สื่อสารสบายใจถ้าระวังสักนิด “แอปดักฟัง – แอบบันทึกการสนทนา”

Loading

ภัยที่มาพร้อมกับความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารคือ การลักลอบบันทึกการสนทนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนำมาแต่เรื่องที่ไม่ค่อยจะดี จึงกลายเป็นธรรมเนียมของแอปสื่อสารต่างๆ ที่จะต้องแจ้งเตือนให้ทุกคนที่สื่อสารกันนั้น รู้ตัวว่ากำลังมีการบันทึกการสื่อสารนั้นอยู่

คงเคยพบเจอว่าZoom เตือนให้เรารู้ตัวว่ามีการบันทึกการสื่อสารนั้น และเราต้องกดรับทราบก่อนที่ข้อความเตือนนั้นจะหายไป ไม่กดทราบการเตือนนั้นก็ค้างจออยู่ตลอด ดังนั้น ถ้ากระทำกันอย่างตรงไปตรงมา การแอบบันทึกการสนทนาคงไม่เกิดขึ้น

เพื่อให้การสนทนาผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มีความเป็นส่วนตัว นอกจากจะฝากหน้าที่ป้องกันนี้ไว้กับแอปที่เราใช้สื่อสารแล้ว แนะนำว่าทุกครั้งที่เริ่มต้นสื่อสารกัน ให้ประกาศกันไว้ก่อนเลยว่า ทุกคนที่สื่อสารกันครั้งนี้จะไม่มีการบันทึกการสื่อสารนี้โดยไม่ขออนุญาต หรือตกลงกันเป็นหลักการไว้เลยว่า การสื่อสารนี้จะไม่มีการบันทึกไว้เด็ดขาด

แม้ว่าจะป้องกันการแอบบันทึกไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่อย่างน้อยก็สร้างความตระหนักว่า เราพยายามรักษาความเป็นส่วนตัวของการสนทนานี้ไว้ ใครแอบทำอย่างน้อยก็น่าจะสำนึกว่าเป็นคนที่ไม่ทำตามหลักการที่ตกลงกันไว้

วิธีการแอบบันทึกง่ายที่สุดคือ บันทึกโดยตรงทางกายภาพ คือ ใช้ Speaker Phone ปล่อยเสียงสนทนาออกทางลำโพง แล้วใช้อุปกรณ์อื่นบันทึกการสนทนานั้นไว้ ซึ่งจะไม่ปรากฏการแจ้งเตือนจากแอป

แต่ถ้าเคยคุยโทรศัพท์กับคนที่ใช้ Speaker Phone น่าจะแยกแยะออกว่าตอนนี้คู่สนทนากำลังใช้ Speaker Phone อยู่หรือไม่ ให้คิดไว้ก่อนว่า คนร่วมวงสนทนากำลังแอบบันทึกการสนทนานั้นไว้ รู้แล้วก็ระมัดระวังคำพูดไว้ให้ดี

ถ้าไฮเทคขึ้นมาหน่อยคือ ใช้แอปมาลักลอบบันทึกการสนทนา ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องแอบมาลงแอปดังกล่าวไว้ในเครื่องของเรา คนสนิทคนใกล้ชิดที่เราไว้วางใจน่าจะทำเช่นนี้ได้ หรือไม่ก็มาทางอินเทอร์เน็ต

แอบติดตั้งแอปดักฟังโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าใครรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะมีใครเขาอยากแอบบันทึกการสนทนาของตน และพอรู้เรื่องการป้องกันตัวเองทางไซเบอร์อยู่บ้าง ก็น่าจะพอหาทางป้องกันตนเองได้

แอปที่จะมาแอบบันทึกการสนทนาของเราได้ จะต้องได้รับอนุญาตให้ติดตั้งลงในเครื่องโทรศัพท์ของเรา ที่ติดไวรัสคอมพิวเตอร์กันนั้น จริงๆ แล้ว ตัวเรานั่นแหละที่อนุญาตโดยไม่ได้ตั้งใจ

ดังนั้น ให้จำกัดสิทธิ์ในการติดตั้งแอปเฉพาะที่มาจากแหล่งที่ไว้ใจได้ หรือใช้ Parental Control จำกัดไม่ให้มีการติดตั้งแอปใดๆ เพิ่มเติม จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการควบคุมนี้

ป้องกันอีกชั้นหนึ่งด้วยการจำกัดการเข้าถึงไมค์และกล้องของแอปต่างๆ ที่ไม่น่าจะทำงานเกี่ยวข้องกับไมค์และกล้อง เช็คดูอีกครั้งว่าในบรรดาแอปที่มีอยู่ในเครื่องของเรานั้น มีตัวใดบ้างที่ได้สิทธิ์การใช้ไมค์และกล้อง โดยที่ไม่น่าจะจำเป็นต้องทำ

ให้ปิดสิทธิ์การใช้งานไมค์และกล้องของแอปน่าสงสัยเหล่านั้นให้หมด ลองค้นหาจากกูเกิลดูว่าแอปนั้นทำหน้าที่อะไร ถ้าพบว่าตัวไหนที่อยู่ในเครื่องของเราโดยไม่มีหน้าที่ที่จำเป็นใดๆ ก็ลบทิ้งไปให้หมด

แอปลักลอบบันทึกการสนทนาต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ล่วงหน้าว่าเราจะสนทนากับใครในช่วงเวลาไหน ถ้าเราจำกัดเวลาของแอปต่างๆ ในการทำงานไว้ แอปดักฟังที่หลุดรอดจากขั้นตอนก่อนหน้านี้มาได้ ก็จะหมดฤทธิ์ไปมาก ถ้าแอบบันทึกได้ก็บันทึกได้ไม่ตลอด เพราะถูกจำกัดเวลาทำงาน

ถ้าทำเองไม่เป็น ไม่แนะนำให้ไปวานใครมาทำให้ เว้นเสียแต่มั่นใจในคนนั้นมากๆ เท่านั้น ทางเลือกอีกอย่างหนึ่งทดแทนการวานคนอื่นมาช่วยทำ คือลองหาแอปรักษาความมั่นคงทางไซเบอร์ มาติดตั้งไว้ในเครื่องของเรา เพื่อจัดการสารพัดเรื่องที่จำเป็นในการป้องกันการลักลอบดักฟังแทนตัวเรา

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/1145406


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210