โอกาสและความเป็นไปได้ของ “ฟาร์มคาร์บอน” ความหวังในการบรรเทาผลกระทบและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยภาคการเกษตร เพื่อช่วยดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอื่นๆ
ฟาร์มคาร์บอน (Carbon Farming) เป็นหนึ่งในแนวทางของภาคเกษตรในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปรับแนวทางปฏิบัติในการทำเกษตรเพื่อเพิ่มการสะสมของคาร์บอนในดินให้ได้นานขึ้น อาทิ การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชยืนต้นผสมผสาน ระบบวนเกษตร การทำไร่แบบไม่ไถพรวน การใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่มีอินทรีย์คาร์บอนสูง การอนุรักษ์และฟื้นฟูทุ่งหญ้าธรรมชาติ ฯลฯ
แนวทางการทำฟาร์มคาร์บอนเป็นการปฏิบัติที่เน้นการควบคุมกระบวนการทางธรรมชาติของพืชและดิน เพื่อแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ ด้วยแนวปฏิบัติด้านการจัดการที่ดินเชิงกลยุทธ์ ซึ่งสามารถดักจับและกักเก็บคาร์บอนจำนวนมากได้ ในขณะเดียวกันก็เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจได้ สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการจัดการทั้งที่ดินและปศุสัตว์ รวมถึงแหล่งรวมคาร์บอนทั้งหมดในดิน วัสดุ และพืชพรรณ และฟลักซ์ของคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ การหลีกเลี่ยงการปล่อยมลพิษ และการลดการปล่อยก๊าซ โดยระบบการทำฟาร์มทั้งหมดสามารถบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ส่วนระดับของศักยภาพการลดผลกระทบจะแตกต่างกันไปตามประเภทฟาร์มและภูมิภาคต่างๆ
หนึ่งในแง่มุมที่น่าสนใจที่สุดของการทำฟาร์มคาร์บอนคือ ความหลากหลาย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นวิธีการได้เพื่อให้เหมาะกับบริบททางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ เศรษฐกิจและสังคม
ฟาร์มคาร์บอนมีประโยชน์ต่อการเพิ่มความสามารถในการดักจับและสะสมคาร์บอนของพื้นที่เกษตร พื้นฟูสุขภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมถึงทำให้โครงสร้างดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ การอุ้มน้ำ และสารอาหารในดินดีขึ้น ฟาร์มคาร์บอนจึงเป็นมาตรการที่จะช่วยดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอื่นๆ และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผ่านกลไกการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต (ลักษณะเดียวกันกับโครงการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรป หรือ EU ETS)
ทว่า นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางส่วนกลับไม่เห็นด้วยที่จะใช้ภาคเกษตรเป็นแหล่งดูดซับและชดเชยการปล่อยก๊าชเรือนกระจกจากภาคอื่นๆ และเป็นส่วนหนึ่งในตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต โดยเหตุผลบางประการ อาทิ
1) เป้าหมายสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้อาจไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากโครงการฟาร์มคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจำหน่ายคาร์บอนเครดิตให้แก่ภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง อาจทำให้ภาคธุรกิจขาดความพยายามในการลดก๊าซเรือนกระจก และใช้วิธีซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชย ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมไม่ลดลง อีกทั้งการจัดตั้งตลาดคาร์บอนภาคเกษตรจะต้องใช้เงินในการลงทุนสูง เนื่องจากจะต้องมีโครงสร้างในการติดตาม รายงาน ตรวจสอบวิธีการ และรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นคาร์บอนเครดิต โดยฟาร์มที่สามารถทำการลงทุนอย่างคุ้มทุนได้ส่วนใหญ่จะเป็นฟาร์มขนาดใหญ่มาก ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยจะไม่เห็นความสำคัญในการเข้าร่วมโครงการ
2) การสะสมคาร์บอนในดินมีความไม่แน่นอนสูงและวัดค่ายาก
3) ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร เกษตรกรอาจต้องพึ่งพาธุรกิจการเกษตรข้ามชาติเพิ่มขึ้น เช่น ซื้อเมล็ดพันธุ์พืช GM ปุ๋ยเคมี สารปราบศัตรูพืช หรืออาหารสัตว์ชนิดพิเศษที่มีการพัฒนาเพื่อช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง และเพิ่มการกักก็บคาร์บอนในดิน อีกทั้งความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน อาจนำไปสู่ปัญหาราคาที่ดินแพงและการแก่งแย่งที่ดิน ดังนั้น ฟาร์มคาร์บอนจึงไม่ควรถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าชเรือนกระจกของภาคอื่นๆ แต่ควรเป็นโครงการที่มุ่งสนับสนุนให้เกษตรกรเปลี่ยนไปสู่แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน
ตัวอย่างโครงการในสหภาพยุโรปที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตร และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน เช่น
1. โครงการ CAP’2ER ของฝรั่งเศส โครงการให้ข้อมูลและสร้างความรับรู้ที่นำเสนอเครื่องมือวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ใช้ง่าย และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับประชาชน นักศึกษา เกษตรกร หรือที่ปรึกษา เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วยในการตัดสินใจ นำไปสู่ทางเลือกหรือแนวทางผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ และ Cool Farm Too ของสหราชอาณาจักร ที่เป็นเครื่องมือคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการกักเก็บคาร์บอนในดินของฟาร์ม รวมทั้งชี้จุดเสี่ยง (hotspots) และเสนอแนะแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมกับฟาร์มที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อโลกร้อน
2. มาตรการเกษตร-สิ่งแวดล้อม-สภาพภูมิอากาศ โดยการจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านนโยบายเกษตรร่วม (CAP) เพื่อชดเชยตันทุนที่สูงขึ้น/รายได้ที่ลดลงให้แก่เกษตรกรในการเปลี่ยนไปสู่แนวทางการจัดการฟาร์มที่ดีต่อเกษตร-สิ่งแวดล้อม-สภาพภูมิอากาศ อาทิ เกษตรอินทรีย์ การปลูกพืชที่หลากหลาย พืชหมุนเวียน และการจัดการดิน เป็นต้น
3. การอุดหนุนผ่านโครงการ LIFE และ EIP-AGRI สหภาพยุโรปสนับสนุนโครงการสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศผ่าน LIFE Programme ประมาณ 125,800 ล้านบาท ในระหว่างปี 2557-2563 และให้เงินอุดหนุนการทำงานของ EIP.AGRI เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มคาร์บอน อาทิ โครงการ OLIVE4CLIMATE ที่มุ่งลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ พัฒนากระบวนการผลิตน้ำมันมะกอกที่ยั่งยืน และรับรองคาร์บอนเครดิตจากการลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนของสวนมะกอก และโครงการ AGRESTIC ที่ผลักนให้เกษตรกรนำนวัตกรรม หรือระบบปลูกพืชที่ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแ แปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูก รวมถึงเทคนิคที่ช่วยเพิ่มอินทรีย์คาร์บอนและการกักเก็บคาร์บอนในดิน อาทิ การปลูกพืขตระกูลถั่วหรือพืชที่โตเร็ว (catch crops) ร่วมกับการปลูกธัญพืชแบบหมุนเวียน
4. ตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ หรือ Voluntary Carbon Market บางประเทศสมาชิกฯ มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนในลักษณะสมัครใจ เพื่อสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ โครงการ MoorFutures เพื่อฟื้นฟูป่าพรุทางตอนเหนือของเยอรมนี และโครงการ Carbon AGR! เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มของฝรั่งเศส
5. โครงการความร่วมมือภายในห่วงโซ่อุปทานอาหาร บางโครงการในสหภาพยุโรปเกิดจากความคิดริเริ่มของร้านค้าปลีกหรือบริษัทอาหาร โดยใช้วิธีจ่ายผลตอบแทนเพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกรที่ยอมรับเงื่อนไขในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ อาทิ บริษัท อาหาร SPAR ร่วมกับองค์กร WWF ในออสเตรีย ได้ดำเนินโครงการ “Healthy Soils for Healthy Food” เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรตามแนวทางการอนุรักษ์ดิน เป็นต้น
แหล่งข้อมูล