แกะโมเดล “ป้องกันน้ำท่วม” ฉบับ “ออสเตรีย” พลิกตำราสู้ “ฝน 5,000 ปี”

Loading

เบื้องหลังการถ่ายทำระบบป้องกันน้ำท่วมของ “ออสเตรีย” คือการสร้าง “เกาะเทียม” กลางแม่น้ำดานูบ หรือที่เรียกว่า Danube Island โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อสร้างร่องระบายน้ำเพื่อใช้ทดน้ำ และควบคุมปริมาณน้ำ ที่มีชื่อว่า “แม่น้ำดานูบสายใหม่” หรือ New Danube

แม้ทั้ง 2 ระบบ จะถูกสร้างขึ้นพร้อมกันเนิ่นนานมาแล้ว คือในช่วงทศวรรษ 1970 เพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี ค.ศ. 1954 ที่มวลน้ำมหึมาถล่มระบบป้องกันน้ำท่วมดั้งเดิมของ “ออสเตรีย” ทว่า 2 ระบบดังกล่าวยังคงใช้งานได้ดีในปัจจุบัน

โดย “แม่น้ำดานูบสายใหม่” จะถูกกั้นด้วยฝายขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้มวลน้ำแผ่ขยายออกไปจากเส้นทางหลัก กลายเป็นทะเลสาบขนาดย่อม

ประตูของเขื่อนเล็กๆ เหล่านี้จะเปิดออกก่อนมวลน้ำมหาศาลจะมาถึง โดยใช้เวลา ไม่เกิน 4 วันในการขังน้ำที่ไหลบ่าเข้ามา ระบบนี้ช่วยแบ่งเบาภาระของ “แม่น้ำดานูบสายหลัก” ได้อย่างดีเยี่ยม

อย่างไรก็ดี ระบบดังกล่าว ได้รับการทดสอบครั้งใหญ่ หรือภาษาบ้านๆ เรียกว่า “ลองของ” ในปี ค.ศ. 2013 ในเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 200 ปีของ “ออสเตรีย” ทำให้น้ำเหนือไหลบ่าทะลักเข้ากรุงเวียนนาถึง 11,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทว่า กลับไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ให้แก่เมืองเลย!

เหตุผลสำคัญก็คือ “ออสเตรีย” มีระบบป้องกันน้ำท่วมที่ดีมากถึง 2 ระบบที่ทำงานคู่กัน ส่งผลให้ไม่มีครัวเรือนใดในกรุงเวียนนาได้ความเสียหายจากน้ำท่วมแม้แต่หลังคาเดียว เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 400,000 ครัวเรือนของ “ออสเตรีย”

Günter Blöschl นักอุทกวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์ระบบทรัพยากรน้ำจาก Vienna University of Technology ชี้ว่า ออสเตรียได้ลงทุนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างจริงจัง ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

“เหตุผลสำคัญมิใช่น้ำท่วมใหญ่ในปี 2002 และ 2013” Günter Blöschl กระชุ่น

ระบบป้องกันน้ำท่วมของเราได้พัฒนาขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน ระบบดังกล่าวยังคงอยู่ และมีบทบาทสำคัญในการรับมือ และช่วยต้านทานอุทกภัยให้กับเวียนนา เมืองหลวงของเรา Günter Blöschl กล่าว และว่า

“ระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเวียนนา ถูกออกแบบมาให้รองรับมวลน้ำได้มากถึง 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำเท่ากับเหตุการณ์ใหญ่ที่คนออสเตรียรู้จักกันในนามน้ำท่วม 5,000 ปี”

โดยทั่วไปแล้ว ฝนที่หนักอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด จนกลายเป็นน้ำท่วมใหญ่ มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 0.02% หรือเพียง 1 ครั้งในรอบ 5,000 ปีเท่านั้น

“ออสเตรียเคยเผชิญหน้ากับฝน 5,000 ปีครั้งล่าสุดคือปี ค.ศ. 1501 แต่เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ฝนตกหนักจนเกิดน้ำไหลบ่าในลำน้ำหลายสายของกรุงเวียนนา” Günter Blöschl กล่าว และว่า

แม้ว่าปริมาณน้ำจะแตะที่ 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพสูงสุดในการรองรับน้ำของเรา Günter Blöschl สรุป

ความเชื่อในอดีตเกี่ยวกับเขื่อน ที่ว่ากันว่า เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยไม่ให้น้ำล้นเข้าท่วมบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน ทว่าผลการศึกษาวิจัยบางชิ้นกลับชี้ว่า เขื่อนคือตัวการในการเพิ่มความเสี่ยงโดยรวมต่ออุทกภัยในระยะยาว เนื่องจากทำให้ผู้คนตายใจ ว่าเมื่อมีเขื่อนแล้ว จะไม่เกิดเหตุน้ำท่วม ทำให้เกิดสถานการณ์รุกล้ำรางน้ำสาธารณะ ประกอบด้วยการปลูกสร้างอาคาร และตัดถนนขวางทางน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบเกษตรชลประทาน ที่กระแซะเข้าใกล้ทางน้ำอย่างใกล้ชิด

สหรัฐอเมริกาคือตัวอย่างที่ดีมาก หากจะพูดถึงปัญหาของการมีเขื่อน เพราะเขื่อนคือปัจจัยหลักที่เร่งเกิดการขยายตัวของเมืองเข้าไปในที่ราบน้ำท่วมได้เร็วขึ้นถึง 62% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขตปกครองระดับอำเภอก็ใหญ่ขึ้นมากถึง 29%

Günter Blöschl ชี้ว่า “กรุงเวียนนาคือตัวอย่างที่ดีของปัญหาที่เกิดจากเขื่อน เพราะยิ่งเมืองได้รับมาตรการป้องกันน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีเขื่อนเพิ่มขึ้น ผู้คนก็จะยิ่งรู้สึกปลอดภัย และย่ามใจ ด้วยการพากันขยายพื้นที่ของเมืองออกไป”

จนในที่สุด อัตราความเสี่ยงต่ออุทกภัยได้เพิ่มสูงขึ้น

“ยิ่งประชาชนย้ายเข้าไปอยู่บริเวณที่ราบน้ำท่วมถึงมากขึ้นเท่าไหร่ ตัวเลขความเสียหายจากน้ำท่วมก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว” Günter Blöschl สรุป

อย่างไรก็ดี เคล็ดลับสำคัญอันหนึ่งของ “ออสเตรีย” ในการป้องกันน้ำท่วมก็คือ การซ้อมรับมือเหตุน้ำท่วมฉุกเฉินเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซ้อมติดตั้งกำแพงกั้นน้ำแบบเคลื่อนย้ายได้ รวมทั้งมีการพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ และละเอียดซับซ้อน

แม้ว่าในปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำท่วมมีความยากลำบากมากขึ้นเนื่องจากมีที่ราบน้ำท่วมถึง หรือ Floodplain ตามธรรมชาติลดน้อยลงอย่างมาก เนื่องจากทุกวันนี้ ที่ราบน้ำท่วมถึงริมฝั่งแม่น้ำ ได้กลายเป็นเมือง และพื้นที่การเกษตรไปแล้วทั้งหมด ทำให้เมือง และเรือกสวนไร่นาเสี่ยงต่อน้ำท่วมโดยปริยาย

ทั้งนี้ ในปี ค.ศ. 1899 กรุงเวียนนาได้เผชิญวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่มาแล้วหนหนึ่ง

“ยุคนั้น ออสเตรียยังไม่มีเขื่อน แต่บริเวณต้นน้ำของกรุงเวียนนา มีที่ราบน้ำท่วมถึงกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวช่วยรองรับน้ำไว้ได้มาก” Günter Blöschl กล่าว และว่า

แต่ในปัจจุบัน เวียนนาไม่มี Floodplain อีกแล้ว ทำให้เมื่อฝนตกหนัก น้ำจะไหลบ่าลงสู่แม่น้ำดานูบทันที

“นี่คือปัจจัยเสี่ยงน้ำท่วมที่สำคัญยิ่ง” Günter Blöschl ทิ้งท้าย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/10/08/austria-flood-protection-model/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210