บทบาทของ CCTV ในสมาร์ทซิตี้

Loading

ความปลอดภัยในชุมชนคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ จากการศึกษารัฐบาลของหลายๆ เมือง พบว่าความปลอดภัยคือเหตุผลอันดับแรกสำหรับพวกเขาในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่น IoT โดยมีกล้องวงจรปิดแบบเครือข่ายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ชิ้นสำคัญของการลงทุนที่ช่วยให้หลายๆ เมืองสามารถพัฒนาความสามารถจากการรับรู้สถานการณ์อย่างง่ายๆ ไปสู่การคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ก่อนเกิดขึ้นจริง และวางแผนป้องกันล่วงหน้าได้

กล้องวงจรปิดแบบเครือข่ายสามารถแสดงข้อมูลได้ในแบบเรียลไทม์ ด้วยภาพความละเอียดที่คมชัด ทั้งยังสามารถนำเสนอออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึกโดยใช้แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์ภาพวิดีโอ นอกจากนี้ จากสถานการณ์ด้านความปลอดภัยหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนว่ากล้องวงจรปิดเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้คลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างยอดเยี่ยมและยังมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน

สำหรับเมืองอัจฉริยะ การลงทุนในระบบวิดีโอเครือข่ายและการแชร์ข้อมูลกันระหว่างหน่วยงาน เช่น กรมการขนส่งและจราจร กรมสิ่งแวดล้อม ตำรวจ และหน่วยบริการฉุกเฉิน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และยังจะเป็นต้นแบบสู่แผนงาน IoT อื่นๆ ที่จะเป็นการปรับปรุงการบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของเมือง ตลอดจนการบริหารจัดการจราจรและระบบขนส่งสาธารณะ การติดตามสภาวะสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบไฟถนนอัจฉริยะ เป็นต้น

ตัวอย่างแอพพลิเคชั่นสำหรับเมืองอัจฉริยะที่ต่อยอดมาจากการติดตั้งกล้องวงจรปิดระบบเครือข่าย ซึ่งพัฒนาโดยแอ็กซิส ที่สามารถสร้างคุณประโยชน์ได้มากกว่าความปลอดภัย ได้แก่ ระบบตรวจสอบความคล่องตัวของการจราจรที่สามารถปรับเปลี่ยนสัญญาณไฟจราจรได้ในทันทีเพื่อลดความหนาแน่นของการจราจรทางถนน และระบบชี้แนะทางดิจิทัล (digital guidance system) ซึ่งเมือง Utrecht ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้นำกล้องวงจรปิดมาบูรณาการเพื่อช่วยเหลือนักปั่นในการค้นหาตำแหน่งว่างสำหรับจอดจักรยาน เป็นต้น

สมาร์ทซิตี้และการตกเป็นเป้าโจมตีทางไซเบอร์

ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีไม่เพียงแต่ช่วยให้เมืองสามารถพัฒนาสู่สมาร์ทซิตี้ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงและความท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์ทางด้านเทคโนโลยี IDC ระบุว่าระบบไอทีของเมืองต่างๆ กำลังตกเป็นเป้าของการโจมตีทางไซเบอร์ และภายในปี 2560 นี้ จะมีเมืองขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่อย่างน้อยหนึ่งเมืองได้รับผลกระทบรุนแรงจากการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งอาจส่งผลให้การบริหารจัดการเมืองขาดประสิทธิภาพและความคล่องตัวตลอดทั้งวัน

“ความปลอดภัยในชุมชน
คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ”

ความเป็นเมืองอัจฉริยะทำให้เส้นกั้นระหว่างความเป็นส่วนตัวและสาธารณะจางหายไป นั่นจึงทำให้เมืองตกเป็นเป้าของการโจมตีได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการปรับบริการต่างๆ ของเมืองสู่ระบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งเซ็นเซอร์ IoT สำหรับไฟจราจร ท่อประปา ท่อน้ำเสีย ท่อส่งพลังงาน เสาไฟ หรือแม้แต่การติดตั้งอุปกรณ์ GPS ในรถประจำทาง รถตำรวจ โดรน หรือแม้แต่รถยนต์ส่วนบุคคล ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อเมืองในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การบริการประชาชน และการวางแผนการกระจายตัวของเมือง แต่เมื่อแพลทฟอร์ม ระบบสารสนเทศ และเซนเซอร์ต่างๆ เหล่านี้ถูกผูกรวมไว้ด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ความท้าทายใหม่ที่ตามมาคือ ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีทางไซเบอร์

กล้องวงจรปิดระบบเครือข่ายอาจถูกโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่ายถ้าไม่ได้รับการป้องกันอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจได้ว่ากล้องวงจรปิดที่ใช้มีความปลอดภัย (security) และต้านทานต่อการบุกรุกและโจมตีจากภายนอก (resilience) เจ้าหน้าที่ของเมืองต้องมั่นใจได้ว่า หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดตั้งหรือใช้งานกล้องวงจรปิดภายในเมือง หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งข้อมูลต่างๆ จากอุปกรณ์กล้องวงจรปิดของตนให้กับศูนย์กลางการควบคุมของเมือง ปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานด้านความปลอดภัยเดียวกัน

ในทำนองเดียวกัน การออกแบบ ติดตั้ง และใช้งานโซลูชั่นกล้องวิดีโอระบบเครือข่าย ควรจะเลือกใช้โซลูชั่นในแบบเดียวกันทั้งระบบ (end-to-end) ตั้งแต่อุปกรณ์กล้องวงจรปิด ระบบบริหารจัดการภาพจากกล้อง ตลอดจนระบบวิเคราะห์ภาพจากวิดีโอ เพื่อลดช่องโหว่ด้านความปลอดภัย พร้อมกันนั้นควรทดลองตรวจสอบการเจาะระบบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินช่องโหว่และจุดอ่อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการขยายตัวของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ ภายในเมือง

สำหรับผู้มีส่วนรับผิดชอบในการติดตั้งอุปกรณ์ IoT ของเมืองควรทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ที่ให้บริการด้านโซลูชั่นกล้องวงจรปิดระบบเครือข่าย เพื่อทำความเข้าใจแนวทางในการเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับอุปกรณ์ IoT ที่ใช้งานอยู่ เช่น การตรวจสอบและอัพเดทเฟิร์มแวร์สม่ำเสมอ การกำหนดจำนวนผู้เข้าถึงระบบเทคโนโลยีและข้อมูลของอุปกรณ์ การปิดฟังก์ชั่นการใช้งานบางบริการที่ไม่จำเป็น การตั้งค่ากรอง IP Address และการตั้งค่าตรวจสอบ SNMP เป็นต้น และแม้ว่าเราจะมั่นใจในระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์เพียงใด เหตุการณ์ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ แผนกลยุทธ์เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงวิกฤตจึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เมืองอัจฉริยะหลายแห่งไม่ควรมองข้าม

บทความโดย : คุณแมกนัส เซเดอร์เฟลด์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ บริษัท แอ็กซิส คอมมูนิเคชั่นส์


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210