หลังจากการจัดประชุมคณะทำงานมาตรการพิเศษชะลอการว่างงาน ครั้งที่ 2/64 และกำหนดแนวทางจัดทำ ‘โครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์’ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 นำโดย ดร.อภิชาต ทองอยู่ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา คุณสมชัย ไทยสงวนวรกุล คณะทำงานฯ และคณะผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ณ SNC Former Public Company ได้รับอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว SALIKA เล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับคนไทย อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และประเทศไทย จึงจับประเด็นสำคัญมาเล่าสู่กันฟัง
ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย’
อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply chain) กว่า 2,435 ราย และมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมสูงถึง 5.5 แสนคน โดยลักษณะของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไทยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
1) ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบรถยนต์ (Assembler)
เป็นผู้ผลิตขั้นสุดท้ายเพื่อให้ได้มาซึ่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปแล้วจัดจำหน่ายในประเทศหรือส่งออก โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ผลิตหรือผู้ประกอบรถยนต์อยู่ทั้งสิ้น 26 ราย แบ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์จำนวน 18 ราย และผู้ผลิตรถจักรยานยนต์จำนวน 8 ราย
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตส่วนใหญ่เป็นบริษัทระดับบิ๊กเบิ้มของโลกซึ่งมีเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ล้ำหน้า โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีชื่อเสียงมายาวนานจากประเทศญี่ปุ่น อาทิ โตโยต้า อีซูซุ ฮอนด้า ยามาฮ่า
2) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบรถยนต์ (Part maker)
คือ ผู้ที่ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ เพื่อป้อนให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปไปใช้ในการประกอบยานยนต์ (OEM) โดยสามารถแบ่งย่อยออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ
Tier 1 คือ ผู้ที่ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบที่มีคุณภาพและลักษณะจำเพาะตรงตามที่โรงงานประกอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนด sub-system ต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ ระบบเบรก ล้อ ระบบไฟฟ้าและระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นผู้ประกอบการที่มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ระดับสูง มีอยู่ทั้งสิ้น 709 ราย โดยมีทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ (LSES) เช่น เด็นโช, จอห์นสัน คอนโทรล, บ๊อช, ไทยซัมมิท และผู้ประกอบการ SMEs
Tier 2 และ Tier 3 คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนย่อยหรือผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อจัดส่งให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนใน Tier 1 เช่น โลหะ พลาสติก ยาง กระจก ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือ เป็นผู้ประกอบการที่มีการวิจัยและพัฒนาในระดับต่ำหรือไม่สูงนัก ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1,700 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ภายในประเทศ
8 กลุ่มความร่วมมือชะลอการว่างงานในภาค ‘อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย’
เพื่อชะลอการว่างงานและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จึงทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานให้ สถาบันการศึกษา ระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา และ บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ (CM : Car maker) มาร่วมเป็นคณะทำงานใน โครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีสถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันยานยนต์ไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ให้ความร่วมมือในการจัดทำเนื้อหาการฝึกอบรม รับรองหลักสูตร จัดฝึกอบรม ฯลฯ
คณะทำงานที่แบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม มีดังนี้
1. Ford Motor – มทร.ตะวันออก
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ และ วิทยาลัยเทคนิคพัทยา
2. Honda (ผลิตรถยนต์) – ม.เทคโนโลยีสุรนารี
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี
3. Honda (ผลิตรถจักรยานยนต์) – มทร.ธัญบุรี
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา
**มทส.รับ Honda ทั้ง 2 ไลน์การผลิตไปดำเนินการก่อนหน้านี้**
4. ISUZU – ม.พระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี
5. TOYOTA – สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยียานยนต์โตโยต้า และ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ
6. Great Wall Motors – ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา
7. Mitsubishi Motors – ม.บูรพา
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคบางแสน
8. NISSAN – ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และ วิทยาลัยเทคนิคพนมสารคาม
คณะกรรมการดำเนินการขับเคลื่อนโครงการฝึกอบรมในมาตรการพิเศษเพื่อชะลอการว่างงาน ทำงานตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
สิ่งที่ผู้เข้าอบรมต้องรู้ – ต้นสังกัดต้องอนุมัติ
บริษัทผู้ผลิตยานยนต์ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และสถาบันการศึกษา จะร่วมกันคัดเลือกผู้เข้าอบรม ซึ่งเป็นพนักงานที่ทำงานในบริษัท/อุตสาหกรรม โดยพนักงานต้องทำสัญญากับบริษัทต้นสังกัดว่า หากได้รับการฝึกอบรมแล้วผลการประเมินอยู่ในระดับสูง บริษัทจะจ้างต่อไม่น้อยกว่า 1 ปี โดย EEC เชิญชวน JETRO : องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น มาร่วมเจรจากับ CM และทำ MOU สามฝ่าย ในการเลือกผู้เข้าอบรม 40 คน/กลุ่ม ให้เป็นกลุ่มนำร่องเพื่อสังเกตการณ์การฝึกอบรมและติดตามปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – กันยายน 2564 มีเป้าหมายด้านจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่เปิดรับในแต่ละกลุ่ม* รวมจำนวนทั้งสิ้น 9,500 คน โดยแยกตามเดือนได้ดังนี้
- กุมภาพันธ์ จำนวน 30 คน/กลุ่ม
- มีนาคม จำนวน 150 คน/กลุ่ม
- เมษายน จำนวน 200 คน/กลุ่ม
- พฤษภาคม จำนวน 200 คน/กลุ่ม
- มิถุนายน จำนวน 200 คน/กลุ่ม
- กรกฎาคม จำนวน 200 คน/กลุ่ม
- สิงหาคม จำนวน 200 คน/กลุ่ม
- กันยายน จำนวน 200 คน/กลุ่ม
*หมายเหตุ จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมในแต่ละกลุ่มคณะทำงาน จะยืดหยุ่นตามความสามารถในการรองรับการฝึกอบรมของแต่ละบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และสถาบันที่เข้าร่วมดำเนินการ
สำหรับ outcome ของการฝึกอบรมจะเน้นผลลัพธ์เชิงคุณภาพ ส่วน ultimate outcome คือ ยกระดับการศึกษาให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงของ Carmakers (CMs) โดยการร่วมสร้างหลักสูตรส่งเสริมให้บุคลากรได้ฝึกทักษะในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ Electronics Vehicle (EV) นี้ จะสอดคล้องกับที่คาดการณ์ว่า ปีหน้าจะมีรถ EV บางรุ่นที่เริ่มผลิตในไทยออกไปสู่ตลาดโลก
ประเทศจะได้อะไร ดูจากผลผลิตและตัวชี้วัดของโครงการฯ
ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ
- 1) รักษาการจ้างงาน พร้อมสร้างทักษะใหม่ (Upskill) ให้แก่บุคลากรและผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรม 3 ระดับงาน รวม 9,500 คน ได้แก่ (1) Industry 4.0 for supervisor จำนวน 2,300 คน (2) Industry 4.0 for operator จำนวน 3,600 คน และ (3) Industry 4.0 for workers จำนวน 3,600 คน ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีเอกชนร่วมทำงาน พร้อมการันตีการจ้างงานต่อเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี
- 2) สร้างทักษะใหม่ให้บุคลากร นำไปสู่รายได้ที่เพิ่มขึ้น
- 3) สร้างความแข็งแรงและความพร้อมให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์หลังวิกฤต COVID-19
- 4) ยกระดับมหาวิทยาลัยที่ร่วมดำเนินโครงการ พัฒนาหลักสูตรภาคปฏิบัติด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรม เกิดเป็นตัวอย่าง Policy Sandbox สำหรับสถาบันการศึกษาอื่นๆ
ตัวชี้วัด
- 1) บุคลากรของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวน 9,500 คน ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรระยะสั้นและสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ได้
- 2) รักษาการจ้างงานกว่า 9,500 คน และรับประกันการจ้างงาน 1 ปี
- 3) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โครงสร้างต้นทุนการผลิตด้านแรงงาน ลดลงประมาณ 38%
- 4) ประมาณการรักษามูลค่าในห่วงโซ่อุปทานการผลิตยานยนต์ได้ราว 14,450 ล้านบาท
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/26/automotive-upskill-th2021/