กรณีศึกษา Flylab สตาร์ตอัปจากเชียงใหม่ ผลิตอาหารสัตว์ด้วยแมลง BSFL

Loading

รู้หรือไม่ว่าปัจจุบัน วัตถุดิบที่นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพด มีราคาสูงถึง 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบุเชล ซึ่งนับเป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี

จากราคาอาหารสัตว์ที่แพงขึ้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ และอาหารของเราในแต่ละมื้อมีราคาสูงขึ้นด้วย อย่างประเทศไทยในปีนี้ ก็มีปัญหาเรื่องราคาหมูแพง

นอกจากนั้น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ยังเป็นอีกธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อธรรมชาติ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการทำลายป่าไม้แล้ว ยังมีการผลิตของเสียเป็นจำนวนมากอีกด้วย

จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานั้น จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “Flylab” สตาร์ตอัปในเชียงใหม่ ที่มีแนวคิดจะแปลงของเสียทางการเกษตร มาเป็นอาหารสำหรับพืชและสัตว์ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา แถมยังลดผลกระทบต่อธรรมชาติ

แล้ว Flylab มีไอเดียอย่างไร ? ก่อนอื่น มารู้จักกับคุณนิโค เบอรี ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Flylab กันก่อน

ด้วยความที่มีประสบการณ์การทำงาน ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแมลงมาราว 8 ปี ทำให้คุณนิโค เห็นว่า “แมลง” สามารถนำมาเป็นทางเลือกสำหรับอาหารสัตว์เพื่อทดแทนอาหารสัตว์แบบดั้งเดิม เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลือง ที่เป็นผลผลิตจากการทำลายป่าซึ่งเป็นแนวทางการทำธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนอีกต่อไปแล้ว

เขาจึงได้ก่อตั้ง Flylab เพื่อทำธุรกิจผลิตอาหารสัตว์จากแมลง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปีที่ผ่านมา โดยมีคอนเซปต์ คือ นำความสามารถในการแปลงสภาพทางชีวภาพของแมลง ในที่นี้ เรียกกันว่า “Black Soldier Fly ย่อได้เป็น BSF หรือในภาษาไทยก็คือ หนอนแมลงวันลาย เพื่อนำมาแปลงขยะหรือของเสียทางการเกษตร ให้กลายมาเป็นอาหารสำหรับพืชและสัตว์

ถึงตรงนี้ หลายคนก็น่าจะสงสัยว่าแล้วทำไมต้องเป็น แมลง

จริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกว่าแมลง นับเป็นอาหารสำหรับพืชและสัตว์ตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เพิ่มเติม ก็คือ หนอนแมลงวันลาย ยังมีคุณสมบัติในการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้แทบทุกรูปแบบ แถมยังสามารถหาได้ง่าย และมีอยู่ทุกที่ทั่วทุกมุมโลก

อธิบายกระบวนการทางชีวภาพของ Flylab ให้เห็นภาพมากขึ้น จะเริ่มตั้งแต่

– เพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ด้วยผลิตภัณฑ์เหลือทิ้งทางการเกษตร

– เก็บเกี่ยวและแยกออกจากมูลฝอยเมื่อพร้อม สำหรับการแปรรูป

หลังจากนั้น ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการ เช่น การดูดของเหลว เพื่อแยกโปรตีนออกจากไขมัน และปิดท้ายด้วยการฆ่าเชื้อ โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง

สำหรับผลิตภัณฑ์ของ Flylab แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

– FLMeal เป็นผงโปรตีนแห้ง สำหรับสัตว์

– FLOil เป็นไขมัน ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง

นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์หลักนี้แล้ว บริษัทก็ยังมี FLFrass เรียกได้ว่าเป็น By-Products หรือผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ ซึ่งเป็นมูลฝอยของแมลง และสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยสำหรับพืชได้อีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว Flylab ยังกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา FLDried หรือก็คือ ตัวหนอนอบแห้ง เพื่อนำมาจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์อีกด้วย

โดยพื้นที่สำหรับการเพาะเลี้ยง จะเป็นในรูปแบบของโรงงาน ที่มีพื้นที่รองรับเศษอาหารทางการเกษตร ในห้องควบคุมอุณหภูมิ และมีการใช้เทคนิคการเกษตรแบบแนวตั้ง ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถตั้งโรงงานที่ไหนก็ได้ เพราะสามารถใช้ของเสียทางเกษตรกรรมที่มาจากท้องถิ่น

จุดนี้ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ให้สร้างงาน สร้างรายได้ ในแหล่งชุมชนได้เช่นกัน แถมยังใช้พื้นที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับวัตถุดิบอาหารสัตว์แบบดั้งเดิม ที่ต้องอาศัยพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก

และถ้าถามว่าทำไมต้องก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย ?

เหตุผลหลัก ๆ คือ แมลงส่วนใหญ่ชื่นชอบและเติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน รวมถึงประเทศไทย ยังเป็นแหล่งส่งออกอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่แล้ว

ทั้งนี้ คุณนิโค คาดการณ์ว่าตลาดอาหารสัตว์ในเอเชีย จะมีมูลค่าราว 2,700,000 ล้านบาท

โดยที่ Flylab มีเป้าหมายที่จะเข้าไปกินส่วนแบ่ง 1% ของมูลค่าทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 27,000 ล้านบาท

ถึงตรงนี้ เราก็สามารถสรุปได้ว่าไอเดียธุรกิจของ Flylab เป็นอีกหนึ่งแนวคิดสตาร์ตอัป ที่ตั้งต้นมาจากปัญหาพื้นฐานที่โลกเรากำลังเผชิญ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักธุรกิจหน้าใหม่ พร้อมกับทีมงาน ที่มีทั้งความยืดหยุ่น และความรวดเร็วในการทำงาน โดยกลุ่มคนเหล่านี้ มีเป้าหมายร่วมกัน คือต้องการสร้างธุรกิจ ที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาในระบบอาหารให้มีความยั่งยืนมากขึ้น และต้องช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด

ดั่งสโลแกนของบริษัทที่ว่า “Improving our food system, one fly at a time.”

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/MarketThinkTH/posts/5006049159487435/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210