมือของสองบริษัทเป็นการทำธุรกิจกิจร่วมค้า ซึ่งมีมูลค่าการร่วมลงทุนกว่า 1.06 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 55% และบริษัท EVLOMO ถือหุ้น 45%
โดยระยะเริ่มต้นของโครงการ จะจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ที่มีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ หรือ 1,000 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวม 143 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแผนจะจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 18-24 เดือน คาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งแบตเตอรี่ที่ผลิตจะใช้กับรถไฟฟ้า 4 ล้อ รถบัส ยานพาหนะหนัก รถ 2 ล้อ และใช้สำหรับการกักเก็บพลังงานในประเทศไทยและตลาดต่างประเทศ
ว่ากันว่า การลงทุนครั้งนี้จะสร้างงานคุณภาพ รายได้สูง ไม่น้อยกว่า 3,000 ตำแหน่ง โดยจะเน้นการดึงเทคโนโลยีขั้นสูงเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมทั้งยกระดับพื้นที่อำเภอหนองใหญ่สู่การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สามารถนำความรู้ด้านการพัฒนาแบตเตอรี่มาต่อยอดและสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้าในประเทศไทย ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต รองรับการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผลักดันให้อำเภอหนองใหญ่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยและอาเซียน
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
ล้ำหน้าเหนือคู่แข่ง
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงการร่วมทุนดังกล่าวว่า “การลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรม EV ของประเทศไทย โดยหวังว่าจะสามารถผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางในการรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่นำสมัยที่สุดของอาเซียนและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้”
ก้าวสู่ “ฮับ” อาเซียน
การลงทุนของ EVLOMO และ บริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ เมื่อรวมกับอีกหลายค่ายที่ประกาศเดินหน้าการลงทุน อาทิ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท., บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เป็นต้น จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางรองรับเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่นำสมัยที่สุดของอาเซียนและภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ของไทยให้มีขีดความสามารถการแข่งขันระดับโลก
เอาแค่การนำขนาดการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมของ EVLOMO ไปรวมกับโครงการของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่อีอีซีเช่นเดียวกัน (อ่านรายละเอียด :เกิดแล้วในเมืองไทย! “ลิเธียมไอออน” แบตเตอรี่สะอาด พิทักษ์สิ่งแวดล้อม) และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จะส่งผลให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมรวม 10 กิกะวัตต์ หรือสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ มากที่สุดในอาเซียน รองรับการเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รวมทั้งรถไฟไฟฟ้าและอากาศยานไฟฟ้าในอนาคต
เท่ากับว่า “อีอีซี” จะกลายเป็น “ฮับ” แบตเตอรี่ลิเธียมแห่งอาเซียน!
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/04/27/eec-lithium-battery-hub-of-asean/