การเดินหน้าความพยายามพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อช่วยทุ่นแรงงานมนุษย์พร้อมๆ กับเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่งผนวกเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เข้ามายกระดับความก้าวหน้าไปอีกขั้นเมื่อเร็วๆ นี้
สักวันหนึ่งเกษตรกรทั่วประเทศและทั่วโลก อาจเลิกใช้งานรถแทรกเตอร์ของพวกเขา แล้วหันมาใช้งานรถแทรกเตอร์ระบบอัตโนมัติที่สามารถควบคุมการทำงานจากระยะทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแทน แต่บรรดาเกษตรกรไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อยจะไว้วางใจในเทคโนโลยีนี้หรือไม่ ขณะที่ เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมการเกษตรนั้นมีพัฒนาการรุดหน้าอย่างรวดเร็วอยู่
อีกไม่นาน เกษตรกรจะมีรถแทรกเตอร์ไร้คนขับใช้ในเรือกสวนไร่นาของตนเพื่อให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่พวกเขาคอยควบคุมและตรวจสอบจากระยะทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนเท่านั้น
อีเจโน่ คาฟีอีโร (Igino Cafiero) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง แบร์ แฟล็ก โรโบติกส์ (Bear Flag Robotics) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ จอห์น เดียร์ (John Deere) บริษัทผลิตอุปกรณ์การเกษตรในสหรัฐฯ บอกกับ วีโอเอ ว่า หากแวดวงการเกษตรเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ ทุกฝ่ายก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมทั้งหลายในการพัฒนากระบวนการทำงานต่างๆ ได้อย่างมาก
คาฟีอีโร ให้ความเห็นว่า เมื่อตอนที่สหรัฐฯ ก่อตั้งขึ้นมา ชาวอเมริกันราว 50% ล้วนเป็นเกษตรกร แต่ตอนนี้มีเกษตรกรเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 1% ดังนั้นการผลิตรถแทรกเตอร์ระบบอัตโนมัตินี้ จะช่วยให้เกษตรกรมีเครื่องมือที่ช่วยให้ทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น
รถแทรกเตอร์ไร้คนขับรุ่นใหม่จาก จอห์น เดียร์ ใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ในการตรวจจับภาพ ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และระบบนำทาง GPS ในการไถพรวนและปลูกพืชผักในไร่นาโดยไม่หยุดพัก แต่คำถามในเวลานี้คือ บรรดาเกษตรกรน้อยใหญ่จะยินดีไว้วางใจให้รถแทรกเตอร์ที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองนี้ทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้หรือไม่?
คนที่ยังไม่แน่ใจ อาจลองฟังความเห็นของ ดั๊ก นิมส์ (Doug Nimz) เกษตรกรรุ่นที่ 4 จากบลูเอิร์ธ รัฐมินนิโซตา ซึ่งเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกๆ ที่ทดลองใช้รถแทรกเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของ จอห์น เดียร์ ในการปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองในพื้นที่ประมาณ 800 เฮกตาร์ หรือราว 5,000 ไร่ ของเขาดูแล้ว
นิมส์ กล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีนี้ เขาสามารถใช้แอพฯ ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนตรวจสอบระดับน้ำมันเชื้อเพลิงในรถแทรกเตอร์ และตรวจดูว่า ยังมีพื้นที่ในไร่นาเหลืออยู่เท่าใดที่ยังไม่ได้ไถพรวน ขณะที่ ระบบของรถแทรกเตอร์ยังสามารถส่งสัญญาณเตือนเขาทันที กรณีที่พบกับสิ่งกีดขวางเพื่อให้เขาไปทำการตรวจสอบได้ด้วย
ทั้งนี้ บริษัท จอห์น เดียร์ เปิดเผยว่า กล้องที่ติดอยู่กับรถแทรกเตอร์ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเห็นภาพเรือกสวนไร่นาได้ตลอดเวลา และช่วยให้ทำการหว่านเมล็ดพืชลงหลุมอย่างแม่นยำ ขณะที่ เทคโนโลยีการฉีดพ่นของรถแทรกเตอร์ทำให้การฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชนั้นตรงจุดและแม่นยำ ซึ่งเป็นการประหยัดเงินให้เกษตรกร พร้อมๆ กับช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัว
แต่สำหรับเกษตรกรบางคน ประโยชน์ที่ชัดเจนที่สุดจากเทคโนโลยีรถแทรกเตอร์อัตโนมัติก็คือ การประหยัดเวลา และซาราห์ รอคเคอร์ (Sarah Rachor) เกษตรกรรุ่นที่ 4 เจ้าของฟาร์ม หัวบีท ข้าวสาลี และถั่วเหลือง ในรัฐมอนแทนา คือ หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่เห็นด้วยกับประเด็นนี้
รอคเคอร์ กลว่าว่า ข้อแตกต่างอย่างมากระหว่างรถแทรกเตอร์ขับเคลื่อนด้วยระบบนำทาง GPS ที่เธอใช้อยู่ในตอนนี้ กับรถแทรกเตอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ หลักๆ แล้วจะเป็นเรื่องของเวลา โดยเทคโนโลยีที่อัพเกรดเหล่านี้ช่วยให้เธอสามารถปลูกพืชผลในที่ดินได้มากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะที่ ดั๊ก นิมส์ เกษตรกรจากรัฐมินนิโซต้า กล่าวเสริมว่า แม้ปกติ เกษตรกรจะเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างชอบอะไรแบบดั้งเดิม เขารู้สึกว่า เมื่อเกษตรกรเหล่านั้นได้ทดลองใช้รถแทรกเตอร์ไร้คนขับนี้แล้ว พวกเขาจะต้องยอมรับในเทคโนโลยีนี้อย่างแน่นอน
ท้ายสุด บริษัท จอห์น เดียร์ ผู้พัฒนารถแทรกเตอร์ล้ำสมัยนี้ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะเปิดตัวรถขับเคลื่อนระบบอัตโนมัติออกสู่ตลาดสำหรับเกษตรกรในปลายปีนี้แล้ว
แหล่งข้อมูล