AI สแกนเมล็ดข้าว อีกก้าวของสตาร์ทอัพไทย

Loading

Easy Rice ระบบตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวเปลือก ด้วย AI ผลงานวัตกรรมจากฝีมือคนไทย ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสแกนข้าวเปลือกด้วยความละเอียดสูง ผสมกับ Deep learning ทำให้ได้ระบบตรวจสอบข้าวสายพันธุ์ส่งออก อย่างหอมมะลิ ข้าวหอมปทุม และข้าว กข. รวมถึงพันธุ์ข้าวอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาได้อย่างแม่นยำถึง 95%

เบื้องหลังของนวัตกรรมจาก AI อีกหนึ่งความสำเร็จ ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่นอกจากจะมาแรงแล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

ภูวินทร์ คงสวัสดิ์ CEO Easy Rice Digital Technology ยอมรับว่า โจทย์ในอุตสาหกรรมข้าวมีความยากและซับซ้อนในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในกระบวนการตีราคารับซื้อ ที่ยังต้องอาศัยแรงงานคนในการตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้

“การตรวจสอบโดยคน มันคือปัญหาคอขวดของอุตสาหกรรม ที่ต้องการพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ที่สูง ต้นทุนถูกลง เข้ามาช่วยแข่งขันกับเวียดนาม อินเดีย ขณะที่การใช้คนตรวจสอบในแบบเดิมมันไม่ตอบโจทย์” ภูวินทร์กล่าวและบอกว่า ลักษณะทางกายภาพของพันธุ์ข้าวที่มีความคล้ายกันมาก จำเป็นต้องใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญในการดู ซึ่งไม่สามารถตัดสินใจได้จากรูปทรงที่แน่นอน ทำให้ต้องมองหาโซลูชั่นในหลายมิติที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทั้งการประมวลผลภาพ และใช้ Deep learning ในการตรวจสอบ

ก้าวแรกต้องเทรน AI

สิ่งสำคัญคือแหล่งข้อมูลที่เอามาใช้ประมวลผล ต้องได้ข้อมูลที่ถูกต้อง เหมาะสมสำหรับสร้างโมเดลให้ AI เรียนรู้ และพิสูจน์ว่าโมเดลที่สร้างขึ้นมานั้นสามารถตรวจสอบได้อย่างถูกต้อง เพราะถ้าเอาข้อมูลที่ผิดมาสอนโมเดล มันก็จะเป็นโมเดลที่ให้ข้อมูลผิด หรือตรวจสอบแบบผิดๆ

ภูวินทร์ ยอมรับว่า ความท้าทายของการพัฒนาเทคโนโลยี AI ในประเทศไทย คือต้องทำให้ต้นทุนในการประมวลผลถูกลง และทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด เพราะอุตสาหกรรมเกษตรไม่ได้มีกำลังซื้อสูงมากนัก ในมุมของสตาร์ทอัพ สิ่งที่ Easy Rice ลงมือทำ คือส่งต่อเทคโนโลยีให้กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้ออย่างโรงสี กลุ่มผู้ส่งออกข้าวเป็นหลัก เพื่อให้บริษัทอยู่รอดและมีทุนเพียงพอไปพัฒนาเทคโนโลยีให้มีราคาถูกลงพอที่จะสนับสนุนชาวนาได้

“การจะทำให้คนยอมซื้อสินค้ามีหลายมิติ อย่างแรกเทคโนโลยีต้องตอบโจทย์ ถ้าบอกว่า AI ของเราดี และแม่นยำ คนคงจะไม่เชื่อ ทำให้ตัดสินใจหาคนมาพิสูจน์ว่าเทคโนโลยีของเรานั้นดีจริง” เขากล่าว และบอกว่า ด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้อุตสาหกรรมข้าวยอมจ่ายเงินซื้อเทคโนโลยีมากกว่า 230 โรงงานในระยะเวลาเพียง 1 ปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมาก โดยมองว่าเทคโนโลยี AI เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้ามาช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้ ในขณะที่การใช้คนหรือใช้เคมีตรวจสอบยังไม่ตอบโจทย์

แต้มต่อในต่างประเทศ

หลังจากที่ได้ส่งต่อเทคโนโลยีให้กับอุตสาหกรรมข้าวไทย โดยได้ส่วนแบ่งการตลาดไปราว 20% ก้าวต่อมาของ Easy Rice คือต้องการสร้างความมั่นใจว่าเทคโนโลยีที่ทำอยู่นั้นดีพอในสายตาชาวโลกหรือไม่

“ความได้เปรียบที่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันยากมากๆ แต่เราสามารถขาย AI ได้ นั่นพิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยีของเราดีพอ การเข้าไปแข่งขันในต่างประเทศต้องการเพียงดูว่าสินค้าที่เราทำเมื่อเปรียบเทียบกับต่างชาตินั้นอยู่ในตำแหน่งไหน หรือด้อยกว่าอย่างไรบ้าง” ภูวินทร์ กล่าว

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ภูวินทร์ ตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันด้านเทคโนโลยีในเวที ICT AWARDS ระดับเอเชียแปซิฟิค ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ที่เข้าร่วมแข่งขันเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมเกษตรและสตาร์ทอัพ และได้รางวัลชนะเลิศกลับมา

ความยากและท้าทาย ทำให้ Easy Rice เข้าตากรรมการของหลายบริษัท อย่าง CP เองก็ต้องการเอาเทคโนโลยี AI ไปใช้ตรวจสอบเมล็ดพันธุ์อื่นๆ บ้าง อย่าง ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง อาหารทะเล หรือแม้แต่ทุเรียน ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

“AI ในไทยยังมีโจทย์อีกมาก เพราะข้อจำกัดของเทคโนโลยีจากต่างประเทศคือไม่สามารถเอามาใช้กับไทยได้ 100% ทำให้มีช่องว่างเพียงพอในการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรม” เขากล่าว และทิ้งท้ายว่า บริษัทยังมองหาโอกาสขยับขยายเทคโนโลยีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม ที่ตอนนี้เริ่มทดลองใช้ Easy Rice แล้วกว่า 30 ราย รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายข้าวเพิ่มเติมด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.techhub.in.th/easy-rice-thai-ai-startup/


Smart City Thailand : 02 054 7755
Contact us : thunya.b@gmail.com | thunya@securitysystems.in.th

© smartcitythailand 11 โกสุมรวมใจ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร 10210