บ้านปู ครึ่งแรกปี 2564 จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ รับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้านาโกโซในญี่ปุ่นที่เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบ อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นและเวียดนามเตรียมจะ COD บวกกับราคาก๊าซและถ่านหินขยับเพิ่ม ขณะผลการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ตั้งเป้า EBITDA จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสัดส่วนถึง 50 % ภายในปี 2568 ตามแผนธุรกิจ 5 ปี
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน และความไม่แน่นอนในการลงทุน อีกทั้งเป็นยุคของเทคโนโลยีที่มีการทำมาใช้ในการทำงานและการดำเนินธุรกิจ ซ้ำร้ายยังมีไวรัสโควิด-19 ระบาดเพิ่มมาอีก และยังไม่มีทีท่าว่าวัคซีนจะหยุดยั้งโรคนี้ได้ จึงยิ่งมาเพิ่มความแปรปรวนให้แก่ระบบและการดำเนินชีวิต บริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามปรับตัวและองค์กรเพื่อให้อยู่รอดและยืนอยู่ยั้ง บ้างก็แตกไลน์ธุรกิจ บ้างร่วมทุนกับพันธมิตรเพื่อลุยธุรกิจใหม่
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU คืออีกหนึ่งองค์กรที่ได้ปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจพลังงานครั้งสำคัญ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในฐานะผู้ประกอบธุรกิจด้านพลังงานที่มีความหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการปรับพอร์ตธุรกิจให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีฉบับใหม่ (2564-2568) ที่ยังคงต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter พร้อมทั้งเร่งความเร็วในการขยายสัดส่วนของพลังงานสะอาด และการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนของพลังงานในอนาคต
ล่าสุด บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP บริษัทในเครือที่ถือเป็นแกนนำในการจัดการผลิตพลังงาน ได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้านาโกโซ ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ในญี่ปุ่น นับเป็นโรงไฟฟ้าประเภท Integrated Gasification Combined Cycle หรือ IGCC แห่งแรกในพอร์ตฟอลิโอ มีกำลังผลิตขนาด 543 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าดังกล่าวใช้เทคโนโลยีการแปลงสถานะถ่านหินเป็นก๊าซ (Gasification) นับเป็นก้าวสำคัญที่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ให้มีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงและลดการปล่อยมลพิษให้อยู่ในระดับต่ำ (HELE)
สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU กล่าวกับ “หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา” ว่าช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม BANPU ได้รับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลักคือ การเพิ่มสัดส่วนพอร์ตพลังงานที่สะอาด และฉลาดให้มากขึ้น ผ่านการดำเนินงานของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด และการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทำต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี เพื่อสร้างความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ (Supply Chain) ของกลุ่มบ้านปู ด้วยการวางยุทธศาสตร์ไปจนถึงการทำงานที่นำเทคโนโลยีและแนวคิดแบบดิจิทัลเข้าไปเสริมประสิทธิภาพ รวมถึงนำนวัตกรรมต่างๆ ไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ให้แก่ลูกค้าในทุกกลุ่มธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน BANPU ยังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานใหม่ๆ หรือขยายพอร์ตด้านพลังงานทดแทน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานตามเทรนด์พลังงานของโลก 3Ds อันประกอบด้วย การกระจายการผลิตและจัดจำหน่ายพลังงานแบบไม่รวมศูนย์ การใช้พลังงานที่ลดการปล่อยคาร์บอน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ด้วยการผสมผสานการ Transformation ดังกล่าวลงไปใน 3 กลุ่มธุรกิจสำคัญ
กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ปัจจุบัน BANPU ให้ความสำคัญกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา ที่นับเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นตัวเชื่อมสำคัญ (Bridging Fuel) ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนต่ำไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนในอนาคต โดย BANPU เป็นหนึ่งใน 20 บริษัทที่มีกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณสูงในสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 700 ลูกบาศก์ฟุตเทียบเท่าก๊าซธรรมชาติต่อวัน ซึ่งได้ประกันความเสี่ยงการลงทุน (Hedging) และสร้างความยืดหยุ่นในงบลงทุน (CAPEX Flexibility)
โดยกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงานที่ดำเนินการผ่านการดำเนินงานของ BPP และ Banpu NEXT ซึ่งครอบคลุมทั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป ในรูปแบบโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างสมดุลให้แก่ 3 มิติด้านพลังงานที่ยั่งยืนคือสามารถเข้าถึงได้ด้วยราคาที่เหมาะสม ส่งมอบพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง เชื่อถือได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ด้าน ธุรกิจเหมือง มุ่งเน้นการสร้างกระแสเงินสดในช่วงราคาถ่านหินเพิ่มสูง มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเสริมด้านการจัดซื้อถ่านหินจากผู้ผลิตรายอื่นร่วมด้วย (Coal Trading) เพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าแต่ละราย
ขณะที่ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน เปลี่ยนแผนการดำเนินงานโดยมีการมุ่งเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดด (Scale Up) ด้านพลังงานสะอาด และนำเทคโนโลยีพลังงานดิจิทัลสมัยใหม่ (EnTech) เข้ามาใช้ในธุรกิจของบริษัทเพิ่มมากขึ้น เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการด้านพลังงาน และมุ่งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อประโยชน์และส่งเสริมธุรกิจในกลุ่มบ้านปู
“ในปี 2564 นี้ BANPU ได้กำหนดแผนธุรกิจ 5 ปีฉบับใหม่ สำหรับปี 2564-2568 ซึ่งประกอบด้วย 3 แกนหลักคือ Acceleration – เร่งสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ใน 4 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจเหมือง ธุรกิจผลิตไฟฟ้า และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน Antifragile – รับมือกับความเปลี่ยนแปลงและวงจรเศรษฐกิจโลกผ่านพอร์ตโซลูชันด้านพลังงานที่ครบวงจร โดยกระจายความเสี่ยง และคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และ Augmentation – ต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจปัจจุบันและความแสวงหาโอกาสในธุรกิจพลังงานใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานที่สอดคล้องกับเทรนด์พลังงานในอนาคตได้รวดเร็วและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 EBITDA จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานของ BANPU จะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 เพื่อความยั่งยืนของพลังงานสะอาดในอนาคต” สมฤดี กล่าว
BPP เพิ่มโรงไฟฟ้า IGCC เข้าพอร์ตหวังโตยั่งยืน
สำหรับบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP นั้น ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ที่ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้า IGCC แห่งแรกที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นโรงไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน โดย BPP ได้ลงทุนผ่านบริษัท Nakoso IGCC Management Co.,Ltd (NIMCO) ซึ่ง Nakoso IGCC นี้ได้ร่วมทุนพัฒนาขึ้นภายใต้การความร่วมมือของ 5 บริษัท โดยมีบริษัท มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น พาวเวอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้พัฒนาหลักในการนำเทคโนโลยี Integrated Gasification Combined Cycle หรือ IGCC ที่ใช้เวลาศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนามากว่า 30 ปี มาใช้งานจนประสบความสำเร็จในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการแปลงสถานะถ่านหินให้กลายเป็นก๊าซเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมกังหันก๊าซเข้าด้วยกัน มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงและลดการปล่อยมลพิษให้อยู่ในระดับต่ำ
ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 โรงไฟฟ้า Nakoso Integrated Gasification Combined Cycle (IGCC) ได้ COD แล้ว ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ BPP ถือหุ้นร้อยละ 33.5 ใน Nakoso IGCC Management Co.,Ltd. (NIMCO) ผ่านบริษัทย่อย Banpu Power Investment Co.,Ltd (BPIC) นั้น และ NIMCO ถือหุ้นในโรงไฟฟ้า IGCC ร้อยละ 40 โรงไฟฟ้านี้มีขนาดกำลังการผลิต 543 เมกะวัตต์
การลงทุนดังกล่าวตอบโจทย์เป้าหมายทางธุรกิจของ BPP ที่มีทิศทางการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น (Green Investment) ควบคู่กับการพิจารณาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดเข้าสู่บริษัทฯ ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่ง BANPU ยังคงเดินหน้าในการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิต 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568
กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวถึงแผนงานของบริษัทให้ฟังว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า BPP จะเดินหน้าธุรนกิจพลังงานด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การผนึกพลังร่วมภายในกลุ่ม BANPU ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจของบ้านปู (Banpu Ecosystem) ในการเข้าถึงเทคโนโลยี ฐานลูกค้าและคู่ค้า และแบ่งปันการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและประสบการณ์ในธุรกิจพลังงาน เช่น การต่อยอดธุรกิจซื้อขายไฟฟ้า (Energy Trading) และธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานในประเทศที่มีศักยภาพ ตามด้วยการมุ่งแสวงหาโอกาสการลงทุนในประเทศแถบเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูง และผลักดันการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงานผ่านการลงทุนในบ้านปู เน็กซ์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดใหม่ๆ และตอบรับกับกระแสด้านพลังงานแห่งโลกอนาคต
“การลงทุนของบ้านปู เพาเวอร์จะมุ่งเน้นโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (Brownfield) ที่สร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยวางเป้าหมายขยายกำลังผลิตให้ได้ถึง 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 รวมทั้งสร้างการเติบโตในพอร์ตพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานผ่าน Banpu NEXT รวมถึงเตรียมเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเพื่อให้สามารถขยายกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ไม่น้อยกว่า 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
ในปัจจุบัน BPP โรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์และโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังพัฒนารวม 31 โครงการ มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนถึงปี 2566 รวม 2,929 เมกะวัตต์ โดย BPP มีการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะของกิจการ (Due Diligence) อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม รวมถึงมองหาโอกาสเพิ่มเติมในประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงอย่างสหรัฐอเมริกา นับเป็นการต่อยอดมูลค่าจากระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มกลุ่ม BANPU ซึ่ง ครึ่งแรกของปี 2564 นี้จะเห็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มจากการลงทุนในโรงไฟฟ้านาโกโซในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และความพร้อมของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในญี่ปุ่นและเวียดนามที่มีแผน COD ปีนี้
สำหรับการลงทุนในญี่ปุ่นปี 2564 BANPU จะรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งที่ COD ไปเมื่อปลายปี 2563 ได้แก่ ยามางาตะ (Yamagata) และยาบูกิ (Yabuki) กำลังผลิตรวม 25 เมกะวัตต์ รวมถึงเคเซนนุมะ (Kessenuma) และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ที่จะ COD เพิ่มในปี 2564
ขณะที่ในเวียดนามจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน ที่มีกำลังผลิต 38 เมกะวัตต์ ที่ COD ปี2563 และมีความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 ในจังหวัดซ็อกจัง (Soc Trang) กำลังผลิตรวม 30 เมกะวัตต์ ที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง 41% และพร้อมจะ COD ภายในครึ่งแรกของปี 2564
ส่วนในจีน โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ที่ใช้เทคโนโลยี HELE ประเภท Ultra-Supercritical กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมสร้างส่วนแบ่งกำไรให้แก่บริษัทฯ ในปี 2564 นี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ในส่วนของ Banpu NEXT ชูจุดเด่นการเป็นผู้ให้บริการสมาร์ทโซลูชันด้านพลังงานสะอาดที่ฉลาดขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรในธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ ธุรกิจระบบกักเก็บพลังงาน หรือ ESS ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ธุรกิจเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และธุรกิจแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า ในปี 2563 ที่ผ่านมาบ้านปู เน็กซ์ ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการสร้างความแตกต่างในการเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานสะอาดที่ฉลาดขึ้นอย่างครบวงจร
นอกจากการมุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจ กลุ่ม BANPU ยังมีความพยายามในการที่จะยกระดับขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน ตามแนวทางการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ หรือ ESG ให้แก่ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเน้นการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจให้ครบวงจร ตามความต้องการของผู้บริโภค และเทรนด์พลังงานของโลกอย่างยั่งยืน
โบรกฯ แนะเก็งกำไรหุ้น BANPU
บล.เอเชีย เวลท์ มุมมองเป็นบวกต่อผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2564 โดยมี 2 ปัจจัยหนุนมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับเพิ่ม ทั้งราคาถ่านหิน และราคาก๊าซ อีกทั้งรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่มียอดขายไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล รวมทั้งกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้น หลัง BPP ประกาศผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์โครงการ SLG ในประเทศจีน ทำให้มองว่า 2 ปัจจัยบวกดังกล่าวเพียงพอชดเชยผลกระทบจากการรับรู้ผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งคาดว่าจะยังเกิดขึ้นในผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้จากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้มองผลประกอบการจะพลิกกลับมาเป็นกำไร
โดยคาดจะมีกำไรสุทธิที่ 1.54 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาถ่านหินและราคาก๊าซที่ปรับเพิ่มผลจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงต้นปี โดยเฉพาะในเดือน ก.พ. เป็นปัจจัยหนุน อีกทั้งยอดขายก๊าซรวมที่เพิ่มขึ้นจากการเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการของ Barnett และธุรกิจไฟฟ้าที่จะกลับมามียอดขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากโครงการหงสาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในปี 2563 ทำให้ประเมินว่าปี 2564 โครงการหงสาจะกลับมาเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ครบทั้ง 3 หน่วยเต็มปี ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในไทยและจีนที่เพิ่มขึ้นจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และกำลังการผลิตใหม่จากการประกาศเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โครงการ SLG ในจีนที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ BANPU ประกาศจ่ายเงินปันผลงวดครึ่งปีหลังอัตรา 0.15 บาทต่อหุ้น เมื่อรวมเงินปันผลระหว่างกาลที่บริษัทประกาศจ่ายก่อนหน้านี้ ทำให้บริษัทจ่ายเงินปันผลรวมอยู่ที่ 0.30 บาท แนะนำ “เก็งกำไร”
บล.หยวนต้า ปรับราคาเหมาะสมเป็น 10.00 บาท อ้างอิง PBV ที่ 0.76x (ให้ส่วนลดจากค่าเฉลี่ยในอดีต 5 ปี -0.75SD) คงคำแนะนำ TRADING ระยะสั้นตามราคาถ่านหิน เพราะ BANPU ประกาศงบไตรมาส 4 ขาดทุนสุทธิ 469 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยหากหักรายการพิเศษ (กำไรอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยง 508 ล้านบาท และขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 907 ล้านบาท) ผลการดำเนินงานปกติขาดทุน 70 ล้านบาท ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนและปีก่อน ผลดีจากราคาขายเฉลี่ยธุรกิจทรัพยากรปรับตัวขึ้นทั้งถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเพราะได้แรงหนุนจากภาวะอากาศหนาวเย็นช่วงปลายปี รวมทั้งปริมาณขายถ่านหินเหมืองอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณขายจากเหมืองถ่านหินออสเตรเลียลดลง และเริ่มรับรู้ยอดขายของแหล่งก๊าซ Barnett ที่ปิดดีลซื้อกิจการตั้งแต่ 1 ต.ค.2563 ทำให้ปริมาณขายก๊าซรวมอยู่ที่ 65.5 bcf อีกทั้งส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 35 ล้านเหรียญสหรัฐ จากค่าความพร้อมจ่าย (EAF) ที่ทำได้ตามเป้าหมาย และมีรายได้จากเงินประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงปลายปี 2562
ขณะที่ภาพรวมปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1.8 พันล้านบาท แย่ลงจากปี 2562 ที่ขาดทุน 553 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ราคาถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติช่วงต้นปีปรับตัวลดลงส่วนแนวโน้มไตรมาสแรกปี 2564 ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาถ่านหิน และราคาก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ที่ยังอยู่ระดับสูงตามอุปสงค์ช่วงอากาศหนาว กอปรกับค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันที่อ่อนค่าลงเล็กน้อย ทำให้คาดว่าจะไม่มีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนกดดันเหมือนไตรมาส 4 ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2564 เพิ่มขึ้น 12% เป็น 2.1 พันล้านบาท พลิกจากขาดทุนในปี 2563 ได้ อีกทั้งเชิงกลยุทธ์มองว่า BPP เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเข้าลงทุนเพื่อรับการเติบโตจากการลงทุนข้างต้นมากกว่า เพราะแม้ BANPU มีสัดส่วนลงทุนใน Banpu Next สูงกว่า BPP (ถือหุ้นโดยตรง 50% และลงทุนผ่าน BPP อีก 50%) แต่การลงทุนใน BANPU จะถูกถ่วงด้วย Portfolio ธุรกิจถ่านหินที่ผันผวน มีความเสี่ยงถูก Disrupt และถูก Discount
แหล่งข้อมูล