บริษัทอเมริกันล้ำ ใช้ AI ‘สเก็ตช์ภาพ’ อาชญากรจาก DNA ในที่เกิดเหตุ

Loading

ปี 2022 เป็นปีทองของ AI วาดภาพ และมันก็แทรกซึมเข้าไปในทุกวงการ ล่าสุดมีการใช้ AI ทำงานวาดภาพในเชิงนิติเวชแล้ว!

ย้อนกลับไปปี 2011 มีบริษัทเล็กๆ ที่พัฒนาด้าน AI หัวใสไปของบจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าถ้าบริษัทมีฐานข้อมูล DNA และรูปหน้าคนมากพอ ก็จะสร้าง AI ที่วาดหน้าคนจาก DNA ได้

10 ปีต่อมา บริษัทเล็กๆ ดังกล่าวจากรัฐเวอร์จิเนีย นามว่า Parabon Nanolabs นี้ก็มีเทคโนโลยีที่ว่าในมือจริงๆ และก็รับจ้างหน่วยงานรัฐทั่วโลกในการ ‘สเก็ตช์หน้าอาชญากร’ จาก DNA

ต้องเข้าใจก่อนว่า ในทางวิทยาศาสตร์เรายังบอกไม่ได้แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของ DNA นั้นจะระบุหน้าตาคนได้ยังไง แต่ประเด็นคือมันมี ‘แนวโน้ม’ และก็มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนว่ามันน่าจะทำได้ แต่สิ่งที่ Parabon Nanolabs ทำกลับตรงกันข้าม คือเขาเอา DNA คนเป็นล้านๆ มาเทียบกับใบหน้า แล้วให้ AI หาความสัมพันธ์กันเลยโดยไม่ต้องมีคำอธิบายใดๆ แค่คิดว่า AI มันทำได้

สิ่งที่ตามมาก็คือ ‘โมเดล’ ที่จะแปลง DNA ให้เป็นหน้าคนได้ โดยมันจะบอกว่า DNA แบบนี้ มีโอกาสเป็นเชื้อชาตินี้ 95 เปอร์เซ็นต์ โอกาสจะตาสีนี้ 90 เปอร์เซ็นต์ โอกาสจะผมสีนี้ 50 เปอร์เซ็นต์ โอกาสจะมีกระ 20 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ รวมๆ ก็คือมันสามารถ ‘ถูไถ’ สร้างภาพหน้าคนออกมาได้ (แม้จะไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์) และตำรวจก็เอาภาพนี้ไปใช้ ‘นำร่อง’ เพื่อสืบสวนคดีในกรณีที่มีแค่ DNA ผู้ก่อเหตุ ไม่มีลักษณะหรือรูปพรรณสันฐานอื่นๆ หรือมีน้อยมาก

แม้จะฟังดูล้ำสมัยมากจนทำให้หลายคนอาจตื่นเต้น เพราะมันจะทำให้การจับอาชญากร ‘ง่ายขึ้น’ เยอะ แต่อีกด้านหนึ่ง เทคโนโลยีนี้ทำให้คนหวาดระแวงมากๆ และทำให้ Parabon Nanolabs โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

เรื่องมีอยู่ว่า ในช่วงก่อนโควิด Parabon Nanolabs มีชื่อเสียงจากการใช้ฐานข้อมูล DNA ขนาดใหญ่ตามจับอาชญากรคดีที่ปิดไม่ได้มากมาย ซึ่งคดีดังสุดคือไปจับฆาตกรต่อเนื่องที่รอดกฎหมายมานานอย่าง Golden State Killer โดย ‘วีธีการ’ ของ Parabon Nanolabs ก็แสบมาก เพราะในอเมริกามีบริการทดสอบ DNA หาญาติฟรี ชื่อ GedMATCH และ Parabon Nanolabs ก็ไปใช้ฐานข้อมูลนี้ตามหาอาชญากร

จริงๆ GedMATCH คือการสร้างฐานข้อมูล DNA ที่ใหญ่มาก และสิ่งที่หลายคนไม่รู้ก็คือ ด้วยฐานข้อมูลแบบนี้ ถ้าคุณไปก่ออาชญากรรม แล้วคุณดันมีลูกหลานหรือญาติห่างๆ สักคนไปอัปโหลด DNA เข้าฐานข้อมูล สุดท้าย GedMATCH ก็ร่วมมือกับ Parabon Nanolabs ในการส่งข้อมูลให้ตำรวจว่ามี ‘ญาติอาชญากร’ ในคดีที่ปิดไม่ได้อัปโหลดข้อมูล DNA ขึ้นบนฐานข้อมูลหรือไม่ ทำให้ตำรวจสามารถวางกรอบการสอบสวนได้ง่ายขึ้น และนำไปสู่การ ‘ปิดคดี’ ที่เคยปิดไม่ได้แบบรายสัปดาห์ทีเลยทีเดียว

แต่สุดท้าย ‘ความลุแก่อำนาจ’ นี้เองมันก็ทำให้ซวยกันหมด เนื่องจากตำรวจปิดคดี ‘ทำร้ายร่างกาย’ คดีหนึ่งไม่ได้ ก็เลยยื่นขอให้ทาง GedMATCH และ Parabon Nanolabs ช่วย ซึ่งสุดท้ายก็ปิดคดีได้

แต่มันไม่จบแค่นั้น เพราะคนไปค้นเจอ ‘เงื่อนไขผู้ใช้’ ของทาง GedMATCH ว่าข้อมูลจะถูกใช้ในคดีจำพวกฆาตกรรมและอาชญากรรมทางเพศเท่านั้น พูดง่ายๆ ทางแพลตฟอร์มตกลงว่าจะให้ข้อมูล DNA ผู้ใช้ไปแก้ปัญหาอาชญากรรมแบบหนักๆ เท่านั้น และการเอาข้อมูลนี้ไปใช้ในคดีเบาอย่างแค่ ‘ทำร้ายร่างกาย’ มันละเมิดข้อตกลงที่ให้ไว้กับผู้ใช้

ผลก็คือซวยกันหมด ตั้งแต่ตำรวจ GedMATCH และ Parabon Nanolabs ทำให้ GedMATCH เปลี่ยนเงื่อนไขผู้ใช้ใหม่ให้ผู้ใช้ต้อง ‘อนุญาต’ ชัดๆ อีกรอบให้ใช้ข้อมูลก่อนข้อมูลจะถูกนำไปใช้ได้ (นึกถึง PDPA บ้านเราก็ได้) ซึ่งนี่ก็เรียกได้ว่าเป็นแผนเฉพาะหน้าที่เอาไว้กู้ชื่อเสียงของแพลตฟอร์มท่ามกลางเรื่องฉาว

และแน่นอน คนก็ปฏิเสธกันหมด มันเลยทำให้ Parabon Nanolabs ต้องหยุดการไปไล่หาอาชญากรจากญาติ และกลับมาทำสิ่งที่บริษัทถนัดคือการสเก็ตช์หน้าอาชญากรจาก DNA อันเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของบริษัทที่พัฒนามาเมื่อกว่า 10 ปีก่อนดังที่เล่าให้ฟัง

แต่ความซวยมันก็ยังไม่จบ Parabon Nanolabs ส่งข้อมูลให้ตำรวจตามปกติ แก้ไปได้หลายคดี แต่ถึงที่สุดตำรวจที่รับไปยังไม่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีว่านี่เป็นแค่ ‘ภาพประเมิน’ ว่าอาชญากร ‘น่าจะ’ หน้าตายังไงเท่านั้น ทรงผมโครงหน้าอาจต่างก็ได้ หรือกระทั่งสีตาและเชื้อชาติก็ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์

พอตำรวจไม่เข้าใจตรงนี้และคิดว่าภาพที่ออกมาคือ ‘ภาพสเก็ตช์’ จริงๆ ของอาชญากร แล้วดันปล่อยภาพออกมาในแนว ‘ประกาศจับ’ ก็เป็นเรื่องเลย เพราะบังเอิญภาพอาชญากรเป็น ‘คนดำ’ และตำรวจที่ว่าเป็นตำรวจแคนาดา โดยภาพที่ว่าออกมาวันที่ 11 ตุลาคม 2022 ซึ่งคดีนี้คือคดีการล่วงละเมิดทางเพศที่หาตัวผู้ก่อเหตุไม่ได้ตั้งแต่ปี 2019

แน่นอนว่าโดนยำเละจากทุกฝ่าย ตั้งแต่พวกนักสิทธิมนุษยชน ยันผู้เชี่ยวชาญที่ชี้ให้เห็นว่า ตำรวจจะเอาภาพที่ไม่ได้มีความชัวร์ 100 เปอร์เซ็นต์นี้มาลงเป็น ‘ประกาศจับ’ แบบนี้ไม่ได้ เต็มที่คือใช้ช่วยนำการสืบสวนเท่านั้น

นี่เลยทำให้ชื่อ Parabon Nanolabs โผล่มาอีกรอบ ว่าบริษัทนี้ ‘เอาอีกแล้ว’

ถ้าเราไม่ได้มีอคติกับเทคโนโลยีจนเกินไป เราก็จะพบจริงๆ ว่า AI ที่ทำงานในการคาดเดาหน้าคนจาก DNA มันก็ทำงานได้ดี และถ้าไปถามผู้นิยมเทคโนโลยี เขาก็จะบอกว่า จริงๆ การประเมินแบบนี้ถึงจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การสืบสวนของมนุษย์มันก็ไม่ได้มั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน ดังนั้นการมั่นใจได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ มันก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะปฏิเสธเทคโนโลยีแบบนี้ในการบังคับใช้กฎหมาย

นี่ก็อาจนำไปสู่คำถามตามมาเป็นพรวน เพราะนั่นจะทำให้เรื่องของการหาตัวอาชญากรเป็นเรื่องของ ‘การคาดเดา’ มากขึ้น และคำถามคือ ถึงที่สุดแล้ว ถ้าผลการ ‘ทำนาย’ มันบอกว่าคุณคืออาชญากร แต่มันมั่นใจ 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วมันจะยังไงต่อ? หลักการ ‘เป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่ามีความผิด’ มันจะไปอยู่ตรงไหนต่อหน้าเทคโนโลยีเช่นนี้?

เป็นคำตอบที่เราคงต้องตอบให้ได้ในอนาคต ไม่ว่าเราจะอยากตอบหรือไม่ก็ตาม

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/brandthink.me/photos/a.1767934240198787/3479665879025606/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210