ไม่น่าเชื่อว่าโควิด-19 อยู่กับมนุษยชาติมานานกว่าปีเศษแล้ว นับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2019 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้ถึงการใช้ชีวิตในวิถีปฏิบัติใหม่ (New Normal) จนกลายเป็นความคุ้นชินในหลายๆ ด้าน มากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ นวัตกร ตลอดจนผู้ประกอบการด้านสุขอนามัยและสุขภาพต่างก็สร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างให้คนเราสามารถใช้ชีวิตท่ามกลางโรคอุบัติใหม่นี้ได้อย่างปกติสุขมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยหนึ่งในนั้นก็คือนวัตกรรมด้าน “บรรจุภัณฑ์ต้านจุลินทรีย์” (Antimicrobial packaging) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถหยุดหรือลดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหารที่บรรจุอยู่ข้างในได้
Allied Market Research คาดการณ์ตลาดสารต้านจุลชีพ/สารเคลือบป้องกันไวรัสทั่วโลกมีมูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 152,971 ล้านบาท) ในปี 2562 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 224,958 ล้านบาท) ภายในปี 2570 โดยเติบโตเฉลี่ย 6.8% จากปี 2563-2570
เมื่อแบ่งตามการใช้งาน สารต้านจุลชีพที่ใช้ในกลุ่มสีและสีเคลือบคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงสุดที่ 7.2% โดยกลุ่มพลาสติกมีส่วนแบ่งสูงสุด คิดเป็น 1 ใน 3 ตลาดสารเติมแต่งต้านจุลชีพทั่วโลกและจะรักษาความโดดเด่นในแง่ของรายได้ไปจนถึงปี 2570
เมื่อแบ่งตามภูมิภาคพบว่าเอเชียแปซิฟิกครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในปี 2562-2563 โดยคิดเป็นมากกว่า 1 ใน 3 ของตลาดนี้ทั้งหมดและจะยังคงครองตำแหน่งผู้นำไปจนถึงปี 2570 เช่นกัน และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงสุดที่ 7.6% จากปี 2563-2570
ปัจจัยสำคัญคือการระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อตลาดสารต้านจุลชีพทั่วโลก เนื่องจากมีการใช้สารเติมแต่งเหล่านี้อย่างกว้างขวางในการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันหลักอื่นๆ ที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ โดยสารต้านจุลชีพเป็นสารออกฤทธิ์ที่จะยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ราและอื่นๆ เมื่อเติมเข้าไปในระหว่างการแปรรูปวัสดุ โดยการทำลายผนังเซลล์หรือทำให้ดีเอ็นเอของจุลินทรีย์เสียหาย
ปัจจัยการเติบโตของตลาดสารต้านจุลชีพทั่วโลก คือการเพิ่มขึ้นของการใช้สารเติมแต่งต้านจุลชีพในผลิตภัณฑ์พลาสติกและการเพิ่มขึ้นของจุลินทรีย์ที่ติดเชื้อ การจามหรือไอมักแพร่กระจายเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดจุลินทรีย์และมักติดอยู่บนพื้นผิวต่างๆ เช่นลูกบิดประตู ภายในรถยนต์และวัสดุอื่นๆ ดังนั้นสารเติมแต่งต้านจุลชีพจึงสามารถยับยั้งจุลินทรีย์ที่ติดอยู่เหล่านี้ได้เมื่อมันถูกรวมเข้าไว้ในขั้นตอนของการผลิตผลิตภัณฑ์
การพัฒนาสารต้านจุลชีพจากธรรมชาติที่ใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารคาดว่าจะมีโอกาสเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและทำกำไรงามในระหว่างที่โควิด-19 กำลังสำแดงฤทธิ์เดชเช่นนี้ (ต่อให้มีประชากรโลกบางส่วนทยอยรับวัคซีนแล้วก็ตาม) ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในเดือนตุลาคมปี 2020 ที่ผ่านมา Designsake Studio เอเยนซี่จากซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ที่เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์ ได้เปิดตัว Matter ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสารเคลือบป้องกันจุลชีพที่สามารถใช้กับวัสดุต่างๆ รวมถึงกระดาษ การ์ด แก้ว โลหะและสิ่งทอ ซึ่ง Matter นี้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีซิลเวอร์ขั้นสูงเพื่อป้องกันจุลชีพ จากการที่โลหะขัดขวางการแพร่พันธุ์ของไวรัส และได้รับการรับรองในสหรัฐอเมริกาโดย FDA (Food and Drug Administration) และ EPA (Environmental Protection Agency) ว่าเป็นเทคโนโลยีต้านจุลชีพที่ให้การป้องกันจุลินทรีย์ได้สูงถึง 99.9%
การใช้สารเคลือบผิวเป็นวิธีที่ง่ายและคุ้มค่าที่สุดในการให้การป้องกันจุลชีพ และ Matter ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ และไม่ลดทอนความสวยงามของผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ และยังใช้งานได้ครบถ้วนตามคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ที่สำคัญยังเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อีกด้วย ซึ่งนั่นหมายถึงว่าสอดรับกับแนวทางของการทำธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย
Matter ใช้ได้กับวัสดุและพื้นผิวหลากหลายประเภท และจะทำให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ ไร้กังวลมากขึ้น เพราะนอกจากกล่องกระดาษ ซองบรรจุภัณฑ์อาหาร และสินค้าค้าปลีกต่างๆ แล้วยังสามารถใช้เคลือบหนังสือ ปากกา แก้วน้ำ ป้ายโฆษณา หรือกระทั่งเครื่องบินได้อีกด้วย
ด้าน Rubbermaid® ก็เปิดตัว EasyFindLids™ พร้อมเทคโนโลยี SilverShield® ในเดือนตุลาคมปี 2020 เช่นกัน สำหรับผู้บริโภคจำนวนมากที่ปรุงอาหารที่บ้านบ่อยขึ้น อันสืบเนื่องมาจากการกักตัวและการทำงานที่บ้าน (WFH) ภาชนะเก็บอาหารหลากหลายประเภทนี้นอกจากจะทนทานแล้วยังมีเทคโนโลยีต้านจุลชีพ เพื่อยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นอีกด้วย โดย EasyFindLids™ ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์หรือกล่องเก็บอาหารจำนวน 24 ชิ้น มีราคาจำหน่ายที่เว็บไซต์ของ Walmart ชุดละ 12.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 390 บาท) เท่านั้น
“ในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคปรุงอาหารที่บ้านมากขึ้นนี้ เรายินดีที่จะนำเสนอโซลูชันการจัดเก็บแบบใหม่ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความยุ่งเหยิงในครัว แต่ยังช่วยต่อสู้กับกลิ่นของภาชนะด้วย” Kris Malkoski ซีอีโอของหน่วยธุรกิจอาหารของ Newell Brands บริษัทแม่ของ Rubbermaid ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ขณะที่ CBC News รายงานว่า นักวิจัยจาก Verschuren Centre ของมหาวิทยาลัย Cape Breton ประเทศแคนาดากำลังทำงานอย่างขมักเขม้นเพื่อออกแบบบรรจุภัณฑ์และสารเคลือบป้องกันไวรัสที่สามารถฆ่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่เมื่อสัมผัสได้
เนื่องจากผู้บริโภคยังคงมีความกังวลในระดับสูง ถึงความสามารถในการอยู่รอดของไวรัสบนพื้นผิวต่างๆ จึงคาดว่าบรรจุภัณฑ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส จะมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น
ที่มา :
Antimicrobial Additives Market Outlook – 2027
Packaging companies are offering hygiene security
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/01/24/antimicrobial-packaging-covid-19/